พณ.แนะจับตาใกล้ชิด ผลกระทบจีนการปลูก”ทุเรียน”กินเอง

นางสาววรรณลดา รัตนพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานได้มีการติดตามการเพาะปลูกทุเรียนในมณฑลไหหลำ พบว่าการทดลองปลูกทุเรียนประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก โดยมีบริษัทเอกชนทดลองนำต้นทุเรียนพันธุ์ Sanno จำนวน 20 ต้นจากประเทศมาเลเซียมาทดลองปลูกที่เมืองซานย่า มณฑลไหหลำ และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ทั้งนี้ นาย Feng Xuejie ประธานของสถาบันวิจัยต้นผลไม้ฤดูร้อนของมณฑลไหหลำ แสดงความเห็นว่า เกษตรกรยังไม่ควรจะรีบเร่งนำต้นกล้าไปปลูก เพราะขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการทดลองสายพันธุ์ และจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภูมิอากาศที่เหมาะสม เพราะการปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และระยะเวลาในการลงทุนปลูกทุเรียนจนถึงสามารถเก็บเกี่ยวได้ต้องใช้เวลาประมาณ 4-8 ปี ตามความแตกต่างของสายพันธุ์ รวมทั้งต้นทุเรียนเป็นไม้ใหญ่ ต้องใช้พื้นที่ในการเพาะปลูก ขณะที่ผลผลิตต่อพื้นที่มีจำนวนน้อย ทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูง จึงคาดว่าแม้มณฑลไหหลำจะปลูกทุเรียนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสำเร็จ แต่ราคาก็ไม่น่าจะต่ำกว่าราคาทุเรียนในปัจจุบันมากนัก

นางสาววรรณลดา กล่าวว่า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรของมณฑลไหหลำ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในความเป็นจริง มณฑลไหหลำได้มีการปลูกทุเรียนมาหลายสิบปีก่อน แต่ผลผลิตที่ได้ต่ำ รสชาติไม่ดีมาก จึงไม่ได้เพาะปลูกอย่างแพร่หลาย และในปัจจุบัน แม้จะประสบความสำเร็จในการทดลองปลูกทุเรียนที่นำพันธุ์จากมาเลเซียมาทดสอบ แต่การนำต้นกล้าทุเรียนมาปลูกในพื้นที่นอกแปลงทดลอง ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมสภาพปัจจัยทางภูมิอากาศได้เหมือนในพื้นที่แปลงทดลอง

” แม้มณฑลไหหลำจะยังไม่สามารถผลิตทุเรียนเข้าตลาดได้อย่างจริงจัง แต่หากมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการคัดพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรกรรมจริง ทุเรียนที่ผลิตจากมณฑลไหหลำอาจสามารถเข้ามาแย่งตลาดทุเรียนสดในจีนได้ ซึ่งผู้ส่งออกทุเรียนของไทยต้องรักษาคุณภาพของสินค้าว่าทุเรียนไทยเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม รสชาติดี คุณภาพสูง เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในจีนเอาไว้ โดยปัจจุบัน ทุเรียนสดในตลาดจีนส่วนมากนำเข้าจากไทย มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 80%” นางสาววรรณลดา กล่าว

มติชนออนไลน์