บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ : “ไกด์” ปัจจัยบุคคลที่ต้องพัฒนา เมื่อรักจะรับทัวร์ผู้พิการตลาดโลก

รัฐบาลใหม่ครบเครื่องเรื่องความพร้อมบริหารประเทศ เลือกนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ “โกเกี๊ยะ” พ่อค้าน้ำมันภาคใต้ พรรคภูมิใจไทย นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา

ให้น่าสังเกต…นายพิพัฒน์เป็นนักธุรกิจไม่เคยบริหารงานตลาดท่องเที่ยวมาก่อน

แต่…รัฐบาลไทยไม่ว่าสมัยใด มักจัดสรรบุคคลตามโควต้าพรรคการเมืองเข้าร่วมบริหารโดยไม่คำนึงถึงความสามารถ เป็นรัฐบาล “หัวมังกุ ท้ายมังกร” ไม่สมประกอบมาแต่ไหนแต่ไร?

เมื่อกลองลั่นหลังการทำงาน ให้คอยจับตาดูว่าโกเกี๊ยะจะสอบผ่านหรือไม่

 

แต่อยากบอกรัฐมนตรีมือใหม่ไว้ก่อน…โลกปัจจุบันมีผู้พิการทุกรูปแบบ 650 ล้านคน เป็นผู้พิการไทย 1.9 ล้านคน และเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่รักการท่องเที่ยวเหมือนคนปกติ

เพียงแต่ช่วยออกแบบสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ โดยไม่ต้องตกเป็นภาระต่อสังคม

เท่าที่ทราบ ส่วนหนึ่งคือผู้ไม่สมประกอบมาแต่กำเนิด และอีกส่วนเกิดโรคภัยภายหลัง รวมถึงพิการจากภัยสงคราม จลาจล อุบัติเหตุจราจร จนต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วน

แล้วยังแบ่งเป็นกลุ่มบกพร่องทางการมองเห็น ที่พวกเขารับได้กับคำว่า “ตาบอด” เพราะส่วนประสาทสัมผัสอื่นๆ มีครบทุกอย่าง จึงไม่ถือเป็นการด้อยค่าเมื่อต้องอยู่ร่วมสังคม

นอกจากนี้ พิการทางการได้ยินและโต้ตอบ ป่วยทางสมองสติปัญญา จิตประสาท ออทิสติก ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ โดยจัดอยู่ในกลุ่ม “วีลแชร์”

…รัฐมนตรีจะเห็นว่าเยอะจริงๆ

 

หลายประเทศขยันพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างทางลาดมาตรฐาน 1:12 มีอักษรเบรลล์บ็อกซ์ตามลิฟต์ ห้องพักในอาคารให้คนตาบอดอ่าน หรือกระเบื้องไกด์บ็อกซ์บนทางเดิน

อเมริกา แคนาดา และประเทศแถบยุโรป มีการตั้งงบประมาณประจำปีส่งเสริมคุณภาพชีวิตสูงถึงพันหรือหมื่นล้านบาท ไทยก็มีเงินอุดหนุนผู้พิการคนละ 800 บาทต่อเดือน…มากนะ!?

โซนเอเชียญี่ปุ่นก้าวหน้าสุดเรื่องนี้ ตามมาเป็นจีน เกาหลี ไทยติดอันดับต้นๆ จากโครงการ Universal Design หรืออารยสถาปัตย์เพื่อให้เกิด Friendly Design ในความเสมอภาคนำไปสู่กระบวนการ Tourism For All หนุนท่องเที่ยวแก่คนทั้งมวลแบบไม่เหลื่อมล้ำ

ในอดีต…น่าเห็นใจผู้พิการบางส่วนที่ชอบเก็บตัวเงียบ ตัดขาดจากสังคมภายนอก องค์กรการกุศลหลายแห่งพยายามเข้าไปช่วยปรับทัศนคติใหม่ให้ ด้วยวิธีใช้คนพิการไปชักชวนเขาออกมาหาประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยว บางรายต้องใช้เวลานาน 10-12 ปีจึงจะสำเร็จ

เรียกว่าได้ผลระดับหนึ่ง..เมื่อพวกเขาพร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้สังคมอยากตั้งคำถาม…แล้วหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องล่ะ มีความจริงใจแค่ไหนในการต้อนรับเขาเหล่านี้?

คำตอบไม่ใช่แค่การออกแบบสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก หรือผลิตคู่มือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวให้ผู้พิการทั้งไทยและต่างชาติ เพราะนี่ไม่ใช่การกระตุ้น Tourism For All เต็มรูปแบบ

ต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไป ตั้งแต่การผลิตบุคลากรบริการประเภทไกด์ พนักงานในสถานประกอบการ ให้พร้อมรองรับอย่างมีทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ที่ถูกวิธี

เชื่อมั้ยว่า…ปัจจุบันไทยมีไกด์อาชีพตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ 7.63 หมื่นคน รับทัวร์ต่างชาติ 40 ล้านคนปีนี้ แล้วก็มีบริษัทนำเที่ยวกับไกด์ผ่านการเรียนรู้วิธีช่วยเหลือผู้พิการอยู่แค่หลักสิบ…ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อคิดจะบุกเจาะตลาดทัวร์ผู้พิการทั่วโลก!

 

ภาคสาขามนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เคยทำรายงานการศึกษาเรื่อง “การจัดนำเที่ยวสำหรับผู้พิการ ในมุมมองผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว” ระบุอุปสรรคปัญหาการนำเที่ยวมนุษย์กลุ่มนี้ว่า…

“ไม่สามารถหามัคคุเทศก์มีความรู้หรือประสบการณ์การนำเที่ยวผู้พิการ เนื่องจากต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และความอดทนสูง ส่วนใหญ่ไร้ประสบการณ์และไม่ผ่านการอบรมการนำเที่ยวผู้พิการ…นอกจากนี้ ค่าจ้างมัคคุเทศก์เพื่อผู้พิการยังสูงกว่ามัคคุเทศก์รับคนปกติ”

ได้คุยกับนิธิ สืบพงษ์แสง “นัตตี้” ผู้บริหาร นัตตี้”ส แอดเวนเจอร์ส ทัวร์ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ทำทัวร์ผู้พิการไทยและต่างชาติมานาน

เขายอมรับ การทำทัวร์คนกลุ่มนี้ยากกว่าทัวร์ปกติมาก

แต่อาศัยได้เรียนรู้จาก SEABLE องค์กรการกุศลสหราชอาณาจักร เพื่อนักท่องเที่ยวตาบอดทุกชนิด ก่อตั้งเมื่อปี 2555

จึงทำให้มีพื้นความรู้เป็นเครื่องมือพอทำมาหากินได้ ดังนี้…

 

ไกด์ทุกคนจะต้องแสดงความคุ้นเคยแก่พวกเขาเสมือนเพื่อนร่วมทางตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายเมื่อเดินทางกลับ กับต้องทำความเข้าใจแต่นาทีแรกถึงความต้องการให้ความช่วยเหลือ

และคำนึงเสมอว่า เขาเหล่านี้ชอบความเป็นส่วนตัว ไม่ประสงค์ให้ใครสัมผัสเนื้อตัว หากให้ช่วยนำทางขณะเดินก็ต้องถามก่อนว่า จะใช้วิธีเกาะไหล่หรือแขน ห้ามเดินจูงมือเด็ดขาด…เพราะไม่เหมาะสม!

ขณะเดินให้เหยียดแขนตรงเพื่อลูกทัวร์จะได้เกาะตามหลัง ทิ้งระยะห่างครึ่งก้าวระหว่างเดิน เผื่อต้องหันหลังกลับหรือผ่านสิ่งกีดขวางแบบก้มตัวต่ำ ทุกครั้งอย่าลืมแจ้งให้เขาทราบตลอด ถ้าจำเป็นต้องเดินฝ่าฝูงชน ให้เปลี่ยนท่าเดินเป็นเรียงหนึ่ง แล้วเหยียดแขนไปด้านหลังให้เกาะ

คนตาบอดมีสุนัขนำทาง SEABLE แนะว่า ไกด์ห้ามรบกวนมันขณะดูแลเจ้านาย ยกเว้นเมื่อมีการร้องขอ โดยต้องเข้าหาสุนัขด้านหน้าเท่านั้น ไม่เข้าด้านหลัง เพราะจะทำให้มันตื่นตกใจ

เวลามื้ออาหารควรหลีกเลี่ยงการจับตัวลูกทัวร์ลงนั่ง แต่ให้ใช้วิธีขยับเก้าอี้จนเหมาะกับตำแหน่งที่จะนั่งลง แล้วแจ้งรายละเอียดอาหารกับการวางจานให้ชัดเจน

 

ถึงคราวข้ามถนนซึ่งสำคัญมาก SEABLE เตือนไกด์อย่ารีบเร่งเสี่ยงกับอุบัติภัย การเดินผ่านประตูก็เช่นกัน อย่าลืมแจ้งประตูเปิด-ปิดเข้าหาตัวหรือออกจากตัว…ทั้งหมดนี้คือวิธีการขององค์กรการกุศลสหราชอาณาจักร ที่นัตตี้ยึดเป็นคัมภีร์ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

มาดูบทบาทมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาผู้พิการเมืองพัทยา ผู้ฝึกอาชีพมนุษย์พิการไทยกับพันธมิตรอาเซียนขณะนี้ราว 200 คนบ้างว่ามีหลักปฏิบัติกับบุคลากรบริการอย่างไร?

สัมฤทธิ์ ชาภิรมย์ ผู้จัดการมูลนิธิบอก พัทยาคือเมืองท่องเที่ยวที่มีผู้พิการรวมอยู่ด้วย แต่ขาดบุคลากรด้านทักษะดูแล มูลนิธิเคยจัดอบรมเบื้องต้นมาแล้ว และกำลังจัดทำหลักสูตรฉบับสมบูรณ์ เพื่อผู้อบรมจะได้เข้าใจถึงการช่วยเหลือผู้พิการทุกประเภทอย่างมีคุณภาพ

เช่น การประคองหรืออุ้มที่ปลอดภัยสูง ภายใต้วิธีการเดียวกับทฤษฎี SEABLE ตรงไม่สัมผัสเนื้อตัวหากไม่มีการร้องขอ และไม่ด่วนเข็นวีลแชร์โดยพลการให้ตื่นตกใจคิดว่ารถลื่นไหล

สัจธรรมผู้พิการย่อมไม่ชอบให้ใครพูดถึงความบกพร่อง ที่อาจกลายเป็นการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ และอย่าด่วนสรุปอะไรด้วยตนเองแบบคิดแทน เว้นแต่ได้เอ่ยปากถามก่อน

วาจาสะท้อนถึงมารยาท ไกด์จึงเลี่ยงการพูดแบบตะโกน เพราะคนตาบอดแม้มองไม่เห็น แต่การฟังมีศักยภาพสูงกว่าคนปกติ

อีกทั้งอย่าดึงดันช่วยเหลือเขาเมื่อได้ปฏิเสธไว้ก่อนแล้ว

 

ข้อน่ารู้อีกอย่าง…คนตาบอดหรือคนเป็นใบ้ จะมีปัญหาน้อยกว่าผู้พิการอื่นๆ ตรงผ่านการฝึกทักษะจนคุ้นกับสภาพแวดล้อมได้สะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว

เช่น ยามใช้ไม้เท้าขาว การฟังเสียง ชิมและดมกลิ่นอาหาร ทางวิชาการหมายถึง Orientation and Mobility เรียกสั้นๆว่า O&M

ส่วนคนที่ตาเคยดีแต่มาบอดภายหลัง จะเข้าใจอะไรได้ง่าย เพราะการมองเห็นก่อนหน้า ขณะคนตาบอดโดยกำเนิดอาจต้องสร้างจินตภาพ เช่น ทะเลสีฟ้า ทรายสีขาว ผู้พิการทางหูจะไม่นิยมไปไหนลำพัง ห่วงกังวลเรื่องการสื่อสาร มักมีเพื่อนพิการด้วยกันที่พอสื่อสารได้ช่วยถ่ายทอดให้

หลักสูตรพระมหาไถ่ฯ กำหนดให้ผู้อบรมทุกคนทดลองเป็นผู้พิการ 1 วันเพื่อรับรู้ปัญหา ก่อนเข้าสู่การช่วยเหลือภาคสนาม 1 วัน ดูสถานที่ท่องเที่ยวผู้พิการอีก 1 วัน จบแล้วมีประกาศนียบัตรมอบให้ไว้ประกอบอาชีพ หลักสูตรนี้กำลังยกร่าง เพื่อผ่านองค์กรรัฐพิจารณามาตรฐาน

และการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนตามบริบท Tourism For All ที่เห็นแต่ขยันอัดแคมเปญออกมา…ก็ไม่รู้รัฐมนตรีท่องเที่ยวป้ายแดงจะเห็นดีเห็นงามด้วยมั้ย!?