ฉัตรสุมาลย์ : แปลงเพศบวชได้ไหม

ช่วงนี้ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีจัดการอบรมเรื่อง เพิ่มพลังสตรี อยู่ในโครงการพุทธสาวิกา ครั้งนี้ ครั้งที่ 79 จัดปีละ 3 ครั้ง จัดมาแล้ว 27 ปีค่ะ ตั้งแต่ท่านภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ครบ 84 ปี เป็นการเปิดตัวโครงการครั้งแรกเพื่อสร้างสตรีชาวพุทธที่มีความรู้ความเข้าใจในพุทธศาสนาให้มากขึ้น

ปีนี้ ขยับออกมานอกกรอบเดิม เชิญวิทยากรที่มีคุณวุฒิ เช่น คุณนัยนา สุภาพึ่ง นักกฎหมาย ดร.ชเจตตี ทินนาม อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้องค์ความรู้ทั้งด้านทฤษฎีและการทำเวิร์กช็อป มีผู้เข้าร่วม 26 รูป/คน

มีประเด็นที่อยากชวนคุยวันนี้ คือเรื่องผู้ที่แปลงเพศบวชได้ไหม

 

ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญที่เราจะมาทำความเข้าใจร่วมกันเสียก่อนว่า การบวชไม่ใช่เรื่องการเรียกร้องสิทธิเพื่อความเท่าเทียมกันทางเพศ

ในพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงเป็นศาสดาของโลกที่ออกมาเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงและชายมีความทัดเทียมกันในเรื่องโอกาสที่จะบรรลุธรรมก่อนศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น

การบรรลุธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา ไม่ต้องบวชก็บรรลุธรรมได้ ในความเป็นอริยสงฆ์นั้น แม้เป็นหญิง แม้เป็นอุบาสิกา หากบรรลุธรรมก็เป็นอริยสงฆ์ นี้คือความงามที่ไม่มีศาสนาใดในโลกในสมัยนั้น พร้อมเท่ากับพุทธศาสนาที่จะกล่าวเช่นนี้

สตรีที่เรียกร้องที่จะออกบวชนั้น ไม่ใช่เพราะต้องการมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชายในการออกบวชเป็นพระ

ตรงกันข้าม พระพุทธองค์ให้สิทธินี้ ไว้แต่แรกแล้ว ก่อนที่จะมีผู้หญิงขอออกบวชด้วยซ้ำ

เมื่อประดิษฐานพุทธบริษัท 4 ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นั้น ทรงคาดหวังว่า พุทธบริษัท 4 จะมีความรับผิดชอบในการศึกษาพระธรรมคำสอน น้อมนำไปปฏิบัติ

และหากมีคนนอกจ้วงจาบสามารถปกป้องพระธรรมคำสอนได้

 

ในสมัยแรกทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ออกบวชนั้น สนใจใฝ่รู้ที่จะปฏิบัติตามคำสอนเพื่อมุ่งหวังในการพ้นทุกข์ จึงไม่ประหลาดใจเลยว่า ในสมัยพุทธกาลมีผู้บรรลุธรรมปรากฏทั้งที่เป็นภิกษุ ภิกษุณี และฆราวาส

เมื่อคณะสงฆ์เติบโตขึ้น เริ่มเห็นเป้าหมายของการบวชที่เริ่มแตกแถวออกไป ในตอนแรก แม้พระสารีบุตรทูลให้พระพุทธองค์ทรงวางพระวินัย พระพุทธองค์ก็ยังไม่ทรงเห็นความจำเป็น เพราะพระสงฆ์สมัยแรกมีเป้าหมายในการออกจากทุกข์ชัดเจน

ต่อมาเมื่อเห็นอาการแตกแถวมากขึ้น จึงทรงวางพระวินัย แต่ละข้อเป็นไปตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ทรงแก้ปัญหาของคณะสงฆ์ไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้ออกกฎระเบียบมาเป็นชุดใหญ่เลยทีเดียว

เหตุ 10 ประการที่วางพระวินัยนั้น เราพิจารณาได้ว่า เป็นไปเพื่อให้ประชาชนที่ยังไม่เลื่อมใสศรัทธา เกิดศรัทธาในพระสงฆ์ เป็นไปเพื่อผู้ที่ศรัทธาอยู่แล้วให้ศรัทธามั่นคงขึ้น

ตรงนี้เห็นชัดว่า ศรัทธาของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสงฆ์ออกจากเรือนแล้ว ไม่ได้ทำมาหากิน ชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย และอิงอาศัยประชาชนเป็นสำคัญ

ผู้ที่ออกบวชจึงต้องให้ชัดเจนว่า ชีวิตของตนเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แม้ตอนที่บวช พระอุปัชฌาย์ก็จะกำชับว่า “ปฏิรูปัง” เธอต้องเปลี่ยนนะ คือเปลี่ยนจากจุดยืนของชาวบ้านเดิมๆ มาเป็นคนบวช

ผู้ที่บวชแล้ว ไม่ใช่หวังแต่จะยังประโยชน์ตนเท่านั้น แต่ต้องมุ่งหวังประโยชน์ของผู้อื่นด้วย ก็เพราะต้องอาศัยเขา แล้วจะปฏิบัติลำพังเพื่อตนเองอย่างไรได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ผู้บวชเป็นคนเห็นแก่ตัว

คนบวชจึงมาพร้อมกับความรับผิดชอบในการปฏิบัติส่วนตนเพื่อการละคลายจากทุกข์ แม้ยังไม่สามารถละได้ทั้งหมด ก็ต้องเพียรพยายามที่จะทำตนให้เบาบางลง ที่ทำได้แล้วนั้น จึงจะสอนคนอื่นได้

 

การพิจารณาว่า ใครจะบวชได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่คณะสงฆ์โดยพระอุปัชฌาย์จะพิจารณาเพื่อความเหมาะสมในการสืบพระศาสนา ในการสร้างศรัทธาให้เกิดในประชาชนที่ยังไม่มีศรัทธา ฯลฯ

หากบวชภิกษุ ก็จะถามว่า เป็นมนุษย์หรือเปล่า เป็นชายหรือเปล่า แม้เป็นขี้กลากขี้เกลื้อน ยังไม่บวชให้เลย

ตรงนี้ต้องเล่าบริบท สมัยพุทธกาลนั้น หมอชีวก นายแพทย์ผู้มีชื่อเสียง ใครๆ ก็อยากเข้ามาให้หมอชีวกรักษา หมอชีวิกถวายการรักษาโดยเฉพาะพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ปรากฏว่า พวกเดียรถีย์ คือคนนอกศาสนาที่เป็นกลากเกลื้อน โรคผิวหนังชนิดต่างๆ ด้วยความต้องการเข้าถึงการรักษา ก็ปลอมตัวเข้ามาบวช เพื่อมาหาหมอชีวก

เมื่อหมอชีวกทราบความ มีความจำเป็นต้องจำกัดการให้บริการ เป็นที่มาของการห้ามผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวขอบวช

บางทีร่างกายไม่ได้มีโรคติดต่อ แต่พิการจนไม่สามารถทำหน้าที่ของสงฆ์ได้เต็มที่ แม้แต่ตัวเตี้ยเกิน ตัวสูงเกิน ก็จะมีพระวินัยห้ามด้วย เพราะเมื่อออกไปสู่สังคมดูไม่งาม

พระที่ตัวเตี้ยเกิน เวลาออกไปสู่สังคม ชาวบ้านมาตีหัวเอาบ้าง เป็นการหยอกล้อด้วยความเอ็นดู เช่นนี้ก็เสียสมณสารูป จึงมีข้อห้ามไม่ให้บวช

ทีนี้ผู้หญิง ยิ่งมากเรื่องเข้าไปอีก อันตรายิกธรรมของพระภิกษุ 13 ข้อ ของพระภิกษุณีมีถึง 24 ข้อ ถามละเอียดลงไปถึงความละเอียดอ่อนทางเพศที่จะเป็นอุปสรรคต่อชีวิตการบวช

ตรงนี้ ทำความเข้าใจใหม่ได้ว่า การบวชจึงไม่ใช่เรื่องสิทธิ แต่เป็นเรื่องความเหมาะสมที่จะทำให้สมาชิกของสงฆ์สง่างามท่ามกลางสังคมที่ตนจะต้องออกไปประกาศพระศาสนา

อาจจะเทียบได้กับทางโลก ผู้ที่จะเป็นทูตนั้น เป็นตัวแทนของประชาชนในชาติของตน เป็นตัวแทนของกษัตริย์ เป็นตัวแทนของรัฐบาล จึงต้องมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน รูปร่างหน้าตาไม่สวย แต่ต้องสง่างาม มีความสามารถในการเจรจาความบ้านเมือง รู้การณ์อันควรและไม่ควร รู้กาลเทศะ แม้แต่สมาชิกในครอบครัวก็มีส่วนในการที่รัฐบาลจะตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกทั้งสิ้น

หากผิดพลาด ไม่ใช่เรื่องสิทธิของบุคคลนั้น แต่เป็นความเหมาะสมที่จะออกไปเป็นตัวแทนของชาติ สำหรับพระ เป็นตัวแทนของพระศาสนา เป็นตัวแทนของชาวพุทธ

เราคุยกันไปถึงประเด็นคนข้ามเพศ ผู้ชายที่เปลี่ยนเพศเป็นหญิง บางคนที่เห็นในสังคมงามกว่าเพศผู้หญิงโดยธรรมชาติเสียอีก แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือความเหมาะสมกับการสืบพระศาสนา การยอมรับในสังคม เป็นเรื่องสำคัญ

แล้วกลับมาคิดในเชิงตรรกะ หากคนคนนั้นให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการแปลงเพศ เรื่องการบวชคงไม่อยู่ในใจของเขา เพราะการบวชคือการก้าวข้ามจากการยึดติดในเพศ ไม่ใช่ทั้งเพศหญิงหรือเพศชาย

แต่ไปพ้นจากการยึดติดทางเพศเอาเลยทีเดียว