ต่างประเทศ : วิกฤตไฟป่าแอมะซอน ทำไมจึงสำคัญ

วิกฤตการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในพื้นที่ป่าลุ่มน้ำแอมะซอน กลายเป็นประเด็นที่สร้างความไม่พอใจไปทั่วโลก

ไม่เพียงแต่เพราะป่าดิบชื้นแห่งนี้จะเต็มไปด้วยสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ภายใต้ระบบนิเวศน์อันซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

แต่มันอาจส่งผลให้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือไคลเมตเชนจ์นั้นทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

พื้นที่ “ป่าฝนแอมะซอน” หรือ “แอมะซอเนีย” เป็น “ป่าไม้ใบกว้างเขตอบอุ่น” ทอดตัวปกคลุมลุ่มน้ำแอมะซอน ที่ประกอบไปด้วยเครือข่ายแม่น้ำนับพันสาย มีพื้นที่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์อยู่ในประเทศบราซิล ตามมาด้วยเปรู 13 เปอร์เซ็นต์ โคลอมเบีย 10 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงบางส่วนในเวเนซุเอลา เอกวาดอร์ โบลิเวีย กายอานา ซูรินาเม และเฟรนช์กินี

ป่าขนาดใหญ่แห่งนี้นับเป็นป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ไคลเมตเชนจ์ จนได้รับฉายาว่า “ปอดของโลก”

ดังนั้น การอนุรักษ์ผืนป่าแอมะซอนจึงเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญในการต่อสู้กับสภาวะไคลเมตเชนจ์เป็นอย่างยิ่ง

หน่วยงานวิจัยอวกาศ ไอเอ็นพีอี ของบราซิล ระบุว่าสถานการณ์ไฟป่าโดยเฉพาะในประเทศบราซิลนั้นมีจำนวนพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2013 เป็นต้นมา โดยในปีนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 84 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2018 ที่ผ่านมา

ล่าสุดมีไฟป่าลุกลามขึ้นจำนวนเกือบ 80,000 จุดทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ราวครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง

โดย 8 จาก 9 รัฐในภูมิภาคแอมะซอนของบราซิล มีไฟป่าเพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะรัฐแอมะซอนาส มีไฟป่าเพิ่มขึ้นถึง 147 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ระบุว่าไม่เคยเห็นไฟป่าที่เลวร้ายเท่านี้มาก่อนในชีวิต

ไม่เพียงแต่บราซิลเท่านั้น ข้อมูลจาก “โกลบอล ฟอเรสต์ วอตช์” ยังแสดงให้เห็นประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอเมริกาใต้อย่างโบลิเวียก็เผชิญกับไฟป่ามากกว่า 17,400 จุด

ด้านปารากวัย ตอนใต้ของบราซิล ก็เกิดไฟป่าขึ้นราว 10,000 จุด ขณะที่โคลอมเบีย เพื่อนบ้านตอนเหนือมีไฟป่ามากถึง 14,000 จุดแล้ว

ขณะที่เวเนซุเอลาเกิดไฟป่ามากเป็นอันดับสองในปีนี้ มีจำนวนมากถึง 26,500 จุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศบราซิลเลยทีเดียว

ผลจากไฟป่ากินวงกว้างถึง 9,500 ตารางกิโลเมตร ส่งผลให้ควันไฟลอยปกคลุมทั่วทั้งภูมิภาคกินพื้นที่ถึงเกือบ 2 ล้านตารางกิโลเมตร โดยควันไฟลอยไปถึงท้องฟ้าเมืองเซาเปาโล ที่อยู่ห่างออกไปไกลถึง 3,200 กิโลเมตรเลยทีเดียว

สำหรับสาเหตุของการเกิดไฟป่านั้น นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนักวิจัยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า 99 เปอร์เซ็นต์นั้นเกิดจากฝีมือมนุษย์

มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

 

สาเหตุหลักนั้นเกิดจากการถางป่าและเผาเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับขายที่ดินให้เกษตรกรทำการเกษตรหรือทำฟาร์มปศุสัตว์ บวกกับในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาป่าแอมะซอนก้าวเข้าสู่ฤดูแล้ง ส่งผลให้ไฟลุกลามขยายวงกว้างไปได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้ยากที่จะควบคุม

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบุว่า การจุดไฟเผาป่าที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ผลมาจากนโยบายของนายชาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีบราซิล ที่ประกาศให้พัฒนาป่าแอมะซอนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ก่อการนั้นไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และนั่นทำให้อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในช่วง 7 เดือนแรก เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้นถึง 67 เปอร์เซ็นต์

ในช่วงแรก รัฐบาลบราซิลระบุว่า ปัญหาไฟป่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามปกติ ก่อนที่ประธานาธิบดีโบลโซนาโรจะระบุในเวลาต่อมากล่าวหาว่า วิกฤตไฟป่าครั้งใหญ่ครั้งนี้มีองค์กรไม่แสวงผลกำไร (เอ็นจีโอ) อยู่เบื้องหลังเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของตน โดยที่ไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ

โบลโซนาโรระบุว่า บราซิลนั้นไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะต่อสู้กับไฟป่าที่กินพื้นที่กว้างใหญ่อย่างแอมะซอนได้

แต่ขณะเดียวกันก็แสดงท่าทีชัดเจนไม่ให้ชาติต่างๆ เข้าแทรกแซง โดยมองว่าเงินช่วยเหลือจากต่างชาตินั้นมีเป้าหมายเพื่อกัดกร่อนอำนาจอธิปไตยของบราซิล

โดยล่าสุดบราซิลแสดงท่าทีในเรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลออกมาปฏิเสธไม่ยอมรับเงินช่วยเหลือจากกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และแคนาดา หรือจี 7 มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

กระแสแสดงความไม่พอใจกับการตอบสนองต่อวิกฤตไฟป่าแอมะซอนของรัฐบาลบราซิลเกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในบราซิล ประชาชนออกมารวมตัวกันบนท้องถนนเพื่อประท้วงรัฐบาล ในหลายสิบเมือง โดยในกรุงบราซิลเลีย และเมืองเซาเปาโล มีการปิดถนนจนการจราจรเป็นอัมพาต ขณะที่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีการรวมตัวกันประท้วงที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตบราซิลด้วย

ขณะที่ในโลกออนไลน์เกิดกระแส #PrayForAmazonas ที่ถูกทวีตขึ้นเทรนด์โลกในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีกระแสสนับสนุนประธานาธิบดีบราซิลเกิดขึ้นเช่นกันภายใต้ #TheAmazonWithoutNGOs ด้วย

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศระบุว่า เวลานี้ป่าแอมะซอนถูกทำลายไปแล้ว 15-17 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ป่าทั้งหมด โดยหากพื้นที่ป่าถูกทำลายถึง 20-25 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นการจุดชนวนให้เกิดการเสื่อมโทรมลงของป่าที่กินเวลา 30 ถึง 50 ปี ส่งผลให้คาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากถึง 200,000 ล้านตันถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ

เวลานั้น จะเป็นการยากยิ่งขึ้นที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียสเทียบกับช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม

แน่นอนว่าสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงแล้วในเวลานี้ คงไม่ยากที่จะจินตนาการผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อเวลานั้นมาถึง