‘ณัฏฐพล’ เร่งแก้ ‘หนี้สินครู’ จี้ครูปรับวิธีสอนให้ทันโลก

‘ณัฏฐพล’ เร่งแก้ ‘หนี้สินครู’ จี้ครูปรับวิธีสอนให้ทันโลก

เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่หอประชุมคุรุสภา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิด “วันคล้ายสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.” ครั้งที่ 16 ว่า คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและ สวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ถือเป็นหน่วยงานที่มีภาระกิจสำคัญที่ส่งเสริมความมั่นคงในวิชาชีพครู รองรับสวัสดิการและสวัสดิภาพของครู ซึ่งตนให้ความสนใจ เพราะการบริหารจัดการกองทุนต่างๆใน สกสค.มีเงินอยู่เป็นจำนวนมาก และจะทำอย่างไรถึงจะมีประสิทธิภาพ และมีผลตอบแทนสูงสุด โดยที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ทำให้เกิดปัญหา ตนพอทราบว่าใน สกสค.นั้นมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งตนจะพยายามให้ความขัดแย้งที่มีอยู่ลดลง แต่มั่นใจว่าถ้าทุกคนตั้งใจทำงานด้วยกันปัญหาทุกอย่างสามารถก้าวข้ามผ่านไปได้

รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า ครูทุกคนต้องต่อยอดในสิ่งที่มี นอกจากการต่อยอดแล้ว ครูทุกคนต้องมาดูว่าการศึกษาไทย มีสิ่งใดบ้างที่เป็นปัญหาต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้การศึกษาไทยดีขึ้น ตนอยากให้ครูที่ได้รับรางวัลพระพฤหัสบดี และรางวัลปิยชนน์ คนการศึกษา นำผลงานที่ตนได้รับรางวัลออกเผยแพร่ให้กับครูคนอื่น เพื่อพัฒนาเด็กต่อไป และถือเป็นการสร้างความสามัคคีในโรงเรียน สังคม และประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงการศึกษาอาจจะยาก และบางสิ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำประเทศไม่มีทางพัฒนา ในศตวรรษที่ 21 นี้ ครูทุกคนต้องกล้าที่จะเปลี่ยนตัวเอง ปรับวิธีการสอน และต้องกล้าที่ต้องยอมรับว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปจะสอนแบบเดิมไม่ได้ เพราะเยาวชนอายุ 1-18 ปี คือคนที่จะแบกประเทศต่อไปในอนาคต ถ้าเราไม่สร้างให้เยาวชนแข็งแกร่ง ต่อไปพวกเขาจะไม่สามารถแบกประเทศได้ ครูต้องสร้างทักษะให้เยาชน มอบความรู้ที่ทำให้นักเรียนสามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้ ไม่ใช่แค่ใช้หนุ่งยนต์เป็นเท่านั้น และเยาวชนในอนาคตต้องมีความยืดหยุ่น ปรับตัวทันต่อทุกสถานการณ์

“เรื่องการศึกษาและการพัฒนาคน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างที่สุด ผมเข้ามาทำงาน 40 วัน ได้วางแผนพัฒนาและสร้างขวัญกำลังใจให้ครูหลายอย่าง เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาพื้นฐานของปัญหาคืออะไร เรื่องหนี้สินอาจจะมาจากความเข้มงวดในการปล่อยเงินกู้ยืมในทุกภาคส่วน บางคนอาจมีหนี้สิ้นเกินตัว ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้ชีวิต เป็นต้น รวมทั้งเรื่องวิทยฐานะที่มีปัญหาอยู่ ยอมรับว่าอาจไม่ทันสมัย ไม่ทันกับสิ่งที่โลกต้องการในปัจจุบัน ที่ต้องการให้ครูอยู่ในห้องเรียนมากขึ้น ซึ่งวิธีการสร้าง ประเมิน และวัดผลงานมีอยู่หลายวิธี ผมมั่นใจว่าศธ.มีทีมงานที่สามารถคิดวิธีการสร้าง และประเมินผลงานใหม่ได้ แต่ในอดีตอาจไม่กล้าตัดสินใจเพราะต้องรื้อระบบอยู่พอสมควร แต่ถ้าสามารถสื่อสารให้ครูเข้าใจในการปรับเปลี่ยนวิธีการขอและเลื่อนวิทยฐานะ น่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับครูได้ ขณะเดียวกันเราต้องไปดูปัญหาของครูที่ยื่นขอเลื่อนวิทยฐานะแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ว่าเกิดจากอะไร เพื่อหาทางแก้ไขด้วย” นายณัฏฐพล กล่าว