E-DUANG : บทเรียน ถวายสัตย์ ปฏิญาณ การปรากฏขึ้นของ “สื่อใหม่”

ไม่ว่ากรณีอันเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณตน ไม่ว่ากรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทยในวงล้อมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่ากร ณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประกาศยุบพรรคประชาชนปฏิรูป

ถามว่าที่บานปลายกลายเป็นเรื่องที่ไม่ยอมจบลงอย่างง่าย ดายเกิดจากอะไร

บางคนอาจตอบว่าเพราะมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะมีการพูดเว่อ-เว่อจาก ส.ส.ที่ไปต้อนรับ และเพราะการยุบพรรคประชาชนปฏิรูปเป็นเรื่องของอภินิ หารทางกฎหมาย

แต่เมื่อสอบสาวเรื่องราวไปถึงบางรายละเอียดและต้นตอแล้วก็จะมองเห็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งที่ขาดไม่ได้

นั่นก็คือ การดำรงอยู่ผ่าน”คลิป” ผ่าน”ออนไลน์”

 

กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนหาก นายปิยบุตร แสงกนกกุล ไม่ได้ตรวจสอบผ่านคลิปข่าว”ราชสำนัก”เขาจะมีความมั่นใจถึงกับเสนอข้อท้วงติงผ่านที่ประชุมรัฐสภาหรือ

เพราะจาก”คลิปข่าวราชสำนัก”เมื่ออ่านมาตรา 161 ก็เด่นชัดว่ามีความผิดพลาด

คำถามก็คือ ผิดพลาดอย่างเจตนาหรือไม่เจตนา

ยิ่งกรณีการที่มี ส.ส.สุรินทร์ไปอยู่ในวงล้อมอันอบอุ่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะ หากเป็นรายงานของหนังสือพิมพ์ตามปกติก็จืดๆชืดๆไม่มีสีสันอะไร

แต่นี่เป็น”คลิป” มีทั้งภาพเคลื่อนไหวประกอบกับเสียงพูดชัดถ้อยชัดคำ

ขณะเดียวกัน กรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประกาศยุบพรรคที่ตั้งมากับมือมิได้มีความเห็นจากอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ปรากฎผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเท่านั้น หากบรรดาอดีตกกต. นักวิชาการ นักการเมืองอื่นก็แสดงความเห็นอย่างคึกคัก

ผ่านทั้ง”สื่อเก่า” และสื่อใหม่”ออนไลน์”

 

หากเป็นการเมืองในอดีต การถวายสัตย์ปฏิญาณตนก็อาจถูกมอง ข้ามไม่มีใครได้เห็น หรือเห็นก็ไม่ได้สังเกตหรือนำไปตรวจสอบจริงจังเหมือน นายปิยบุตร แสงกนกกุล

การปรากฏผ่านสื่อออนไลน์ ผ่านโซเชียลมีเดียต่างหากที่จำหลักอย่างหนักแน่น

เห็นทั้งภาพ ได้ยินทั้งเสียงท่ามกลางการเคลื่อนไหว

นี่คือบทบาทและความหมายของ”สื่อใหม่”ในทางการเมือง