คนของโลก : โรเบิร์ต กาเบรียล มูกาเบ จากวีรบุรุษสู่ทรราชซิมบับเว

โรเบิร์ต การเบรียล มูกาเบ อดีตผู้นำเผด็จการซิมบับเว วัย 95 ปี เสียชีวิตลงแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน

ทิ้งเรื่องราวไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะวีรบุรุษผู้ปลดปล่อยซิมบับเว ที่กลายร่างเป็นผู้ปกครองเผด็จการที่ใช้ความหวาดกลัว เพื่อยึดครองอำนาจเป็นเวลายาวนานถึง 37 ปี

ก่อนจะถูกกองทัพที่เคยภักดี รัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2017

เกิดในปี 1924 ในครอบครัวคาทอลิก ในเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงฮาราเร ประเทศซิมบับเว

โดยหลังจากพ่อทิ้งไปตั้งแต่อายุได้เพียง 10 ขวบ ทำให้มูกาเบมุ่งสมาธิไปที่การเรียนเพียงอย่างเดียว

และสามารถผ่านเกณฑ์และเข้าทำงานเป็นครูในโรงเรียนด้วยอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น

มูกาเบจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟอร์ตฮาเร ในแอฟริกาใต้

ชื่นชอบในแนวคิด “มาร์กซิสต์” ได้รับอิทธิพลจาก “กวาเม อึนกรูมา” ประธานาธิบดีผู้ก่อตั้งประเทศกานา ขณะที่มูกาเบไปทำงานสอนในประเทศกานา

มูกาเบกลับบ้านเกิดที่เวลานั้นมีชื่อว่า “ประเทศโรเดเซีย” ประเทศที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก่อนถูกจับกุมฐานทำกิจกรรมสนับสนุนแนวคิดชาตินิยม ในปี 1964

และต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำยาวนานถึง 10 ปี

 

ช่วงเวลาที่ถูกขัง มูกาเบจบปริญญา 3 ใบจากการเรียนผ่านจดหมาย แต่ก็ต้องสูญเสียลูกชายวัย 5 ขวบกับภรรยาคนแรกไป

โดยเหตุการณ์สร้างความเจ็บปวดให้มูกาเบมากขึ้นไปอีกเมื่อ “เอียน สมิธ” ผู้นำโรเดเซียผิวขาวในเวลานั้นปฏิเสธที่จะให้มูกาเบออกไปร่วมงานศพของลูกชายด้วย

หลังออกจากเรือนจำในปี 1974 มูกาเบก้าวขึ้นเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธ สหภาพชาวแอฟริกันแห่งชาติซิมบับเว (ซานู) ร่วมกับกลุ่มสหภาพประชาชนแอฟริกันซิมบับเว (ซาปู) เป็นศูนย์รวมของการต่อสู้ทางการเมืองของชาวผิวดำในซิมบับเวและการเคลื่อนไหวต่อต้านการปกครองของอังกฤษ

นำไปสู่การที่อังกฤษเปิดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในปี 1980

โดยนายมูกาเบได้รับชัยชนะและเข้าครองอำนาจการบริหารประเทศนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ในช่วงแรกของการปกครอง มูกาเบได้รับเสียงชื่นชมจากชาติตะวันตก ผลจากนโยบายที่เปิดทางให้มีความปรองดองระหว่างเชื้อชาติ

รวมไปถึงนโยบายปรับปรุงการศึกษาและบริการสาธารณสุขให้ขยายไปถึงกลุ่มคนผิวสีซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ทว่า เสียงชื่นชมดังกล่าวจางหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อมูกาเบเริ่มปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างเด็ดขาด เหยื่อรายแรกคือ “โจชัว เอ็นโคโม” รัฐมนตรีมหาดไทย ผู้นำกลุ่มซาปู ที่ร่วมต่อสู้เคียงข้างมูกาเบมาโดยตลอด

เอ็นโคโมถูกปลดจากตำแหน่งหลังมีการค้นพบแหล่งซ่อนอาวุธในจังหวัดมาตาเบเลแลนด์ ฐานที่มั่นของซาปู ในปี 1982

มูกาเบที่ได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จาก “ชนเผ่าโซนา” พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ ส่งกองกำลังที่ได้รับการฝึกฝนจากเกาหลีเหนือ กวาดล้างเข้าใส่ “ชนเผ่าเอ็นเดเบเล” ที่สนับสนุน “เอ็นโคโม” ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 20,000 คน

ยิ่งกว่านั้น มูกาเบยังดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดินด้วยการยึดที่ดินทำกินของชาวซิมบับเวผิวขาวเชื้อสายอังกฤษ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของที่ดินทั้งประเทศ มาจัดสรรให้ชาวซิมบับเวผิวดำ เพื่อเรียกความศรัทธาและความนิยมจากประชาชน

เหตุการณ์บุกรุกที่ดินเริ่มรุนแรงขึ้นในปี 2000 เมื่อการยึดที่ดินส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นักลงทุนต่างชาติหนีออกจากประเทศ ระบบการเกษตรของประเทศพังทลาย ส่งผลให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะวิกฤต

ขณะที่ในเวลาเดียวกันมูกาเบยังคงยึดอำนาจเอาไว้ในมือด้วยการกดขี่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อชนะการเลือกตั้ง

 

หลังอายุพ้นหลัก 90 ปี สภาพร่างกายที่อ่อนแอลงเริ่มแสดงออกชัดเจนต่อสายตาบรรดาผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลซิมบับเว ขณะที่ภรรยาคนที่ 2 ของมูกาเบ อย่างเกรซ มูกาเบ ภรรยาที่อายุน้อยกว่ามูกาเบ 41 ปี ถูกมองว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนของมูกาเบในอนาคต

นั่นส่งผลให้กองทัพซิมบับเวที่เคยภักดีกับมูกาเบ ตัดสินใจก่อรัฐประหารในปี 2017 เพื่อยุติความทะเยอทะยานของเกรซลง และเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมกว่าขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำซิมบับเวหลังการเสียชีวิตของอดีตผู้นำเผด็จการผู้นี้

มาร์ติน เมเรดิธ ผู้เขียนชีวประวัติของโรเบิร์ต มูกาเบ ระบุว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มูกาเบยึดอำนาจเอาไว้ด้วยการกดขี่ กวาดล้างผู้เห็นต่างทางการเมือง แทรกแซงศาล ละเมิดสิทธิในที่ดิน ปิดปากสื่อ และโกงเลือกตั้ง

“เขาไม่ได้ถูกครอบงำด้วยความร่ำรวยส่วนตัว หากแต่เขาถูกครอบงำจากความหลงใหลในอำนาจ” เมเรดิธระบุ