วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /ถึงเวลาเปลี่ยนบรรณาธิการอีกครั้ง

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์    

ถึงเวลาเปลี่ยนบรรณาธิการอีกครั้ง

เรียกว่านโยบายหรือแนวความคิดแล้วแต่ใครจะนิยามถึงการเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดร์ เมื่อเริ่มเข้ามาทำงานหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ครั้งตั้งพิฆเณศการพิมพ์ ประการหนึ่งของขรรค์ชัย บุนปาน คือการปรับเปลี่ยนผู้ปฏิบัติหน้าที่ระดับหัวหน้าหรือผู้บริหาร

เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อถึงเวลาหนึ่งจะเป็นสองปี สามปี สี่หรือห้าปี ตำแหน่งหัวหน้าข่าวแต่ละโต๊ะข่าวหรือแม้แต่ตำแหน่งบรรณาธิการ ตำแหน่งผู้จัดการ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

เช่น เมื่อหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2521 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2521 มีบรรณาธิการ 2 คน คือ นายแสงไทย เค้าภูไทย เป็นบรรณาธิการ เจ้าของ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ในนามหนังสือพิมพ์เข็มทิศ-มติชน ต่อมา วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2521 ชื่อหนังสือพิมพ์มติชนมีนางสาวสุภาณี สุวณิชชาติ เป็นบรรณาธิการ เจ้าของ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และนายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รักษาการบรรณาธิการมาตั้งแต่เริ่มต้น ฉบับแรก 9 มกราคม 2521

ต่อมาเพื่อให้ “มติชน” เป็นไปถูกต้องตามกฎหมายการพิมพ์ จึงปรับเปลี่ยนให้นายขรรค์ชัย บุนปาน เป็นเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณา

 

หลังจากปรับเปลี่ยนอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว สายวันหนึ่งประมาณกลางเดือนเมษายน 2524 ขรรค์ชัยเรียกประชุมกองบรรณาธิการ มีหัวหน้าข่าว เป็นต้น แจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ของบริษัท และกิจการหนังสือพิมพ์ทั้งมติชนรายวัน และมติชนสุดสัปดาห์ กับประชาชาติธุรกิจ เป็นไปด้วยดี มีจำนวนจำหน่ายและการโฆษณาทำรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้น

ประกอบกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ระดับหัวหน้าข่าวเศรษฐกิจมติชนรายวันต้องไปปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าข่าวและบรรณาธิการข่าวประชาชาติธุรกิจ ทั้งผู้ที่เคยทำงานกับประชาชาติรายวันระดับหัวหน้าข่าวมาปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าข่าวมติชนรายวัน เช่น พงษ์ศักดิ์ บุญชื่น และอีกหลายคน

ขณะเดียวกัน ตัวคุณขรรค์ชัยเองบอกว่าจะได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการให้เต็มกำลัง ตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และมติชนสุดสัปดาห์ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งเนื้อหาสาระ และด้านกฎหมายเมื่อมีผู้แจ้งความฟ้องร้อง จึงเห็นสมควรเปลี่ยนแปลงไปด้วย

หลังจากบอกกล่าวถึงเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ขรรค์ชัยจึงเอ่ยชื่อ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ให้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับ โดยให้ “พี่เถียร” เสถียร จันทิมาธร ทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์อีกตำแหน่งหนึ่ง นอกจากเป็นบรรณาธิการบทความดูแลด้านเนื้อหาสาระและร่วมประชุมข่าวรายวัน กับบทบรรณาธิการ

เสร็จการประชุมต่างคนต่างแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้น เพราะการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ของมติชนเป็นไปตามปกติ เหมือนการโยกย้ายแต่งตั้งครั้งอื่นแต่ละครั้ง

กว่าจะเสร็จสิ้นเปลี่ยนชื่อบรรณาธิการมติชนรายวัน จึงเริ่มเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2524 และนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำสัปดาห์วันอาทิตย์ที่ 24 ถึงวันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2524

 

ไม่มีการบอกแจ้งแถลงข่าวการที่ต้องปรับเปลี่ยนบรรณาธิการกับผู้อ่านแต่อย่างไร การปฏิบัติหน้าที่ นำเสนอข่าว ยังคงเป็นไปตามปกติที่ปฏิบัติมาตลอด ทั้งก่อนหน้านี้มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีจาก “เปรม 1 เป็นเปรม 2” มีการทำรัฐประหารก่อนหน้านั้นอีกครั้งแต่ไม่สำเร็จ

การปฏิวัติเกิดขึ้นเมื่อเช้ามืดวันที่ 1 เมษายน 2524 เวลา 10.00 น. มีคำสั่งฉบับที่ 6 เชิญเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทุกฉบับไปพบหัวหน้าคณะปฏิวัติที่กองบัญชาการคณะปฏิวัติ

ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จไปประทับที่จังหวัดนครราชสีมา ผู้ตามเสด็จนอกจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีแล้ว พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ตามเสด็จด้วย

เหตุการณ์ระหว่างนั้น หนังสือพิมพ์ทุกฉบับปรับเปลี่ยนข่าวลงเป็น 2 กรอบ คือกรอบกรุงเทพฯ ลงข่าวคณะปฏิวัติเป็นหลัก กรอบต่างจังหวัดเป็นข่าวรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ส่วนใหญ่ กระทั่งเหตุการณ์ล่วงเลยอีก 2 วันต่อมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งยึดเมืองโคราชเป็นฐาน สามารถยุติคณะปฏิวัติได้ คณะผู้ปฏิวัติบางคนเดินทางหนีออกนอกประเทศเมื่อเช้ากับบ่ายวันที่ 2 เมษายน 2524

การปฏิวัติครั้งนี้ไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏ เรียกว่า “การปฏิวัติเมษาฮาวาย”

 

มติชนฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2524 กรอบต่างจังหวัด พาดหัวข่าว “ประยุทธแทนสัณห์ / รอขึ้นแท่น ผบ.ทบ.” ระหว่างนั้น ข่าวการเปลี่ยนแปลงทางทหารและทางการเมืองยังคงเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ด้วยเหตุจะมีการเลือกตั้งซ่อมที่ร้อยเอ็ด ประการหนึ่ง และเป็นการลงสมัครเลือกตั้งซ่อมครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ระหว่าง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หัวหน้าพรรค กับ พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา พรรคกิจสังคม มีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค

การเลือกตั้งครั้งนี้มีการหาเสียงสนุกสนานและดุเดือด ระหว่างการเลือกตั้งมีโรคชนิดหนึ่งเกิดขึ้น เรียกว่า “โรคร้อยเอ็ด” ใครจำได้บ้าง

นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ที่เคยประกาศไปว่า ศิวะ รณชิต ส่งนวนิยายเรื่อง ฝากไว้ในแผ่นดิน ได้จังหวะลงตีพิมพ์ตั้งแต่ฉบับวันอาทิตย์ที่ 1 – วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2524 เริ่มเรื่องว่า

เสียงปืนใหญ่และปืนกลหนักสงบลงตามแสงตะวัน คงมีแต่เสียงปืนเล็กยาวประปรายอยู่บ้าง เหมือนแสงอัสดงที่ยังอ้อยอิ่งอยู่ตามขอบฟ้า บอกสัญญาณให้รู้ว่า อีกไม่ช้า รัตติกาลจะเข้ามาแทนที่พร้อมกับสิ่งที่กำลังเป็นความหวังของทุกชีวิตในอาณาบริเวณนั้น คือ ความสงบเงียบ…

เขาหมอบกระแต ชะเง้อคอขึ้นมาจากแอ่งดินแห้งผสมโคลน บางส่วนปกคลุมไปด้วยหญ้าและไม้ ล้มลุกค่อนข้างหนา มองดูตะวันตกดิน แล้วเขาก็รู้สึกเองคนเดียวว่า แสงสุดท้ายของวันนี้ เป็นสีเลือด

เช่นเดียวกับคาวของมัน ซึ่งคละคลุ้งตั้งแต่ “หินลับ” จนมาถึง “ปากช่อง”

(อีกสามสี่ย่อหน้าต่อมา) เขานึกทบทวนเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาไม่เกิน 2 ชั่วโมง แล้วใจหาย เสียง “ท่านเจ้าคุณฯ” รองแม่ทัพ ตะโกนสั่งก้องอยู่ในหู…

“หนีไป ไม่ต้องห่วงฉัน…”

เพียงเท่านี้ ท่านผู้อ่านคงพอจะทราบแล้วว่า “ฝากไว้ในแผ่นดิน” คือเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไหร่