นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : โน้ส-อุดมกับพี่ตู่ = ป๊อปคัลเจอร์กับการเมืองไทย

คลิปการคุยโทรศัพท์ระหว่างคุณ “โน้ส-อุดม แต้พานิช” กับ “พี่ตู่” กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์เพียงชั่วข้ามคืน

ผมคลิกเข้าไปดูล่าสุดในเพจของคุณโน้ตในวันที่เขียนต้นฉบับนี้ ผลปรากฏว่ามียอดไลก์กว่า 120,000 ไลก์ ยอดแชร์เกือบ 50,000 แชร์ และยอดวิวมากกว่า 2.7 ล้านวิว!

กระแสของคลิปนี้โด่งดังถึงขั้นที่คุณโน้สต้องทำคลิปที่สองตามมาติดๆ เพื่อเป็นการรักษาโมเมนตั้มเอาไว้ โดยจุดประสงค์หลักก็เพื่อโปรโมตงานวาไรตี้โชว์ “หมู่” ที่จะจัดขึ้นช่วงต้นเดือนกันยายน

หลายคนดูคลิปนี้แล้วอาจจะรู้สึกขำขันกับการล้อเลียนของคุณโน้ส หรือฮาท้องแข็งกับการนำเสียงดุๆ ของ “พี่ตู่” มาตัดต่อในบริบทที่ต่างออกไป

แต่สำหรับผม นี่ไม่ใช่แค่คลิปขำขันล้อเลียนธรรมดา แต่คือการปะทะกันของดารานำในโลก 2 ฝั่งที่น่าสนใจยิ่ง

ฝั่งแรก คือดาราตลกชื่อดังแดนสยาม ส่วนอีกฝั่งคือนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

ฝั่งแรก คือผู้นำในโลกวัฒนธรรมบันเทิง ส่วนอีกฝั่งคือผู้นำอันดับหนึ่งในโลกการเมือง

ชี้ให้ชัดๆ นี่คือการปะทะกันของโลก 2 ฝั่งที่ดูไม่น่าจะเข้ากันอย่างสิ้นเชิงอย่าง “ป๊อปคัลเจอร์” และ “การเมือง”

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เห็นบ่อยนักในเมืองไทย

คำถามคือทำไม?

ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว ผมจะขอพาคุณผู้อ่านไปดูว่าในต่างประเทศนั้นเขามองว่า “ป๊อปคัลเจอร์” กับ “การเมือง” มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

ในแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศเริ่มมีการเรียนการสอน Popular Culture and World Politics (PCWP) ในสหรัฐ ช่วงปี 1990s

โดยก่อนหน้านั้นป๊อปคัลเจอร์มักถูกเพิกเฉยในการศึกษามาก เพราะถูกมองว่าเป็นเพียงวัฒนธรรมที่ไร้สาระ บางคนถึงกับใช้คำว่า “low politics”

Jutta Weldes และ Christina Rowley อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย Bristol ผู้ริเริ่มการเรียนการสอน PCWP เขียนไว้ในบทความ So, How Does Popular Culture Relate to World Politics? ว่า

“ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและป๊อปคัลเจอร์ไม่ได้มีแค่ว่า การเมือง “ทำอะไร” กับป๊อปคัลเจอร์ หรือป๊อปคัลเจอร์ “ทำอะไร” กับการเมืองเท่านั้น”

พวกเขาจึงลองยกตัวอย่างความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนออกเป็น 6 แบบ เช่น

State Uses of Popular Culture คือการที่รัฐใช้ป๊อปคัลเจอร์อย่างตรงไปตรงมา ทั้งในตอนที่มีสงครามหรือไม่มีสงคราม เช่น การใช้กีฬาปิงปองเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ ในช่วงที่ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกายังดำรงตำแหน่ง จนถูกเรียกว่า “การทูตปิงปอง”

หรือแคมเปญ “Cool Britannia” ของนายกรัฐมนตรี Tony Blair ที่ใช้ในการโปรโมตซอฟต์เพาเวอร์ของสหราชอาณาจักร

The Global Political Economy and/of Popular Culture คือความสัมพันธ์ของการเมืองโลกที่สะท้อนผ่านวัตถุต่างๆ เช่น รองเท้าไนกี้ที่เป็นแบรนด์จากยักษ์ใหญ่สหรัฐ แต่ผลิตโดยแรงงานจากประเทศโลกที่สาม

Global flows are cultural and political คือป๊อปคัลเจอร์มีผลทำให้เกิดวัฒนธรรมและความเชื่อทางการเมือง เช่น รายการโทรทัศน์หรือหนังฮอลลีวู้ดของสหรัฐ ที่ปลูกฝังค่านิยมทางการเมืองแบบสหรัฐ

Jutta Weldes และ Christina Rowley สรุปทิ้งท้ายว่า การใช้ปรากฏการณ์ในทุกๆ วันอย่างป๊อปคัลเจอร์เป็นเครื่องมือในการศึกษาการเมือง จะช่วยให้เราเข้าใจการเมืองโลกในอีกมิติที่ไม่เคยมองเห็น

ในความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของป๊อปคัลเจอร์และการเมือง ผมคิดว่ามีความสัมพันธ์ 2 แบบที่เราจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด

หนึ่งคือ นักการเมืองหรือรัฐใช้ป๊อปคัลเจอร์เป็นเครื่องมือ

และสองคือ ผู้ผลิตป๊อปคัลเจอร์ใช้มันในการแสดงความคิดเห็น สนับสนุน หรือวิพากษ์วิจารณ์การเมือง

สำหรับความสัมพันธ์ในแบบที่หนึ่งนั้น Wallstreet Journal ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า

ตั้งแต่ต้นปี 2016 ที่ผ่านมา ป๊อปคัลเจอร์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในแวดวงการเมืองสหรัฐ โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีผู้ลงสมัครหลายต่อหลายคนไปปรากฏตัวตามสื่อต่างๆ ไล่ตั้งแต่รายการทอล์กโชว์ทางโทรทัศน์ รายการวิทยุ หน้าปกนิตยสารแฟชั่น รวมไปถึงการใช้โซเชียลมีเดียเล่นกับกระแสสังคม

ผู้สมัครเหล่านี้ต่างใช้ป๊อปคัลเจอร์เป็นเครื่องมือในการเรียกคะแนน

Robert Thompson ศาสตราจารย์ด้านป๊อปคัลเจอร์จากมหาวิทยาลัย Syracuse ให้สัมภาษณ์กับ Wallstreet Journal ว่า

“ป๊อปคัลเจอร์ช่วยให้คนทั่วไปจดจำพวกเขาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสื่อสารว่า เราเป็นพวกเดียวกับคุณ”

Tevi Troy ผู้เขียนหนังสือ What Jefferson Read, Ike Watched, and Obama Tweeted : 200 Years of Popular Culture in the White House. หนังสือที่อธิบายความสำคัญของป๊อปคัลเจอร์ที่มีต่อผู้นำสหรัฐ บอกถึงเหตุผลที่ “นักการเมืองควรใส่ใจป๊อปคัลเจอร์” ว่า

“ป๊อปคัลเจอร์คือหนึ่งในตัวเชื่อมชาวอเมริกันไว้ด้วยกัน ไม่ว่าคุณจะสนับสนุนเดโมแครตหรือรีพับลิกัน เป็นคนเมืองหรือชนบท ทุกคนล้วนแล้วแต่สนใจป๊อปคัลเจอร์ นักการเมืองที่ฉลาดในการใช้ป๊อปคัลเจอร์จึงสามารถเพิ่มคะแนนเสียงของตัวเองได้”

ในแวดวงการเมืองสหรัฐ จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นนักการเมืองใช้ป๊อปคัลเจอร์อย่างสนุกสนาน เช่น บารัค โอบามา ไปแร็พในรายการ The Tonight Show Starring Jimmy Fallon

มิเชล โอบามา ร้องคาราโอเกะในรายการ Carpool Karaoke ของนาย James Corden

Donald Trump เต้นเพลง Hot Line Bling ของ Drake

Hillary Clinton เซลฟี่กับ Kim Kardashian

ส่วนความสัมพันธ์ในแบบที่สองไม่ต้องพูดถึง เพราะผู้ผลิตป๊อปคัลเจอร์ในสหรัฐ ใช้มันในการวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม หยอกล้อการเมืองเป็นเรื่องปกติ

ยกตัวอย่างเช่น หนังการเมืองต่างๆ เช่น Citizenfour สารคดีติดตามชีวิตของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน, หนังของ ไมเคิล มัวร์ ที่มักจะจิกกัดการเมืองสหรัฐอยู่เป็นประจำ

หรือนักแสดงตลกชื่อดังอย่าง John Oliver ที่ใช้อารมณ์ขันมาเสียดสีการเมืองในรายการ Last Week Tonight with John Oliver

สื่อกระแสหลักมองว่านี่คือ “อิสระและเสรีภาพ” ในการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง

เมื่อหันมามองที่บ้านเรา จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของ “ป๊อปคัลเจอร์” กับ “การเมืองไทย” มักจะมีให้เห็นเพียงแค่แบบแรกแบบเดียว

ตั้งแต่อดีต เราเคยเห็นรัฐไทยและนักการเมืองไทยใช้ป๊อปคัลเจอร์เป็นเครื่องมือมากมาย เช่น การใช้สื่อโฆษณาในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือรายการเจาะใจในอดีตที่มักจะสัมภาษณ์นักการเมืองชื่อดังแทบทั้งนั้น (อภิสิทธิ์-บรรหาร-ชวลิต) ไล่มาจนถึงยุคของชูวิทย์และชัชชาติที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของป๊อปคัลเจอร์บนโลกออนไลน์ จนมาถึงยุค “พี่ตู่” ที่แทบจะยึดครองสื่อไว้ทั้งหมด

คำถามก็คือ แล้วทำไมเราจึงไม่ค่อยเห็นความสัมพันธ์ที่สองนี้ในบ้านเรา?

ทำไมเราไม่ค่อยเห็นศิลปะ หนัง หนังสือ รายการทีวี หรือป๊อปคัลเจอร์ที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมาเหมือนกับในสหรัฐ?

ผมไม่ได้บอกว่าเราไม่มีเลย เพราะที่เคยเห็นอยู่และได้รับความนิยมอยู่บ้างก็เช่น รายการเจาะข่าวตื้นของ จอห์น วิญญู หรือเพจล้อการเมืองต่างๆ เช่น ไข่แมว

แต่ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสื่อทางเลือก ไม่ค่อยมีสื่อกระแสหลักสักเท่าไร

ทำไมใครๆ ก็พากันเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่ขอพูดเรื่องการเมืองไทย

ผมคิดว่า คำตอบของคำถามนี้ หลายคนคงพอจะทราบอยู่แล้ว

คําถามที่สำคัญไปกว่านั้นคือ หากผู้ผลิตป๊อปคัลเจอร์ในเมืองไทยไม่กล้าและไม่สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?

โดยธรรมชาติของป๊อปคัลเจอร์ มันคือการเสียดเย้ย อารมณ์ขัน ความเป็นมนุษย์ ความสนุกสนาน และความบันเทิง

ป๊อปคัลเจอร์คือภาษาสากลของโลก ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นกันเอง

ทุกเรื่องในโลกวงการที่ดูห่างไกล เข้าถึงยาก น่ากลัว ไม่น่าคบหา หากใช้ป๊อปคัลเจอร์เข้าไปจับ จะทำให้เรื่องราวเหล่านั้นเชื่อมโยงและใกล้ตัวคนหมู่มากได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ยกตัวอย่างเช่น มีมที่ล้อเลียน คิม จอง อึน หรือมีมที่ล้อเลียน โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ทำให้เราไม่กลัวและไม่ได้รู้สึกว่าบุคคลเหล่านี้คือผู้มีอำนาจ ห้ามแตะต้องใดๆ ทั้งสิ้น

ในแง่มุมหนึ่ง ป๊อปคัลเจอร์จึงมีอาวุธสำคัญคือ “อารมณ์ขัน” ที่ทำให้เราหัวเราะกับเรื่องเครียดๆ

แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือ ป๊อปคัลเจอร์ช่วย “ดึง” เรื่องที่ปกติแล้วเราไม่กล้าแตะต้องให้อยู่ในท่าทีที่ผ่อนคลายและเป็นมิตรมากขึ้น

ที่สำคัญคือ คนที่ถูกล้อเลียนด้วยป๊อปคัลเจอร์ก็จะไม่ได้ซีเรียสเหมือนกับเวลาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากวงการอื่นๆ เพราะพวกเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องสนุกสนาน ไม่จริงจัง

ฉะนั้น หากผู้ผลิตป๊อปคัลเจอร์ในเมืองไทยไม่สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากคนทั่วไปไม่สามารถ “ยั่วล้อ” หรือ “แตะต้อง” การเมืองไทยได้โดยปราศจากความกลัว หากการเมืองไทยกับป๊อปคัลเจอร์ไม่ได้สัมพันธ์กันอย่างที่ควรจะเป็น สถาบันการเมืองไทยก็จะอยู่ห่างไกลจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นคือสิ่งที่อันตรายและน่ากลัวที่สุด เพราะไม่ควรมีเรื่องใดที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่สำคัญหรือนักการเมืองที่มีอำนาจ ยิ่งต้องมีคนมาถ่วงดุล

ผมคิดว่า เหตุผลที่คลิปของคุณโน้ส-อุดม กลายเป็นกระแส มีคนแชร์ล้นหลาม นอกจากจะเป็นเพราะความชาญฉลาดในการเล่นมุขและความตลกขบขันแล้ว

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เราไม่ค่อยเห็นคนที่กล้า “ล้อเล่น” กับนายกฯ แบบซึ่งๆ หน้าสักเท่าไร

ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้เห็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้จากผู้ผลิตป๊อปคัลเจอร์มากนัก

หลายคนอาจจะหัวเราะกับคลิปที่คุณโน้ส-อุดม ล้อเลียนพี่ตู่ แต่สำหรับผม หากมองในกรอบของความสัมพันธ์ระหว่างป๊อปคัลเจอร์และการเมืองไทยแล้ว…

นี่คือเรื่องตลกที่หัวเราะไม่ค่อยออกเหมือนกัน