วิรัตน์ แสงทองคำ : ธุรกิจสิงคโปร์ในประเทศไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ความเคลื่อนไหวเครือข่ายธุรกิจสิงคโปร์ในประเทศไทยมีความหมาย หลากหลายกว่าที่คิด

มิใช่แค่กรณี Temasek กับบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (ชื่อย่อในตลาดหุ้น-INTUCH) เชื่อมโยงมาถึงบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (คำย่อตลาดหุ้น-ADVANC เครื่องหมายการค้า AIS) ซึ่งผู้คนสนใจเนื่องด้วยเครือข่ายธุรกิจสิงคโปร์เข้ามามีบทบาทในการบริหารอย่างเต็มตัวในธุรกิจสื่อสาร เกี่ยวพันผู้คนจำนวนมาก บางช่วง บางเวลา มีผู้คนตั้งคำถามกัน

ความเป็นจริง ประเด็นสถาบันลงทุนสิงคโปร์กับการปรับพอร์ตการลงทุนในประเทศไทย (ในกรณีนี้มักจะเป็นการขายหุ้นออก) มีขึ้นเป็นระยะๆ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

เรื่องราวที่ผู้คนสนใจกันมากเวลานี้ เป็นไปได้ว่าเกี่ยวกับมุมมองว่าด้วยทิศทางและแนวโน้มสถานการณ์ สะท้อนผ่านความเคลื่อนไหวที่ดูต่อเนื่องของสถาบันการลงทุนระดับชาติสิงคโปร์

 

จากอีกกรณีหนึ่ง GIC PRIVATE LIMITED ถอนตัวการลงทุนในบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH อย่างสิ้นเชิงด้วยการขายหุ้นครั้งสุดท้าย สัดส่วนราว 7% ไปก่อนหน้าไม่นาน (เมื่อ 17 มิถุนายน 2562)

ทั้งๆ GIC เข้ามาลงทุนใน LH และกิจการเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว (ปี 2542 ลงทุนใน LH สัดส่วน 21.17% และปี 2544 ลงทุนในควอลิตี้เฮ้าส์ สัดส่วน 20%) ในช่วงเวลาที่สังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ครั้งร้ายแรง

“กรณีแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ถือเป็นครั้งแรกๆ ของ GIC (Government of Singapore Investment Corporation Pte Ltd) ในการเข้ามาลงทุนในเมืองไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว” ผมเองเคยว่าไว้เมื่อปี 2545 ผ่านมานานทีเดียวกว่า GIC จะถอนการลงทุนอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ปี 2560 นี้เอง ว่าไปแล้วเป็นการถอนตัวอย่างมีจังหวะ และได้รับผลตอบแทนการลงทุนอย่างน่าพอใจ

GIC (Government of Singapore Investment Corporation Pte Ltd) หนึ่งในสาม (รวมทั้ง Temasek และ Monetary Authority of Singapore หรือ MAS) หน่วยลงทุนรัฐบาล มุ่งมองการลงทุนในระยะยาว มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัฐบาลสิงคโปร์ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว โดยเฉพาะกับ Temasek หน่วยลงทุนสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่มีบทบาทในเมืองไทยอย่างน่าตื่นเต้นทีเดียว ถือได้ว่า GIC มีแนวทางอนุรักษนิยมกว่า และดูมีสีสันน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองหน่วยลงทุนสำคัญของสิงคโปร์มีแนวทางในทำนองเดียวกัน สอดคล้องกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความพยายามปรับ Portfolio การลงทุน จากเน้นหนักในซีกโลกตะวันตก (ถูกวิจารณ์ว่าขาดทุนไปมากในหลายกรณี) มาสู่โลกตะวันออกในฐานะตลาดเกิดใหม่มากขึ้น

เท่าที่พิจารณาข้อมูลปัจจุบัน GIC ให้ความสำคัญสหรัฐอเมริกาพอๆ กับเอเชีย ส่วน Temasek ให้ความสำคัญกับยุโรปพอๆ กับจีน

 

เรื่องราวนั้นน่าสนใจ ย้อนเชื่อมโยงไปถึง Lee Kuan Yew อดีตผู้นำที่ทรงอิทธิพลของสิงคโปร์ ผู้ผลักดันให้ธุรกิจสิงคโปร์สู่โลกภายนอก เคยเป็นประธานกรรมการ GIC มานาน ลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อปี 2554 แต่เป็น SENIOR ADVISOR อยู่จนกระทั่งถึงแก่กรรม

แล้วบุตรชาย-Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน ท่ามกลางกรรมการส่วนใหญ่อยู่ในภาครัฐบาล ส่วน Temasek คณะกรรมการและผู้บริหารส่วนใหญ่มักประกอบไปด้วยผู้มีประสบการณ์จากภาคธุรกิจ โดยมี Ho Ching ภรรยาของนายกรัฐมนตรี Lee Hsien Loong เป็นผู้บริหารคนสำคัญ

ขณะอีกด้าน ความเป็นไปเครือข่ายธุรกิจสิงคโปร์โดยตรง เปิดฉากคู่ขนานกันอย่างคึกคัก ในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้วที่ว่า จากนั้นได้ดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น ดูเป็นแผนการ เป็นยุทธศาสตร์ ลงลึก วางรากฐาน มีความสัมพันธ์อย่างเข้าใจสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวข้องกับกิจการธนาคารและตลาดหุ้น

ช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย ในปี 2541-2542 ระบบธนาคารไทยเผชิญแรงบีบคั้นอย่างหนัก ต้องเปิดให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาเป็นครั้งแรกในรอบครึ่งศตวรรษ

DBS Bank ธนาคารใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ ถือหุ้นใหญ่โดย Temasek มาเป็นรายแรก เข้าซื้อกิจการธนาคารไทยทนุอย่างเร่งรีบก่อนรายอื่นๆ ขณะธนาคารอันดับสองของสิงคโปร์ United Overseas Bank หรือ UOB เข้าซื้อกิจการธนาคารรัตนสิน (จากธนาคารแหลมทองอีกทอดหนึ่ง) ตามมาติดๆ ในปีถัดมา

ในช่วงแรกๆ นั้นมีธนาคารไทย 4 แห่งซึ่งถูกเทกโอเวอร์โดยธนาคารต่างชาติมีถึง 2 แห่งโดยธนาคารสิงคโปร์

ทว่าในช่วงต่อมาได้เผชิญความผกผันกันบ้าง ขณะที่ DBS Bank ค่อยๆ ลดบทบาทลง เมื่อธนาคารดีบีเอสไทยทนุได้ควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และธนาคารทหารไทย โดยใช้ชื่อธนาคารทหารไทย (ปี 2547) UOB กลับมีแผนการเชิงรุก เข้าเทกโอเวอร์ธนาคารเอเชีย ซื้อหุ้นต่อจาก ANB Amro Bank (Netherland) แล้วนำมาควบรวมกับธนาคารยูโอบีรัตนสิน กลายเป็น ธนาคารยูโอบี (ปี 2548) ที่มีขนาดและเครือข่ายอย่างที่ควร

ในที่สุด DBS Bank ได้ถอนตัวออกจากระบบธนาคารไทยอย่างสิ้นเชิงไปเมื่อปี 2550 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในธนาคารทหารไทย

ถือเป็นกรณีแรกๆ ที่เครือข่าย Temasek ถอนการลงทุนจากเมืองไทย กรณีนั้นมีเสียงวิจารณ์ในเชิงลบตามมาอยู่บ้างในสิงคโปร์

 

อย่างไรก็ตาม DBS ยังมีบทบาทสำคัญในตลาดหุ้นไทยต่อไปอย่างแข็งขัน “บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DBSV เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการซื้อขายหลักทรัพย์แก่ลูกค้าสถาบันและลูกค้าบุคคล ซึ่งถือหุ้น 100% โดยกลุ่มธนาคารดีบีเอส ประเทศสิงคโปร์” (https://www.dbsvitrade.com)

มาจากแผนการแรกเริ่ม เมื่อ DBS เข้าซื้อหุ้นข้างมากในบริษัทหลักทรัพย์ศรีธนาของตระกูลศรีวิกรม์ (กลางปี 2541) ก่อนหน้าดีลธนาคารไทยทนุในปลายปีเดียวกันนั้น

ยังไม่ทันตั้งหลัก กิจการต้องถูกสั่งปิดไปพร้อมกับไฟแนนซ์ 56 แห่ง แต่ DBS ได้ประมูลสินทรัพย์ เข้าซื้อกิจการ DBS กลับมาได้อีกครั้ง

ไม่ได้หยุดแค่นั้น ในปี 2544 ได้ซื้อกิจการนายหน้าค้าหุ้นรายใหญ่ในสิงคโปร์-Vickers Ballas หรือ VB ซึ่งมีกิจการในเมืองไทย (ซื้อหลักทรัพย์ของนวธนกิจในช่วง 2541-2542 เปลี่ยนชื่อเป็นนววิคเคอร์บัลลาส)

“DBSV เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยได้รับอนุญาตอย่างเต็มรูปแบบในการดำเนินงานธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทย และยังมีเครือข่ายในต่างประเทศที่ให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และยังมีสำนักงานอยู่ในประเทศมาเลเซีย เซินเจิ้น นิวยอร์ก และลอนดอน”

(อ้างแล้ว)

 

UOB เครือข่ายธนาคารสิงคโปร์ในประเทศไทยที่แท้จริงที่เหลืออยู่ดำเนินกิจการอย่างเป็นจังหวะก้าว

“ธนาคารประกอบธุรกิจหลักด้านการธนาคารพาณิชย์ทุกประเภทตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์และประกาศที่เกี่ยวข้อง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 ธนาคารมีสาขาอยู่ทั่วภูมิภาคในประเทศ 154 สาขา” ข้อมูลในปี 2548 เป็นช่วงเวลาหลังควบรวมธนาคาร “สินทรัพย์มูลค่ารวมกว่า 216 พันล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2551” ข้อมูลอีกช่วงหนึ่งเมื่อผ่านไปพักใหญ่

ล่าสุด “ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ มีเครือข่ายทั่วประเทศ 154 สาขา และเครื่องเอทีเอ็ม 393 เครื่อง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561…” (จากรายงานประจำปี 2561)

เมื่อพิจารณาขนาดสินทรัพย์ในประเทศไทย ปรากฏว่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงเพียง 5 ปี เป็นกว่า 5 แสนล้านบาท แต่เครือข่ายสาขามิได้ขยายตัวแต่อย่างใด เป็นไปได้ เป็นไปตามแผนในฐานะ “ชิ้นส่วน” ของภาพใหญ่ ซึ่งนำเสนอไว้ว่า “นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2478 กลุ่มธนาคารยูโอบี ประเทศสิงคโปร์ เติบโตอย่างมั่นคงสู่เครือข่ายที่แข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และจีน จวบจนถึงวันนี้ กลุ่มธนาคารยูโอบีมีเครือข่ายสำนักงานกว่า 500 แห่งใน 19 ประเทศ และเขตการปกครอง ทั้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยุโรปตะวันตก และอเมริกาเหนือ” (https://www.uob.co.th)

ทั้งนี้ UOB มีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมอย่างสำคัญถึงกิจการหลักทรัพย์ด้วย เปิดฉากขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับช่วงเวลาการสร้างเครือข่ายธนาคารในประเทศไทย นับเป็นแผนการเชิงรุกทำนองเดียวกัน

ในปี 2543 UOB ได้เข้าซื้อกิจการหลักทรัพย์จากบริษัทหลักทรัพย์มหาสมุทร เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี (ประเทศไทย) เพียงปีเดียวจากนั้นมีการรวมตัวกันทางธุรกิจระหว่าง UOB Securities และ Kay Hian Holdings Ltd ในสิงคโปร์ ตามแผนธุรกิจหลักทรัพย์เชิงรุกในระดับภูมิภาค UOB Kay Hian เข้าถือหุ้นเกือบ 100% ในกิจการในประเทศไทยพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทหลักทรัพย์ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)

พร้อมๆ กับซื้อธุรกิจรายย่อยจากบริษัทหลักทรัพย์บีเอ็นพี พาริบาส์ พีรีกรีน (ประเทศไทย) ด้วย

 

“UOB-Kay Hian Holdings Ltd ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เป็นบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนโดยมีบริษัทย่อยที่ดําเนินธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในสิงคโปร์ มีสํานักงานในประเทศฮ่องกง ลอนดอน นิวยอร์ก จาการ์ตา เซี่ยงไฮ้ และมะนิลา นอกจากนี้ ยังเป็นบริษัทในเครือของ UOB ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในสิงคโปร์ ที่มีสาขาในประเทศไทยคือธนาคารยูโอบี จํากัด (มหาชน) จากความสัมพันธ์และเครือข่ายที่กว้างขวางดังกล่าวทําให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้อย่างกว้างขวาง” (https://www.uob.co.th)

หากมองย้อนกลับไปในปี 2554 บทบาทในธุรกิจหลักทรัพย์ไทยของเครือข่ายธุรกิจสิงคโปร์ มีการปรับตัวครั้งใหญ่เมื่อ Kim Eng Holdings แห่งสิงคโปร์ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์อย่างเอาการเอาอย่างมากในประเทศไทยได้ตัดสินใจขายกิจการให้กับเครือข่ายธนาคารมาเลเซีย-Malayan Banking Berhad หรือ Maybank

การปรับตัวธุรกิจสิงคโปร์ดำเนินไปเป็นระยะๆ เป็นที่เข้าใจได้ ขณะเดียวกันเป็นเรื่องที่น่าเฝ้ามอง บางครั้ง บางกรณี อาจสะท้อนทิศทาง แนวโน้ม และสถานการณ์สำคัญ