วิเคราะห์ : “เผาป่าแอมะซอน” ผลประโยชน์ของประเทศ บนหายนะของโลก

มีเหตุผลเพียงประการเดียวเท่านั้นที่ทำให้เหตุการณ์เผาป่าแอมะซอน ผืนป่าดงดิบใหญ่ที่สุดในโลกเกิดความหายนะอย่างต่อเนื่อง นั่นคือกลุ่มทุนบราซิลต้องการโค่นป่าแผ้วถางทางพื้นที่เพื่อเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำเหมืองแร่ และโรงงานแปรรูปไม้

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีความเสียหายย่อยยับมากเท่าไหร่ แต่ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร แห่งบราซิลก็ไม่แยแส เพราะมีแนวคิดว่าป่าแอมะซอนควรนำมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

บรรดานักธุรกิจซึ่งเห็นเงินเป็นเรื่องใหญ่ต่างร่วมสนับสนุนแนวคิดของผู้นำบราซิลคนนี้

ขณะที่กลุ่มผู้นำเศรษฐกิจโลก จี 7 อย่างเช่นนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส พยายามกดดันอย่างหนักให้นายโบลโซนาโรแสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์เผาป่าแอมะซอน พร้อมกับหยิบยื่นเงินก้อนใหญ่กว่า 600 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือแก้ปัญหาไฟป่า

ผู้นำบราซิลซึ่งมีแนวคิดขวาจัดและเมินเฉยกับการทำลายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าแอมะซอนซัดกลับนายมาครงว่ากำลังดึงประเทศบราซิลกลับไปเป็นอาณานิคม

แต่ไม่รู้ว่าเพราะเหตุอะไร จู่ๆ นายโบลโซนาโรเปลี่ยนใจยอมรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษและออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่บราซิลเกือบครึ่งแสนนายเข้าไปสกัดไฟป่าแอมะซอน

 

ตั้งแต่นายโบลโซนาโรเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ มีไฟป่าเกิดขึ้นในแอมะซอนมากถึง 73,000 จุด

เทียบกับปีที่แล้ว ไฟป่าแอมะซอนมีมากขึ้น 83 เปอร์เซ็นต์

เปลวเพลิงที่โหมกระพือเหนือผืนป่าแอมะซอน มองเห็นด้วยตาเปล่าจากบนท้องฟ้า

ควันไฟพัดปลิวว่อนมาถึงเมืองเซาเปาโล ระยะทางห่างกันเกือบ 3,000 กิโลเมตร ควันทำให้เมืองทั้งเมืองมืดมิดทั้งที่เป็นเวลาแค่บ่ายสองโมง

นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า ควันไฟลุกโชนเหนือท้องฟ้าบราซิล มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 140 ล้านเมตริกตัน หรือเท่ากับรถยนต์ 22 ล้านคันปล่อยควันพิษออกจากปลายท่อ

 

ป่าแอมะซอนได้ชื่อว่าเป็นปอดของโลก มีต้นไม้ใหญ่น้อยครอบคลุมพื้นที่กว่า 7 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนให้กับโลกมากถึง 20% ของปริมาณออกซิเจนทั้งหมด อีกทั้งเป็นแหล่งเก็บซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลเอาไว้ช่วยชะลอปัญหาโลกร้อน

นักวิทยาศาสตร์เอาข้อมูลภาพถ่ายทางดาวเทียมมากางดู พบว่าทุกๆ 1 นาที ชาวบราซิลบุกรุกทำลายผืนป่าแอมะซอนราว 7,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่าสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน

เมื่อมีการโค่นเผาทำลายป่าแอมะซอนในบราซิลอย่างมโหฬารเช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงพากันตื่นตระหนก เกรงว่าความชุ่มชื้นในพื้นที่จะหายไป

กระบวนการดูดซับก๊าซพิษจากชั้นบรรยากาศโลกเกิดภาวะชะงักงัน มีผลต่อการหมุนเวียนของอากาศในชั้นบรรยากาศ

มีผลต่อกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และแอตแลนติก

กระบวนการชะงักงันเหล่านี้นำไปสู่สภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศโลกที่วิปริตยิ่งขึ้น

 

อย่างที่รู้กันว่า พื้นที่ป่าแอมะซอนอยู่ในประเทศบราซิลถึง 60% นอกนั้นอยู่ในพื้นที่ของประเทศโบลิเวีย โคลอมเบีย เอกวาดอร์ กายอานา เปรู ซูรินาม และเวเนซุเอลา

ถ้าบราซิลยังเดินหน้าลุยทำลายป่าแอมะซอนอย่างไม่บันยะบันยังตามแนวคิดของผู้นำคนใหม่นี้ มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโลก เพราะตั้งแต่ปี 2547 บราซิลบุกรุกป่าแอมะซอนอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2555 สภาพพื้นที่ที่ถูกทำลายราว 80%

ในช่วงระหว่างนั้นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุกฮือขึ้น รณรงค์ปลุกกระแสต่อต้านการทำลายป่าและเรียกร้องให้รัฐบาลบราซิลใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงชาวโลกร่วมกันบอยคอตสินค้าของบราซิลที่เพาะปลูกหรือเลี้ยงในพื้นที่ป่าแอมะซอนที่ถูกบุกรุกทำลาย เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด เนื้อวัว เนื้อไก่

กระแสคัดค้านแผ่กว้าง มีสถาบันการเงินใหญ่ในยุโรปร่วมแจมด้วยการออกกฎกติกาไม่ปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มทุนของบราซิลที่ละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือสมคบคิดกับกลุ่มทำลายป่าแอมะซอน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลบราซิลให้ความร่วมมือใช้กฎหมายเข้มงวด

ผลการรณรงค์ การบอยคอต และการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในช่วงเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2556-2561 สถิติการบุกรุกทำลายป่าแอมะซอนลดลงอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งนายโบลโซนาโรก้าวมาเป็นผู้นำบราซิล กลุ่มทุนรุกคืบป่าแอมะซอนอีกครั้ง เพราะผู้นำคนนี้ให้ท้าย

 

นายนิเกล ไซเซอร์ แกนนำกลุ่มพันธมิตรป่าฝน แฉพฤติการณ์ของนายโบลโซนาโรว่า เป็นผู้สนับสนุนให้นายทุนบราซิลบุกเข้าไปในป่าแอมะซอนซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ เพื่อทำลายสภาพป่า ทั้งโค่นต้นไม้ เผาป่า และเอารถแทรกเตอร์เข้าไปเกลี่ยดิน ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์

“โบลโซนาโร” โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ซัดกลับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่าเป็นพวกขัดขวางความเจริญของบราซิล ร่วมมือกับพวกตะวันตกใช้สงครามข้อมูลข่าวสารเพื่อโจมตีทำลายรัฐบาลบราซิล

แถมยังกล่าวหาอีกว่า เอ็นจีโอนั่นแหละเป็นคนจุดไฟเผาป่าหวังทำลายภาพลักษณ์ผู้นำ

เจ้าหน้าที่คนไหนไม่ยืนข้าง “โบลโซนาโร” กำจัดออกไปทันที อย่างเช่นสั่งปลดผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอวกาศของบราซิลพ้นจากตำแหน่ง เพราะโชว์ภาพถ่ายทางอากาศเปรียบเทียบข้อมูลการบุกรุกทำลายป่าก่อนและหลังนายโบลโซนาโรเข้ามาเป็นผู้นำ

ผู้นำไร้สำนึกด้านสิ่งแวดล้อมที่ไหนๆ ต่างก็มีพฤติกรรมเหมือนๆ กันอย่างนี้แหละ