เศรษฐกิจ / ครัวเรือนไทยติดกับดักหนี้ รบ.พึงระวังใช้มาตรการกระตุ้น ดูไม่ดี…ปัญหาจะวนกลับซ้ำเติม ศก.ซบยาว

เศรษฐกิจ

 

ครัวเรือนไทยติดกับดักหนี้

รบ.พึงระวังใช้มาตรการกระตุ้น

ดูไม่ดี…ปัญหาจะวนกลับซ้ำเติม ศก.ซบยาว

 

ข้อมูลหนี้ครัวเรือนล่าสุด จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2562 พบว่ามีมูลค่ารวมราว 13 ล้านล้านบาท

หรือคิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)

โดยปี 2561 จีดีพีมีมูลค่า 16.31 ล้านล้านบาท ซึ่งหนี้ครัวเรือนของไทยถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยเคยแตะระดับสูงสุดที่ 81.2% ต่อจีดีพีในปี 2558 ก่อนจะชะลอตัวลงมาบ้าง

และพบว่า ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นหนี้ครัวเรือนขยับเพิ่มขึ้น

และหนี้ครัวเรือนระดับปัจจุบันถือว่าสูงที่สุดในรอบ 9 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2560

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนไทยยังสูงเป็นอันดับ 2 เทียบกับประเทศเอเชีย 22 ประเทศ รองจากเกาหลีใต้ ที่หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 94.8% ของจีดีพี

ขณะที่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีต่ำกว่าไทย

และไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นลำดับที่ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงสุด คือ ออสเตรเลีย คิดเป็น 128% ของจีดีพี

ส่วนเนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ก็มีระดับหนี้ครัวเรือนสูงที่ 107.6% ต่อจีดีพี และ 103.8% ต่อจีดีพี ตามลำดับ

 

แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของแต่ละประเทศจะไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยตรง

แต่การที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงย่อมไม่ส่งผลดีต่อครัวเรือนและเศรษฐกิจของประเทศ

เนื่องจากการบริโภคใหม่จะถูกจำกัด เพราะต้องนำรายได้ไปชำระหนี้ก่อน ในส่วนของครัวเรือนไทย ยังมีข้อมูลจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ศึกษาข้อมูลจากบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนไทยติดกับดักหนี้ และมีหนี้สินล้นพ้นตัว

โดยคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น คือเริ่มก่อหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และกว่า 20% ของผู้กู้ในช่วงอายุ 29 ปีกลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล)

ข้อมูลจากงานวิจัยฯ ยังพบว่า ครัวเรือนไทยเป็นหนี้เยอะขึ้น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณหนี้สินต่อหัวสูงรวมทุกประเภทสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 377,109 บาท เพิ่มเป็น 552,499 บาท

และเป็นหนี้นานขึ้น คือภาระหนี้ไม่ได้ลดลงนักแม้ผู้กู้จะย่างเข้าสู่วัยเกษียณ มีความเสี่ยงกรณีที่รายได้ที่มาจากเงินบำนาญ หรือเงินออมสะสมอาจจะไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้

นอกจากนี้ ยังพบว่า 80% ของการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยมาจากผู้กู้รายเดิม

อีกทั้งมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระที่เพิ่มขึ้นจากการมีหนี้หลายประเภท

โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่ออเนกประสงค์ต่างๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายแต่มักมีภาระในการผ่อนชำระต่อเดือนค่อนข้างสูงมาก

 

แม้ว่าขณะนี้หนี้ครัวเรือนของไทยจะยังต่ำกว่าระดับที่เคยสูงที่สุด และยังถือว่าต่ำกว่าระดับ 84% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นข้อมูลที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ได้ศึกษามูลหนี้ของประเทศต่างๆ หากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเกินระดับดังกล่าวจะมีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ

ขณะที่หากยังต่ำกว่าจะยังมีผลกระทบในทางบวกหรือมีส่วนช่วยในการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้

แต่ในระยะยาวจะส่งผลต่อการบริโภคในประเทศและการขยายตัวเศรฐกิจ

โดยหนี้ครัวเรือนที่ปรับขึ้น 1% จะทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจลดลง 0.1% หากระดับหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 70% ต่อจีดีพีขึ้นไป

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนขณะนี้จึงเป็นเรื่องที่ สศช.ระบุว่าต้องติดตามทั้งอัตราเร่งของการเพิ่มขึ้นในแต่ละไตรมาส รวมทั้งติดตามคุณภาพสินเชื่อในระยะต่อไป

 

ท่ามกลางสภาวะที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกสะท้อนจากการเติบโตจีดีพีที่ชะลอลง

โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ขยายตัว 2.8% และไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ขยายตัวเพียง 2.3%

ขณะเดียวกันรายได้ครัวเรือนอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

ความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้างในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากอัตราการว่างงานจากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนกรกฎาคม 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้ว่างงาน 4.36 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ 1.0% และมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 5.4 หมื่นคน

หากเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน พบว่า จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 7.3 หมื่นคน อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อนเป็น 1.1% จึงอาจจะเกิดโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ และกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้

เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความกังวลสถานการณ์ดังกล่าวและได้พยายามมีการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะเห็นสัญญาณคุณภาพหนี้ที่ด้อยลง และมีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) มากขึ้น

เมื่อกลายเป็นเอ็นพีแอล ผู้กู้ก็จะเสียเครดิต ทำให้หากจะกู้สินเชื่อในอนาคตจะทำได้ยากขึ้น

ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อและอาจทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ที่แม้ว่าจะเข้าถึงได้ง่ายแต่อัตราดอกเบี้ยก็คิดในระดับที่สูงมาก

 

สําหรับ ธปท.มองว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาทางโครงสร้างของสังคมไทยที่ต้องเร่งแก้ไข มีการดำเนินการในหลายรูปแบบ ทั้งโครงการคลินิกแก้หนี้ การออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อต่างๆ เช่น การจำกัดบัญชีและวงเงินในส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค การปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (มาตรการแอลทีวี) มีนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสมเพื่อลดโอกาสและการกระตุ้นให้ครัวเรือนกู้หนี้เกินตัว

และ ธปท.ยังร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อกำหนดมาตรฐานกลางในการคำนวณภาระผ่อนชำระหนี้เทียบกับรายได้ (ดีเอสอาร์) เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นมาตรฐานกลาง และได้ผลักดันให้สถาบันการเงินนำหลักการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบไปใช้ โดยลูกหนี้ต้องมีเงินเพียงพอสำหรับดำรงชีพหลังชำระหนี้แล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ภาครัฐอาจจะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการที่จะให้เห็นผลเร็วต่อเศรษฐกิจ คือ การกระตุ้นการบริโภค

ทั้งนี้ แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของ ธปท.จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.75% ลงมาอยู่ที่ 1.50% แต่ก็ออกมาส่งสัญญาณเตือนว่าดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่ควรระมัดระวังการกระตุ้นให้ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน

นอกจากนี้ สถานการณ์ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมในขณะนี้ ภาครัฐอาจจะมีมาตรการช่วยเหลือผ่านการให้สินเชื่อซึ่งทำให้ครัวเรือนต้องมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก

แม้จากการประเมินของ สศช.ปีนี้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะไม่ถึงระดับ 80%

แต่การที่ครัวเรือนมีหนี้สูงย่อมทำให้เกิดความเปราะบางต่อทั้งการบริโภคและการชำระหนี้

หากปัญหาลุกลามจะกระทบวนไปแบบลูกโซ่ กระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและเศรษฐกิจ

    ในที่สุด…ทําให้เศรษฐกิจไทยซบเซาเป็นระยะเวลานานได้