จัตวา กลิ่นสุนทร : 76 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร 127 ปี Professor Corrado Feroci

(วันศิลป์ พีระศรี/ 15 กันยายน 2562)

ต้องเขียนถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Prof.Corrado Feroci) เมื่อเวลาเดินทางมาถึงเดือนกันยายนของทุกๆ ปี

ด้วยเป็นเดือนเกิดของสุภาพบุรุษจากนครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี (Florence, Italy)

เพื่อที่บรรดาศิลปินทั้งหลายจะได้ไม่หลงลืมรากเหง้าแหล่งที่มาของสถานศึกษาเล่าเรียน ซึ่งอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2466 ชื่อโรงเรียนประณีตศิลป์ ก่อนเป็นโรงเรียนศิลปากร ก่อนสถาปนาเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” ปี พ.ศ.2486 สมัย “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เป็น “นายกรัฐมนตรี”

ถ้าอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีชีวิตอยู่จะอายุ 127 ปี ท่านเดินทางเข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2466 เมื่ออายุ 32 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเสียชีวิตยังโรงพยาบาลศิริราช ปี พ.ศ.2505 รวมเวลา 39 ปี แต่ได้สร้างผลงานทิ้งไว้มากมายในฐานะข้าราชการสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานประติมากรรม เช่น อนุสาวรีย์สำคัญๆ ทั้งหลายในประเทศไทย ร้อยละ 90 เป็นผลงานของชาวอิตาเลียนท่านนี้

สอนสั่งลูกศิษย์ชาวไทยให้ศึกษาเรียนรู้งานศิลปะร่วมสมัย แต่ไม่ทอดทิ้งพร้อมสืบทอดศิลปะไทย ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และประวัติศาสตร์ศิลปะ ปลูกฝังถ่ายทอดการเรียนการสอนศิลปะในประเทศไทยจนเจริญก้าวหน้าร่วมสมัยกับนานาประเทศ

ที่สำคัญมากสุดเป็นผู้ที่วางรากฐานศิลปะสมัยใหม่ หรือศิลปะร่วมสมัย กระทั่งเป็นที่ยอมรับกันว่าท่านเป็น “บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย” เริ่มต้นเปิดประตูศิลปะร่วมสมัยของไทยสู่ประเทศตะวันตก เป็นผู้ริเริ่มให้มีการประกวดวาดภาพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาได้จัดให้มีการประกวด “งานศิลปกรรมแห่งชาติ” ซึ่งได้สืบทอดมากระทั่งทุกวันนี้

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นศิลปินที่มีความสามารถ เป็นผู้ที่ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย และเป็นครูที่รักและห่วงใยศิษย์ชาวไทย เป็นชาวต่างชาติที่รักประเทศไทยทุ่มเทกำลังกายสติปัญญาปลูกฝังสร้างสรรค์ผลงานจนวาระสุดท้ายของชีวิตในเมืองไทย

 

“76 ปีมหาวิทยาลัยศิลปากร” ย่อมเติบโตขยายกิ่งก้านสาขามากมายมิได้จำกัดอยู่แค่เพียงคณะจิตรกรรม ประติมากรรมฯ สถาปัตยกรรม โบราณคดี และ มัณฑนศิลป์ ซึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนในเขตวังท่าพระ กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ได้ขยายเป็นวิทยาเขตไปยังบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และบริเวณตลิ่งชัน เกิดคณะอักษรศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ดุริยางคศาสตร์ และ ฯลฯ ผลิตบัณฑิต ศิลปิน สาขาต่างๆ นักเขียน นักประพันธ์ โดยเฉพาะจิตรกรรม ประติมากรรม ฯลฯ สร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปะ รับใช้สังคมประเทศชาติจนเป็นยอมรับกันโดยทั่วไป

ปี พ.ศ.2536 มหาวิทยาลัยศิลปากรครบรอบ 50 ปี มีศิษย์เก่าได้จัดการรวบรวม “เรื่องสั้น” ของชาวศิลปากรมาจัดพิมพ์ เพื่อหารายได้สำหรับร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองงานครบรอบ 50 ปี โดยนำวลีของอาจารย์ศิลป์ “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” มาเป็นชื่อหนังสือ การจัดทำจัดพิมพ์ได้รับการสนับสนุนจาก “ขรรค์ชัย บุนปาน” ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และศิษย์เก่าทั้งหลาย รวบรวมข้อเขียนได้มากว่า 60 ชิ้น ทั้งรุ่นเก่า รุ่นปัจจุบัน

นักเขียนซึ่งมีชื่อเสียง อาทิ สุวรรณี สุคนธา, อังคาร กัลยาณพงศ์, ขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ, ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ, ขนิษฐา ณ บางช้าง, วาณิช จรุงกิจอนันต์, ดิฐา เกตวิภาต, นิพนธ์ จิตรกรรม, จัตวา กลิ่นสุนทร และ ฯลฯ โดยมี “สกุล บุณยทัต” เป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้วางจำหน่ายราคา 300 บาท

คิดว่ายังคงจะมีเหลืออยู่บ้าง สำหรับนักอ่านที่ยังไม่มี ต้องการได้สะสมไว้ ลองติดต่อสอบถามมหาวิทยาลัยศิลปากร/สำนักพิมพ์มติชน

 

ที่ปกพับด้านในของหนังสือ “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” รวมเรื่องสั้น “50 ปีชาวศิลปากร” ผู้จัดทำได้นำข้อเขียนที่ศิลปินคุ้นเคยกันดีของอาจารย์ศิลป์มาพิมพ์ไว้ ดังนี้—

“ศิลปิน คือบุคคลผู้ซึ่งมีความใฝ่ฝัน ความปรารถนาอันแรงกล้าครอบครองอยู่ นั่นคือความปรารถนาที่จะชื่นชม และมีชีวิตอยู่ในความลี้ลับมหัศจรรย์ของจักรวาล

ด้วยดวงใจอันไม่รู้จักหยุดนิ่ง และพลังแห่งน้ำใจของเขานั้น ศิลปินได้ถอดดวงวิญญาณ รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท้องฟ้าที่กว้างไกล เวิ้งว้างสุดสายตา ณ ที่ซึ่งดวงดาวทั้งมวลสุดคณานับได้แสดงความพิสุทธิ์ออกมา โดยแสงระยิบงามของมัน

เบื้องหน้าธรรมชาติ ศิลปินแต่ผู้เดียวน้อมกายลงเทิดทูนบูชาแผ่นดิน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงความกตัญญูต่อโลกที่ได้ให้สรรพสิ่งที่งดงามมหาศาลแก่เขา

ศิลปินสัมพันธ์กับท้องฟ้า กับห้วงน้ำลำธาร กับขุนเขา กับผืนแผ่นดินอันกว้างไพศาล และเข้าใจความหมายของเสียงแห่งสายลมได้

ศิลปินมีดวงไฟอันโชติช่วงสว่าง และความอ่อนโยนลึกซึ้งของแม่ อยู่ในความคิดฝันของเขา”

 

จากปี พ.ศ.2536-2561 นับเวลาได้ 25 ปี “สำนักหอสมุดกลางและหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยศิลปากร” ได้ทำโครงการจัดพิมพ์งานเขียนของศิษย์เก่าทั้งประเภทเรื่องสั้น ความเรียง บทกวี บทความ บทเพลง บทละครขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระ “ครบรอบ 75 ปีของมหาวิทยาลัย” เพื่อแสดงเกียรติคุณทางด้านวรรณกรรมแขนงต่างๆ ของเหล่าศิษย์เก่าแต่ละคณะวิชาที่ได้รังสรรค์ผลงานตลอดเวลาที่ผ่านมา

ใช้ชื่อหนังสือว่า “ด้วยดวงใจอันไม่รู้จักหยุดนิ่ง” อันเป็นวรรคทองวรรคหนึ่งในงานประพันธ์ของท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นการรวมงานเขียน “75 ปี 75 นักเขียนศิลปากร” อันหลากหลายเรื่องราว หลายรสชาติ จากนักเขียนหลายรุ่นตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงปัจจุบันทั้งที่เสียชีวิตไปแล้ว และยังมีชีวิตอยู่

นอกจากเป็นการรวมงานของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปเป็นอย่างดีในบ้านเราที่เป็นชาวศิลปากรแล้ว ยังมีงานเขียนของระดับครูบาอาจารย์ อาทิ ท่านหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, ว.วินิจฉัยกุล, ส.คุปตาภา (สลวย โรจนสโรช) หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ, อาจารย์ศิลป์ พีระศรี, ท่านชวน หลีกภัย (ประธานรัฐสภา, อดีตนายกรัฐมนตรี) โดย “สกุล บุณยทัต” เป็นบรรณาธิการเช่นเดิม

ท่านผู้อ่านที่สนใจติดต่อสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

มหาวิทยาลัยศิลปากรกำหนดเอาวันที่ 15 กันยายน เป็น “วันศิลป์ พีระศรี” โดยจัดงานเพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านเป็นประจำทุกๆ ปี มีพิธีทางศาสนาในตอนเช้า สังสรรค์ตอนเย็นค่ำ ซึ่งท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเป็นประธานวันที่ 15 กันยายนของทุกๆ ปีติดต่อกันมายาวนาน รวมทั้งปี 2562 นี้ด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากงานทางวิชาการ เช่น การปาฐกถา งานแสดงศิลปกรรมต่างๆ แล้ว ยังเป็นการพบปะสังสรรค์ของบรรดาศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน การแสดงดนตรี และ ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงที่ผ่านมาได้จัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ และลานอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บริเวณสนามหญ้า คณะจิตรกรรมฯ

แต่งาน “วันศิลป์ พีระศรี” ได้เปลี่ยนสถานที่ไปยังวิทยาเขต พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐมหลายปีแล้ว เนื่องจากบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ปิดเพื่อทำการปรับปรุงก่อสร้างซ่อมแซม (Renovate) ไม่แล้วเสร็จ ว่ากันว่านักศึกษาไม่น้อยกว่า 2 รุ่นต้องระเหเร่ร่อนเที่ยวเช่าตึกเอกชนเพื่อการเรียนการสอนจนจบได้รับปริญญาโดยไม่เคยได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ สักครั้ง

แต่สโมสรนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยศิลปากร และสโมสรนักศึกษาเก่าคณะต่างๆ ยังยืนยันร่วมมือกันจัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี” ยังสถานที่เดิมเพื่อรักษาบรรยากาศเก่าๆ เดิมๆ ให้คงอยู่ ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี, หอประติมากรรมต้นแบบ (โรงหล่อ) และหน้าห้องอาจารย์ฝรั่งเดิมเป็นที่จัดงาน

ขอเรียนเชิญศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมงาน “127 ปี Professor Corrado Feroci วันศิลป์ พีระศรี” (15 กันยายน 2562) ณ ลานอนุสาวรีย์ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 09.00-22.00 น.

อย่าลืมไปพบปะสนทนา ร่วมร้องเพลง “Santa Lucia” ด้วยกัน