บาทก้าว นิพพาน ตามนัย ท่านพุทธทาสภิกขุ ดับอยู่ เย็นอยู่ สงบ

คอลัมน์ ดังได้สดับมา โดย วิเวกา นาคร

การนำเสนอข้อโต้แย้งระหว่าง บุญมี เมธางกูร ผู้ศึกษา “พระอภิธรรม” อย่างพิสดาร กับ แนวทางของท่านพุทธทาสภิกขุ

มีความสำคัญและทรงความหมาย

สำคัญเพราะมิได้เป็นเรื่องของ “จิตว่าง” เพียงอย่างเดียว ตรงกันข้าม ยังโยงให้เห็นความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์ไปยังคำว่า “นิพพาน” ด้วย

“จิตว่าง” เป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว

“นิพพาน” ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่อย่างชนิด “มหึมา”

เพราะว่า “นิพพาน” คือ จุดที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บรรลุถึง และเป็นความปรารถนาอย่างยิ่งยวดของผู้เดินตามแนวทางของพระองค์

เพียงแต่เรื่องนี้ไม่มีใคร “อธิบาย” ได้อย่างแจ่มแจ้งเท่านั้นเอง

ท่านพุทธทาสภิกขุเอง เมื่อกล่าวถึง “นิพพาน” ท่านเสนอเอาไว้หลายระดับ นิพพานหมายถึงเย็นหรือดัง เย็นลงเหมือนกับที่ไฟเย็นลง หรือของร้อนๆ อะไรก็ตามมันเย็นลง นั่นแหละคืออาการของนิพพานล่ะ

ถ้าพวกแม่ครัวพูดอยู่ในครัวก็พูดว่า “ข้าวเดี๋ยวนี้นิพพานได้ที่พอที่จะกินได้” แล้วเหมือนกับที่เราพูดว่า “เดี๋ยวนี้ข้าวมันเย็นลงพอจะกินโดยสะดวกแล้ว”

คำมันคำคำเดียวกันอย่างนี้

หรือข้าวต้มที่ยกลงมาจากไฟทั้งหม้อนี้มันยังกินไม่ได้ มันยังต้องรอจนกว่ามันจะนิพพานลงๆ จนได้ที่มันถึงจะกินได้

แล้ว ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ว่าอย่างไร จำเป็นต้องอ่าน

 

แท้ที่จริงแล้วท่านได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง “อนุสัย” ที่เป็นกิเลสแฝงไว้ในคำอธิบายของท่านเกี่ยวกับพระสกทาคามี หรือพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาที่จะ “เกิดใหม่” อีกเพียงครั้งเดียวก่อนที่จะบรรลุนิพพาน

โดยที่ท่านได้ให้เหตุผลของการที่พระอริยบุคคลระดับนี้จะต้อง “เกิด” อีกครั้งหนึ่งเอาไว้ว่า

“สกทาคามีแปลว่า “ผู้ที่จะกลับมาเกิดอีกครั้งหนึ่ง” ซึ่งหมายความว่า พระสกทาคามีได้เข้าถึงวิถีทาง (สู่นิพพาน) ที่ถูกต้องแล้ว แต่เนื่องจากยังมีเชื้อของกิเลสเดิม (คืออนุสัย) บางอย่างเหลืออยู่ ท่านจึงยังคงหวนกลับมาย้อนรำลึกและนึกถึงภาวะความเป็นอยู่ของท่านอย่างปุถุชนคนหนึ่งอีกครั้ง”

ข้อถกเถียงอันเกี่ยวกับ “จิตเดิมแท้” บริสุทธิ์หรือเศร้าหมองอยู่โดยพื้นฐาน และ “จิตว่าง” ควรจะหมายถึงเฉพาะจิตรู้สำนึกอย่างที่ท่านพุทธทาสอ้าง

หรือควรจะหมายรวมถึงจิตที่ไร้ความรับรู้ด้วยอย่างที่บุญมีอ้างนั้น

เป็นมูลเหตุของความขัดแย้งเกี่ยวกับความหมายของ “นิพพาน” นี่เป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับระดับความบริสุทธิ์ของจิตที่บุคคลจะต้องพัฒนาไปให้ถึงก่อนที่จะกล่าวได้ว่าบรรลุถึง “นิพพาน” แล้วจริง

ถ้าเป็นอย่างที่บุญมีกล่าว คือ “นิพพาน” หมายถึงภาวะที่จิตปลอดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ซึ่งรวมแม้กระทั่ง “อนุสัย” ไว้ด้วยแล้ว การที่จะบรรลุภาวะจิตเช่นนั้นได้ย่อมจะต้องอาศัยความเพียรภาวนาทางจิตอย่างมาก

แต่ถ้าเป็นอย่างที่ท่านพุทธทาสกล่าว

คือ “นิพพาน” เป็นเพียงภาวะที่จิตรู้สำนึก ปลอดจากสิ่งเศร้าหมอง คือ เป็นภาวะ “จิตว่าง” แล้ว

ความหลุดพ้นในพระพุทธศาสนาก็ไม่เป็นเพียงภาวะที่ทั้งฆราวาสและบรรพชิตอาจเข้าถึงได้เท่านั้น แต่ยังเป็นภาวะทางจิตที่คนเราแต่ละคนสามารถรับรู้ได้ด้วยทุกครั้งที่เรา ไม่โลภ ไม่โกรธ และไม่หลง

 

ก่อนจะไปถึงประเด็นที่ ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ยกเรื่องของ “นิพพาน” มาถกแถลงกันอย่างพิสดาร มีความจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่อง “นิพพาน” จากท่านพุทธทาสภิกขุ

ท่านกล่าวไว้ใน “วิธีเลื่อนขั้นตัวเอง” ว่า

สิ่งที่เรียกว่า “นิพพาน” นั้นมีหลายชนิด โดยเฉพาะเมื่อกล่าวในความหมายที่กว้างที่สุดแล้วมีความหมายอย่างเดียวกันหมด

คือ ยังดับอยู่ เย็นอยู่ สงบอยู่ ไม่ทุกข์ไม่ร้อนแต่ประการใด

นี่เรียกว่านิพพาน เป็นไปในลักษณะชั่วคราวก็มี เป็นไปอย่างเด็ดขาดไม่กลับเดือดกลับร้อนอีกก็มี หรือว่าที่มันเป็นไปเองโดยบังเอิญก็มี หรือว่าเป็นเพราะเรารู้สึกตัวแล้วบังคับข่มไว้ก็มี

ดังนั้น จะต้องฟังกันให้ดีๆ ว่าสิ่งที่เรียกว่านิพพานนั้นคืออะไรกันแน่

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรียกว่านิพพานนั้นอย่างน้อยก็เป็นความไม่มีทุกข์ เป็นความดับแห่งทุกข์เสมอไป

ไม่ว่าจะเป็นนิพพานชนิดไหน

คือ ถาวร หรือไม่ถาวรก็ตาม เป็นไปเอง หรือว่าเรากระทำให้ปรากฏขึ้นก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน

คือ เย็น ไม่ร้อน และไม่ทุกข์

 

บทสรุปของท่านพุทธทาสภิกขุ จากบทว่าด้วย “ชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้” นิพพานไม่ใช่ความตาย นิพพานคือความไม่ตาย

แต่อยู่ที่นี่ เย็นเป็นสุข นั่นแหละคือนิพพาน

ไม่มีไฟ คือกิเลสเผา ให้เย็นเป็นสุขเป็นนิพพาน ไม่ใช่ความตาย นิพพานคือความไม่ตายและช่วยให้ไม่ตาย