เศรษฐกิจ / ล้อมคอกตื่นเหตุถล่มโรงกลั่นโลก เปิดทางรัฐดึงเงิน …ตรึงค่าน้ำมันปลอบขวัญ ปชช.

เศรษฐกิจ

 

ล้อมคอกตื่นเหตุถล่มโรงกลั่นโลก

เปิดทางรัฐดึงเงิน

…ตรึงค่าน้ำมันปลอบขวัญ ปชช.

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สร้างความหวั่นวิตกให้กับทั่วโลก เมื่อโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 2 แห่งของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีทางอากาศ (จากโดรน)

ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกพรวดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน ดีดตัวสูงขึ้นมากกว่า 10% หลังตลาดซื้อขายล่วงหน้าเปิดทำการ

แบ่งเป็น ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าพุ่งสูงขึ้นเกือบ 12% หรือเพิ่มขึ้น 7.06 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากราคา สู่ระดับราคา 67.28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกหวั่นวิตกต่อปัญหาการขาดแคลนอุปทานน้ำมันดิบ

ขณะนั้นไม่วิตกคงไม่ได้ ขึ้นชื่อประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก การสูญเสียกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวันจึงเป็นเรื่องใหญ่ จากกำลังการผลิตทั้งสิ้น 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 58.2% ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดของซาอุดีอาระเบีย และคิดเป็น 5.7% ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก ซึ่งเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีกำลังผลิตอยู่ที่ 99.24 ล้านบาร์เรล

สถานการณ์ดังกล่าว ย่อมส่งผลทางจิตวิทยาได้สร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคชาวไทย ทั้งกลุ่มผู้ใช้รถ และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่กังวลว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะขยับตัวสูงขึ้น

 

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เคยกำกับดูแลปัญหาปากท้องเมื่อครั้งอยู่ในรัฐบาลประยุทธ์ 1 รู้ดีว่าน้ำมันขึ้นจะส่งผลต่อโครงสร้างต้นทุนสินค้า และเกรงว่าจะกระเทือนกำลังซื้อที่ลดลงจะฝืดลงไปอีก

จึงไม่รอช้ารีบเปิดแถลงข่าวด่วนโดยระบุเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและคลายความกังวล

“หลังเหตุการณ์ซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีโรงกลั่นน้ำมัน กระทรวงพลังงานได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างความความมั่นใจให้กับประชาชนไม่ให้เกิดความวิตกกังวล กระทรวงได้เตรียมการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง (ซัพพลาย) ให้เพียงพอต่อสถานการณ์ โดยประเมินจากตัวเลขที่ไทยมีการนำเข้าจากประเทศซาอุดีอาระเบียประมาณ 170,000 บาเรลล์ต่อวัน หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ประเทศซาอุดีอาระเบียไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์และส่งออกได้ตามปกติในเร็ววัน กระทรวงพลังงานจะใช้วิธีกระจายการนำเข้าจากแหล่งอื่นได้ อาทิ แหล่งน้ำมันจากชั้นหินดินดานของสหรัฐ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกา และโอมาน”

ขณะเดียวกัน ยังให้ข้อมูลเพื่อให้อุ่นใจได้ว่า ปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 3,366 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,193 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,848 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้มากกว่า 50 วัน

ส่วนปริมาณสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนมีประมาณ 131 ล้านกิโลกรัม สำรองได้มากกว่า 20 วัน แต่หากรวมการใช้แอลพีจีของภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งแล้วจะทำให้จำนวนวันสำรองที่ใช้แอลพีจีได้ประมาณ 12 วัน

ผลจากเหตุการณ์ความรุนแรงจากซีกโลกตะวันออกกลาง ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัว ภายใต้สมมุติฐานของกระทรวงพลังงานจึงประเมินไว้ว่า ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นทุก 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะส่งผลให้ราคาน้ำมันของไทยปรับขึ้นประมาณ 20 สตางค์

ดังนั้น เกิดเหตุถล่มแรกๆ ทิศทางราคาน้ำมันปรับขึ้นไปทันที 12% คิดเป็นราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นประมาณ 6-7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเปิดตลาดทำงานหลังเหตุถล่มราคาทะลุระดับ 71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

แต่ระหว่างวันราคากลับเคลื่อนไหวปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 67 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดเป็นเงินกว่า 1 บาทต่อลิตร แต่เพราะไทยเจอปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่า กดดัน สถานการณ์จึงไม่รุนแรงมากนัก

แต่ถือว่าผันผวน

 

ช่วงเกาะติดสถานการณ์ตลอด 48 ชั่วโมงแรก ทำให้สนธิรัตน์ตัดสินใจเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันถัดมา เพื่อประเมินสถานการณ์และใช้เครื่องมือหลักคือเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่กว่า 39,402 ล้านบาท เข้าประคองสถานการณ์

“ที่ประชุมพบว่าราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 65.25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จึงมีมติเห็นชอบปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มน้ำมันเบนซิน 1.00 บาทต่อลิตร และกลุ่มดีเซลลง 0.60 บาทต่อลิตร มีผลวันที่ 18 กันยายน เพื่อทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะหากไม่ดำเนินการ บริษัทผู้ค้าน้ำมันที่แบกต้นทุนอยู่ก็จะประกาศปรับขึ้นราคาวันที่ 18 กันยายนเช่นกัน” สนธิรัตน์ระบุ

มติดังกล่าวจะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 813 ล้านบาทต่อเดือน หรือมีรายรับเหลือประมาณ 400 ล้านบาท จากรายรับเดิม 1,200 ล้านบาท ประเมินการอุดหนุนจนถึงสิ้นปี หรือตลอดไตรมาส 4 จึงคาดว่าจะใช้เงินอุดหนุน 2,400-2,500 ล้านบาท จากฐานะกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 39,402 ล้านบาท

ในมุมมองของ กบง.ยังประเมิน ว่า แม้ประเทศซาอุฯ มีปัญหา แต่มีข้อเบาใจคือ สหรัฐอเมริกาพร้อมจะปล่อยปริมาณน้ำมันสำรองออกสู่ตลาด เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก หากสถานการณ์คลี่คลาย กองทุนน้ำมันฯ จะมีค่าใช้จ่ายน้อยลงเช่นกัน

มอนิเตอร์สถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดจนถึงปลายสัปดาห์ พบว่า ตลาดโลกคลายกังวลหลังรัฐบาลซาอุดีอาระเบียสามารถกลับมาผลิตน้ำมันได้ถึง 50% แล้ว ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลกปรับลดลงเฉลี่ย 5% ข่าวดีแบบนี้

สนธิรัตน์ไม่รอช้า ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ที่คลี่คลายแล้ว ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในไทยลดความตึงเครียดลงด้วย คาดว่าจะกลับสู่สถานการณ์ปกติเร็วๆ นี้ พร้อมยืนยันว่าหากเหตุการณ์ผันผวนอีกครั้ง รัฐบาลยังมีเครื่องมือจากกองทุนน้ำมัน ตามมติ กบง.ช่วงต้นสัปดาห์

ขณะที่หุ้นพลังงานช่วงแรกพุ่งแรงจากเหตุการณ์ในประเทศซาอุดีอาระเบีย เพราะบริษัทพลังงานทั่วโลกต่างคาดหวังว่าราคาน้ำมันที่สูงจะดันผลประกอบการขยับตาม

แต่ล่าสุดพบว่าไม่ได้สดใสนัก หลังประเทศซาอุดีอาระเบียประกาศเตรียมกลับมาผลิตน้ำมันได้ตามปกติหลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ สร้างแรงกดดันให้ราคาน้ำมันดิบโลกลงแรงกว่า 6% และมีแนวโน้มราคาน้ำมันลงต่อเนื่อง จากแนวโน้มผลักดันเทคโนโลยีใหม่แทนเชื้อเพลิง ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

หรือใช้น้ำมันพลังงานทดแทน เป็นต้น

 

นี่คืออีกตัวอย่างของการดับไฟที่เหตุก่อนลุกลาม ที่หลายปัญหาตอนนี้ควรเอาอย่าง!!

เพราะถึงตอนนี้ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าเหตุการณ์ “ศึกการเมืองระหว่างประเทศ” จะพลิกกลับมารุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ แต่ท่าที “ล้อมคอก” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่บริหารความเสี่ยง ลดความแตกตื่นของประชาชนได้

ถือว่าถูกทาง ได้คะแนนใจมากโข

  แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะเรื่องพลังงานผันผวนได้ 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว