สมหมาย ปาริจฉัตต์ : รักนักเรียนเหมือนลูกหลาน (5)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายการสุดท้ายของบ่ายวันแรก การตอบคำถามสื่อมวลชนกัมพูชา ของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้ง 3 คนผ่านไปอย่างงดงาม ทุกคนตอบคำถามอย่างฉะฉาน ตรงไปตรงมา

สื่อรายแรกตั้งคำถามถึงเหตุผลที่ทำให้ได้รับการคัดเลือกเพราะอะไร มีแนวทางในการปฏิบัติอย่างไร

ครูโตซ จากเสียบเรียบขอตอบเป็นคนแรก “รักนักเรียนเหมือนญาติ เป็นลูกหลาน รางวัลที่ได้มานำไปช่วยโรงพยาบาลเด็กเสียมเรียบ ช่วยนักเรียนยากจน รางวัลนับเป็นเกียรติสูงสุดของความเป็นครู จะเรียบเรียงเป็นเอกสารการเรียนการสอนให้ผู้ปกครองเอาไปสอนเด็กได้ในอนาคต”

ได้ฟังคำตอบประโยคแรกของครูโตช ทำให้ผมนึกถึงคำของครูประเสริฐ งามพันธ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ฟังทุกครั้งที่พบครู

“รักโรงเรียนเหมือนบ้าน รักงานเหมือนชีวิต รักลูกศิษย์เหมือนลูกหลาน รักเพื่อนร่วมงานเหมือนญาติ”

 

ฟังครูดี โสพร จากจังหวัดกำปงชนัง ตอบคำถามเป็นรายถัดไป

เธอว่า “23 ปีที่เป็นครู ทำไมถึงได้รับรางวัล เพราะดิฉันสอนจากหัวใจ ศึกษานักเรียนแต่ละคนโดยละเอียด ติดต่อไปที่ผู้ปกครองถามไถ่เด็กเป็นอย่างไร อ่อนวิชาไหน เก่งวิชาไหน ควรพัฒนาอย่างไร พ่อแม่ควรส่งเสริมอย่างไรถึงจะถูก ดัดนิสัยเด็กควรทำตั้งแต่ระดับประถม”

“ปัจจัยมาจากตัวนักเรียนด้วย สังคมด้วย ครูอาจมีบทบาท เป็นครูตัวอย่าง ขยันขันแข็ง ตั้งใจในสิ่งที่ทำ ไม่ใช่สอนความรู้อย่างเดียว สอนมารยาทการใช้ชีวิตในสังคมด้วย คอยสอบถามเด็กมีปัญหาก็ไปช่วยเหลือ ดูพฤติกรรม การแสดงออกของเขาว่าเป็นอย่างไร บางทีระหว่างเรียนเล่นเกมบ้างเพื่อผ่อนคลาย ตกแต่งห้องเรียนให้สวยงาม พยายามทำงานโดยมีเป้าหมายให้ชัดเจน”

ถึงคิวครูลอย ขอตอบบ้าง ครูสอนฟิสิกส์มากว่า 20 ปี ยึดแนวปฏิบัติตามหลักจริยธรรมวิชาชีพครู เชื่อมั่นไว้วางใจนักเรียนและผู้ปกครองด้วย อาชีพผมมีอย่างเดียวเป็นครู ทำอย่างไรที่จะช่วยนักเรียนอ่อน ใช้หลักนักเรียนฉุดนักเรียน เพื่อนช่วยเพื่อน ครูช่วยนักเรียนและผู้ปกครองช่วยนักเรียน

“ความรู้ต้องคู่กับการปฏิบัติ มีเครื่องมือทดลองของตัวเอง ช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนอยู่ไกล สอนเพิ่มหลังเลิกเรียนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และ 2 ชั่วโมงทุกวันอาทิตย์ ช่วยทำให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้”

 

ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเพรสนิวตั้งคำถามต่อ คิดว่าอะไรเป็นจุดเด่นของการคัดเลือกของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงานประถมศึกษา ตอบว่า สำนักงานประถมไม่ได้เเป็นหน่วยคัดเลือกโดยตรง แต่ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกมาตามลำดับโดยละเอียด จากระดับอำเภอ จังหวัด ถึงระดับประเทศ รางวัลสมเด็จฮุน เซน

นักข่าวทีวีรายต่อมาถามถึงแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิ

คุณหญิงสุมณฑา หัวหน้าคณะกล่าวว่า “วัตถุประสงค์ของมูลนิธิที่มีรางวัลนี้ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมอาชีพครูในแต่ละประเทศ ไม่ได้เน้นช่วยเป็นตัวเงิน แต่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศให้เข้มแข็ง อีกประการทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดบรรยากาศส่งเสริมให้ครูตัวอย่างได้ขยายผลงาน เกิดภาพลักษณ์ของครูที่ดีออกไปทุกประเทศในอาเซียน”

ได้จังหวะ นักข่าวอาวุโสจากเมืองไทยตั้งประเด็นถามบ้าง “ครูมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือของนักเรียนบ้างไหม โรงเรียนจัดการเรื่องนี้อย่างไร”

“เด็กน้อยห้ามนำมือถือมาโรงเรียน หากใครมีปัญหาก็ชวนปกครองมาคุยช่วยหาทางแก้ไข” ครูตอบ

“ปัญหาเศษฐกิจ ครูเป็นหนี้ มีบ้างไหมครับ” ได้ยินคำถามใหม่ ครูทั้งสามทำหน้างง ผมคาดเดาว่าปัญหาคงไม่รุนแรงเหมือนบ้านเราเพราะการดำรงชีวิต การปฏิบัติแบบเรียบง่าย และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน

แต่ครูก็ยอมรับว่ามีบางคนหาอาชีพเสริม รับสอนกวดวิชาโดยเฉพาะโรงเรียนเอกชน

 

เวทีถามตอบจบลงตามเวลา เช้าวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ Kampuchea Thmey Daily เสนอข่าวสาระและบรรยากาศการพูดคุยระหว่างกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กับคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา เยาวชนและกีฬา และรายการวันต่อๆ มา

สื่อมวลชนทุกแขนงในทุกประเทศที่คณะกรรมการมูลนิธิเดินทางไปพบครู เป็นเครือข่ายพันธมิตรที่มีบทบาทช่วยเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารความร่วมมือระหว่างประเทศ การพัฒนาครูและระบบการศึกษาให้ก้าวหน้าไปด้วยกัน ได้รับเชิญเข้าร่วมเวทีซักถามครู ผู้บริหารการศึกษา และเดินทางไปสังเกตการณ์ถึงโรงเรียนของครูทุกคน

ในกัมพูชาแม้บรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อค่อนข้างระมัดระวัง การรายงานข่าวปัญหาการศึกษาก็มีปรากฏให้เห็นอยู่บ้างกรณีประเด็นการสอบ

หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ รายงานบทสัมภาษณ์ รส โสวิชา โฆษกกระทรวงศึกษาธิการกัมพูชาเกี่ยวกับการจัดสอบปลายภาคของนักเรียน ม.6 วันที่19 20 สิงหาคม ไม่มีเหตุโกงข้อสอบหรือทุจริตใหญ่ๆ เกิดขึ้น ผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนรวมถึงหน่วยต่อต้านการทุจริตสมาพันธ์สหภาพเยาวชนกัมพูชา มีเรื่องนักเรียน 3 คนถูกปรับตกอัตโนมัติ พยายามนำโพยคำตอบและโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบ อีกรายเข้าห้องสอบสายเกินกว่า 30 นาที

ยงกิมเอ็ง ประธานศูนย์ประชาชนเพื่อการพัฒนาและสันติภาพ กล่าวว่า แม้การสอบจะไม่มีเหตุผิดปกติใหญ่ๆ เกิดขึ้น แต่กระทรวงศึกษาธิการเข้มงวดเริ่องการโกงข้อสอบเฉพาะการสอบ ม.6 เท่านั้น ไม่เข้มงวดกับการสอบในห้องเลย นอกจากนี้ มาตรฐานการเรียนระหว่างเด็ก ม.6 ในโรงเรียนสมัยใหม่กับโรงเรียนสามัญยังแตกต่างกันมากแม้เรียนในระบบการศึกษาเดียวกันก็ตาม

บทบาท ภารกิจของสื่อเพื่อการศึกษา การมีส่วนร่วมพัฒนา โดยเฉพาะพัฒนาครูผู้มีจิตวิญญาณของทุกประเทศในอาเซียนต้องดำเนินร่วมกันต่อไป ภายใต้บริบทที่แตกต่าง แต่เป้าหมายเดียวกัน สร้างครูคุณภาพ เพื่อสร้างคนคุณภาพนั่นเอง