วิรัตน์ แสงทองคำ : เรื่องธุรกิจใหญ่ของเซ็นทรัล จากกรณี “Central Village”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องราวอันครึกโครมกรณี Central Village ได้จุดกระแสให้ผู้คนสนใจปรากฏการณ์สำคัญๆ สังคมธุรกิจไทย

เปิดฉากถึงภาพรวมธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสำคัญของไทย ซึ่งโลดแล่นอย่างคึกคักภายใต้แรงขับเคลื่อนโดยธุรกิจไทยรายใหญ่ ทั้งขยายเครือข่ายเชิงภูมิศาสตร์ ครอบคลุมกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งปรากฏรูปแบบ โมเดลหลากหลายอย่างเหลือเชื่อ

จนมาถึงโมเดลธุรกิจ Outlet รูปแบบค้าปลีกใหม่ ก่อกำเนิดเป็นโมเดล

และถือเป็นปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้น ในสหรัฐ ขยายตัวอย่างมากๆ ในช่วงเมื่อ 3-4 ทศวรรษที่แล้ว
อันที่จริงเมืองไทยได้เดินตามกระแส Outlet มาสักพักใหญ่ๆ ค่อนข้างเงียบๆ โดยเฉพาะเกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2544 เป็นต้นมา ริเริ่มโดยผู้ผลิต ผู้ถือลิขสิทธิ์สินค้าเสื้อผ้าแบรนด์เนม FN (fly now) และ Pena House Group โดยยึดพื้นที่ในต่างจังหวัด ริมถนนหลัก เส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ในทำเลซึ่งมีราคาที่ดินไม่แพงเท่ากรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ และขณะนั้นก็ไม่แพงเท่าปัจจุบัน

ทั้งสองขยายเครือข่าย Outlet อย่างช้าๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่ละรายมีประมาณ 10 แห่ง
ทั้ง FN (fly now) และ Pena House Group ยุคเริ่มแรก อาจเข้าข่ายโมเดลเรียกว่า factory outlet อ้างอิงเฉพาะสินค้าตนเอง ซึ่งเผอิญแต่ละรายมีหลายแบรนด์

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามในเวลาต่อมา มีความพยายามเพิ่มแบรนด์ต่างๆ อย่างหลากหลาย เพิ่มสินค้าอื่นๆ เข้าไปด้วย

 

เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลและสยามพิวรรธน์ ผู้นำธุรกิจค้าปลีกใจกลางเมือง ประกาศแผนการใหญ่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อต้นๆ ปีที่แล้ว กระแส Outlet พุ่งแรงขึ้น สะท้อนสถานการณ์และทิศทางใหม่ธุรกิจค้าปลีกไทย

ถือเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องของผู้นำค้าปลีกไทย กับความพยายามปรับตัว แสวงหาโอกาสทางธุรกิจอย่างไม่ลดละ อ้างอิงสถานการณ์ กลุ่มเป้าหมาย และทำเล อย่างพลิกแพลง หลากหลาย ซึ่งมีแนวคิดไปในทางเดียวกัน

เมื่อพิจารณาข้อมูลสำคัญจากถ้อยแถลงข่าวในเวลานั้น “เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการจับจ่ายใช้สอยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (ซีพีเอ็น) และ “พรีเมี่ยมเอาต์เล็ตมีความเหมาะสมอย่างมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของประชากร และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า 35 ล้านคนเดินทางมาท่องเที่ยวและมองหาสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสมคุ้มค่า” (สยามพิวรรธน์)
ที่สำคัญ ที่สอดคล้องกับแผนการ ทั้งสองรายยึดทำเลในเชิงยุทธศาสตร์

ซีพีเอ็นแห่งกลุ่มเซ็นทรัล กับโครงการ Central Village ยึดพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ใกล้ๆ ทางทิศใต้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

สยามพิวรรธน์ร่วมทุนกับ SIMON PROPERTY GROUP แห่งสหรัฐในโครงการ Siam Premium Outlets บนที่ดิน 150 ไร่ ตั้งอยู่บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี) ก.ม.23 ห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทางทิศตะวันออก ใช้เวลาเดินทางเพียง 10 นาที

Central Village เปิดบริการขึ้นก่อน ท่ามกลางอุปสรรค ด้วยเรื่องราวขัดแย้ง ไม่ว่าจะลงเอยอย่างไร ได้จุดกระแสความสนใจ Outlet พุ่งแรงขึ้นไปอีก

ทำให้วันเปิดด้วยผู้คนล้นหลาม

ขณะที่มุมมองเปิดกว้างไปยังคู่แข่งรายใหญ่อีกราย ดูเหมือน “คู่แข่ง” รายนี้ที่ผ่านๆ มาถูกมองข้ามไป

 

“กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจการค้าปลีก ที่พร้อมมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการช้อปปิ้งในท่าอากาศยานรวมถึงประสบการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยมาตรฐานระดับสากล” ข้อความซึ่ง quote ไว้ใน kingpower.com โดยวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการ มี keyword สำคัญปรากฏอยู่ ดังประกาศท้าทาย นั่นคือ “บริษัทชั้นนำในธุรกิจการค้าปลีก” กับ “การช้อปปิ้งในท่าอากาศยาน”
ภาพธุรกิจสำคัญ คิง เพาเวอร์ ซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงโดดเด่น เทียบเคียงกับกลุ่มเซ็นทรัลกับสยามพิวรรธน์ในทันที

หากพิเคราะห์เรื่องราวและความสำเร็จของคิง เพาเวอร์อ้างอิงกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยแล้ว กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ อาจจะพอเทียบเคียงกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ไทยสำคัญอีกบางราย โดยเฉพาะซีพีและทีซีซีก็ว่าได้

วิชัย รักศรีอักษร (ปัจจุบัน-ศรีวัฒนประภา) ผู้เพิ่งวายชมน์เป็นข่าวดังระดับโลก ถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจร้านปลอดภาษีและอากรเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว เปิดร้านค้าปลอดภาษีและอากรรายแรกในประเทศไทย ณ อาคารมหาทุนพลาซ่า ถนนเพลินจิต (ปี 2532) ก่อนจะก้าวสู่ธุรกิจระบบสัมปทานเต็มตัว เข้าบริหารร้านค้าปลอดภาษีและอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ปี 2536) ขณะเดียวกับบุกเบิกธุรกิจเดียวกันในต่างประเทศ ในกัมพูชา (2534) ปักกิ่ง (2538) และฮ่องกง (2538)

ธุรกิจร้านปลอดภาษีและอากรภายใต้พื้นที่และลูกค้าจำกัดอยู่นอกสายตาสังคมธุรกิจไทยมาพักใหญ่ๆ
จนมาถึงช่วงควรสนใจมากขึ้น แต่จังหวะนั้นถูกกลบด้วยวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ชื่อคิง เพาเวอร์ ปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงนั้น พร้อมๆ กับโอกาสครั้งใหญ่กับท่าอากาศยานหลักๆ ของไทย ทั้งดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่

แต่คงไม่มีครั้งไหนยิ่งใหญ่เท่ากับคิง เพาเวอร์ได้เข้ามาดำเนินการสินค้าปลอดภาษีและอากรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปี 2549)

พร้อมด้วยการเกิดขึ้น คิง เพาเวอร์ รางน้ำ

 

ตามตรรกะ ซึ่งพอจะอรรถาธิบายพัฒนาการสำคัญ คิง เพาเวอร์ จากจุดนั้นได้

หนึ่ง-อ้างอิงกับพัฒนาการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากประมาณ 40 ล้านคนตั้งแต่เปิดบริการ จนมาทะลุ 50 ล้านคนในอีกเพียง 5 ปีถัดมา
สอง-กลุ่มคิง เพาเวอร์ก้าวสู่ธุรกิจข้างเคียงที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกรณีซื้อสโมสรฟุตบอลระดับโลก Leicester City Football Club พร้อมเปลี่ยนชื่อ Walkers Stadium เป็น King Power Stadium (ปี 2553)

และได้เข้าซื้อตึกระฟ้า-มหานครซึ่งถือว่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

เฉพาะส่วนโรงแรม ชั้นชมทัศนียภาพ และส่วนมหานครคิวบ์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น คิง เพาเวอร์ มหานคร (ปี 2561)

ปรากฏการณ์คิง เพาเวอร์ข้างต้นเป็นเรื่องน่าทึ่ง แม้ว่าจะดำเนินไปในช่วงเวลาสังคมไทยไม่ปกตินัก ย่อมสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ในฐานะ “บริษัทชั้นนำในธุรกิจการค้าปลีก” อย่างมิพักสงสัย

มุมมองอย่างกว้างๆ ธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะศูนย์การค้าใหญ่กลางเมืองหลวง ล้วนนำเสนอกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญเป็นนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับคิง เพาเวอร์อยู่แล้ว ช่างบังเอิญ ทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและสยามพิวรรธน์ (เพิ่งเปิดห้างไอคอนสยาม) ซึ่งเป็นผู้นำ ล้วนตั้งเป้าหมายอย่างจริงจังเช่นนั้น ยิ่งเมื่อทั้งสองรายมีแผนการรุกประชิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยแล้ว

จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากขึ้น

ไม่ว่าจะมองมุมใด กรณี Central Village สั่นสะเทือน และตอกย้ำปรากฏการณ์สังคมธุรกิจไทยอย่างที่ผมเคยนำเสนอไว้เมื่อเกือบๆ 10 ปีที่แล้ว กรณี-Carrefour

“แรงปะทะอันเปรี้ยงปร้างของ ‘รายใหญ่’ ที่ไม่อาจปรองดองกันได้ เป็นปรากฏการณ์ทุกมิติในสังคมไทย สำหรับสังคมธุรกิจไทยถือว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่อันซับซ้อนที่น่าสนใจ จากเดิมมีโครงสร้างง่ายๆ บรรดาผู้ทรงอิทธิพลซึ่งมีจำนวนไม่มากราย การแบ่งพื้นที่ แบ่งประเภทธุรกิจ เป็นระบบจัดสรรผลประโยชน์และโอกาสที่ลงตัว แต่วันนี้พื้นที่และโอกาสแห่งผลประโยชน์ ไม่อาจจัดสรรด้วยระบบเดิมอีกต่อไป ไม่เพียงแต่รายใหญ่เดิมเติบโตมากขึ้น ต้องการขยายอิทธิพลแนวกว้างมากขึ้นเท่านั้น ยังปรากฏผู้เล่นรายใหม่อย่างหลากหลายเข้ามาขอส่วนแบ่ง ไม่ว่าจะเป็นรายย่อยที่มีความพลิกแพลงและเข้มแข็งขึ้น รวมทั้งผู้เล่นจากภายนอกซึ่งมีพลังมากเป็นพิเศษ จึงเพิ่มแรงกดันมากขึ้น การรักษาโอกาส และพื้นที่ของบรรดา ‘รายใหญ่’ มีความร่วมมือมากกว่าการแข่งขันในอดีต กลายเป็นอดีตไปแล้วจริงๆ จึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้วที่ซ้อนทับกันเอง และตามมาด้วยแรงปะทะสั่นสะเทือนไปทั่ว”

ขณะนั้น (ปี 2553) Carrefour เครือข่ายค้าปลีกแห่งฝรั่งเศสในประเทศไทยประกาศขายกิจการ เกิดปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้น เมื่อ ปตท.ประกาศเข้าร่วมประมูล ท่ามกลางรายใหญ่ๆ หลายรายร่วมวง ไม่ว่าเซ็นทรัล ทีซีซี และซีพี แรงกดดันถาโถมหลายทางมายัง ปตท. ในที่สุด ปตท.ต้องประกาศถอนตัว โดยระบุว่า

“เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของ ปตท. หลายรายมีความเห็นว่า ปตท.ไม่ควรเข้าไปประมูลแข่งขันในครั้งนี้”

 

แม้ว่าต่อมา Big C (ขณะนั้นเป็นของ Casino แห่งฝรั่งเศส) ชนะการประมูลซื้อและควบรวมกิจการ Carrefour ในประเทศไทย (ปลายปี 2553) ทว่าในที่สุดกลุ่มทีซีซีได้เข้าซื้อเครือข่าย Big C ในประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง (ปี 2559) ถือเป็นการพลิกโฉมธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ให้ครึกโครม เข้มข้นขึ้น เมื่อกลุ่มทีซีซีเข้ามาอย่างเต็มตัว

กรณี Central village ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงวิงกลุ่มเซ็นทรัล สยามพิวรรธน์ กับ Siam Premium Outlets จะตามมาในไม่ช้า ย่อมมีคิง เพาเวอร์ อยู่ในภาพอ้างอิง คงเพิ่มดีกรี “ครึกโครม เข้มข้นขึ้น” อีกมาก

ท่ามกลางสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยเผชิญความท้าทายมากขึ้นเสียด้วย