คราฟต์เบียร์ไทย ว่าด้วย การต้มเบียร์คืออาชญากรรม? ในมุม นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ 17-23 กรกฎาคม 2558

ก่อนหน้าปี พ.ศ.2470 เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ไม่ได้กินกันแพร่หลายมากนักในประเทศไทย เบียร์ทั้งหมดในยุคนั้นยังคงเป็นเบียร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

ประวัติอุตสาหกรรมเบียร์ไทยเริ่มต้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงมีความประสงค์ให้คนไทยได้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน

พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) เป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์ต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ พร้อมทั้งทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต โดยเห็นว่าเบียร์เป็นสินค้าที่ชาวต่างประเทศส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศนานแล้ว ถ้าสามารถผลิตขึ้นได้เองก็จะป้องกันเงินออกนอกประเทศ ประหยัด รวมทั้งยังสามารถใช้ปลายข้าวเจ้าแทนข้าวมอลต์ และส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ

หลังจากรัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้ประมาณหนึ่งปีทางการจึงอนุญาตให้พระยาภิรมย์ภักดีผลิตเบียร์ได้ แต่มีข้อแม้ว่า “ห้ามผูกขาด” และให้คิดภาษีเบียร์

ระหว่างนั้นเอง พระยาภิรมย์ภักดีได้เดินทางไปเมืองไซ่ง่อน สหภาพอินโดจีน (เมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) เพื่อศึกษาแบบแปลนเครื่องจักรและกระบวนการผลิต และเดินทางไปยุโรปเพื่อซื้อเครื่องจักรในการผลิตเบียร์

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2477 จึงผลิตเบียร์ไทยตัวแรกออกมาได้สำเร็จ และทดลองดื่มกันในงานสโมสรคณะราษฎร

เบียร์รุ่นแรกที่ทำออกขายมีโลโก้เป็นรูปตราหมี และตราอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ตราสิงห์แดง ตราสิงห์ขาว ตราแหม่ม ตราพระปรางค์ และตราสิงห์ แต่ไม่ว่าจะเป็นตราใดก็ตาม ชาวบ้านมักจะเรียกกันติดปากว่า “เบียร์เจ้าคุณ” ก่อนจะกลายเป็นเบียร์สิงห์อย่างทุกวันนี้

ผ่านมากว่า 80 ปี การผลิตเบียร์เองทำให้ป้องกันเงินออกนอกประเทศได้จริง ขายราคาถูกกว่าจริง และทำให้คนไทยมีงานทำจริง

แต่เรื่องของการ “ห้ามผูกขาด” นั้น…ผมไม่แน่ใจ

 

ปัจจุบันตลาดเบียร์รวมในไทยมีมูลค่าปีละประมาณ 136,600 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ปี 2558) คนไทยบริโภคเบียร์ปีละประมาณ 2,000 ล้านลิตร ในปริมาณมหาศาลนี้น่าสนใจว่ามีบริษัทที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเพียง 3 เจ้าคือ

บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตเบียร์สิงห์และลีโอ 72 เปอร์เซ็นต์

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเบียร์ช้าง 24 เปอร์เซ็นต์

และบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตเบียร์ไฮเนเก้น 4 เปอร์เซ็นต์

ถ้าคุณไปเดินตามร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำไม่ว่าจะที่ไหนก็ตามแต่ จะเห็นน้ำผลไม้หรือชาเขียวหลายสิบยี่ห้อวางอยู่บนชั้น มีทั้งยี่ห้อจากผู้ผลิตรายใหญ่ไปจนถึงยี่ห้อที่ทำกันเองในกลุ่มแม่บ้านจากชุมชนเล็กๆ

แต่ในโซนของเบียร์ ถ้านับเฉพาะเบียร์ไทย ไม่รวมเบียร์อิมพอร์ต ไม่ว่าจะให้คนตาดีกี่สิบคนหรือหมอดูแม่นแค่ไหนมาช่วยดู ก็จะพบเบียร์ที่ผลิตในไทยจากแค่สามบริษัทนี้

เกิดอะไรขึ้น?

 

ผมไม่ใช่นักกฎหมายหรือคนเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่ก็ได้ลองไปสืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 เผยแพร่อยู่ โดยใน พ.ร.บ. นี้ได้ระบุการขออนุญาตทำและขายส่งสุราแช่ชนิดเบียร์

สิ่งที่น่าสังเกตคือ

หนึ่ง ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายไทยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

สอง ในกรณีที่เป็นโรงงานเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี

กฎหมายนี้สะท้อนภาพอะไร?

ผมคิดว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงการกำจัดสิทธิในการทำธุรกิจและกีดกันผู้ผลิตรายเล็กๆ ออกไป

หนึ่ง คุณต้องมีเงินถึง 10 ล้านบาทจึงจะทำธุรกิจนี้ได้ ซึ่งทำให้กีดกันผู้ผลิตที่ไม่ได้เงินถุงเงินถังออกไป

สอง ปริมาณการผลิตที่กำหนดตั้งแต่ 100,000 ลิตรถึง 1,000,000 ลิตรต่อปี เป็นจำนวนที่แปลกมาก น้อยก็ไม่ได้ มากก็ไม่ได้ โฮมบริวไม่สามารถผลิตได้ถึงหนึ่งแสนลิตรต่อปีอยู่แล้ว และหากพวกเขาจะซื้อเครื่องมาทำ ก็ไม่สามารถผลิตได้เกิน 1,000,000 ลิตรอีก นั่นเท่ากับว่าจะไม่คุ้มทุนกับที่เสียค่าเครื่อง

ถ้าใครไม่สามารถทำตามเงื่อนไขดังกล่าวได้จะถือว่าฝ่าฝืนกฎหมาย

สิ่งน่าสังเกตคือในขณะที่เครื่องดื่มประเภทเบียร์มีกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด แต่สำหรับสุราประเภทอื่นๆ เช่น สุราแช่หรือสุราผลไม้นั้นตัวกฎหมายไทยกลับผ่อนปรนมากกว่า

 

สําหรับตัวบทลงโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ก็ถือว่ารุนแรงไม่น้อย โดยในพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 ระบุว่า การทำสุราแช่มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท ถ้าขายด้วยปรับไม่เกิน 5,000 บาท และถ้าไม่ได้ปิดแสตมป์สุราต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่สำคัญคือ ผู้ซื้ออย่างคุณก็มีสิทธิโดนปรับไม่เกิน 200 บาทเช่นเดียวกัน

ความผิดนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่า คนที่ต้มเบียร์นั้นได้กระทำความผิดไม่ต่างจากพวกเขาเป็นอาชญากร

ปัจจุบันมีข่าวโฮมบริวโดนเจ้าหน้าที่จับกุมและปรับเงินอยู่เป็นระยะ ผู้ประกอบการหลายคนบอกผมว่าพวกเขารู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นผิดกฎหมาย แต่ลึกๆ พวกเขาก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และยืนยันว่าพร้อมที่จะพูดคุยเพื่อทำให้ถูกต้อง ทุกคนอยากจะเข้าสู่กระบวนการปกติ หรืออยากให้มีการเป่านกหวีดเริ่มเกม จะได้เสียภาษีตามระบบและไม่ต้องขายกันใต้ดินแบบเล่นซ่อนแอบ

ผมไม่แน่ใจว่าเหตุผลที่ยังไม่มีการพูดคุย เปิดโต๊ะเจรจากับฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้นเกิดจากอะไร

มองโลกในแง่ดีอาจเป็นเพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับรู้ว่ากระแสนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้บริโภคได้ตื่นรู้และตื่นตัวแล้วก็เป็นได้

แต่ถ้ามองโลกอีกแบบ มันก็ยากเหลือเกินที่จะอดคิดไม่ได้ว่ากฎหมายนี้เอื้อต่อผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ไม่กี่เจ้า และกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการเล็กๆ ได้ผุดได้เกิดหรือเปล่า

ผมเห็นด้วยครับว่าบ้านเมืองเราเป็นเมืองพุทธ และเบียร์ก็เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่รัฐบาลมองว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาสังคม จึงเข้มงวดกวดขันกันอย่างมาก

ประเด็นนี้ผมเข้าใจดี

แต่ถ้าลองเพ่งมองและพิจารณากันดีๆ จะพบว่าตลอด 80 กว่าปีที่ผ่านมา เราสามารถลดจำนวนการบริโภคเบียร์ได้หรือไม่ ความจริงก็คือมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำไมประเทศอื่นๆ ที่เขาไม่ได้เข้มงวดแบบเรากลับมีปัญหาสังคมน้อยกว่า

บางทีเราอาจต้องมาทบทวนเรื่องนี้กันให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง

 

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว คราฟต์เบียร์เป็นสิ่งที่ผลิตได้โดยถูกกฎหมาย (แต่ก็มีการควบคุมตามเงื่อนไข)

คราฟต์เบียร์กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยวมากนัก เพิ่มมูลค่าให้กับพืชผลทางการเกษตร ป้องกันเงินตราไหลออกนอกประเทศ ทำให้วงการเบียร์ไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาและนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ

มากไปกว่านั้นคราฟต์เบียร์ยังกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความรู้ กินเบียร์อย่างละเมียดละไม จิบแล้วคิดว่าเบียร์นี้ผลิตจากวัตถุดิบอะไร มาจากไหน ทำไมถึงมีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช่สักแต่จะกระดกให้เมาหัวราน้ำ

เหนืออื่นใด คราฟต์เบียร์เป็นตัวบ่งชี้ว่าสังคมเรามี “ทางเลือก” ให้กับผู้บริโภคหรือไม่

ตลอด 80 ปีที่ผ่านมา วงการเบียร์บ้านเราไม่มี “ความหลากหลาย” เลย ไม่น่าเชื่อว่าปู่ผม พ่อผม น้าผม กินเบียร์ตัวเดิมมาตลอดชีวิตโดยไม่เคยได้กินเบียร์ชนิดอื่น ผมไม่ได้บอกว่าเบียร์เจ้าที่มีอยู่ไม่ดี (เพราะผมก็ชอบครับ) แต่การที่สังคมเราไม่มีทางเลือกนั้นจะถือว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรยอมรับหรือไม่

ผมคิดว่ามนุษย์ควรมีสิทธิได้เลือกได้ทำได้คิดในสิ่งที่พวกเขาต้องการหากไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย

แต่ถ้าเครื่องดื่มที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ กินกันเป็นปกติในทุกสังคม เรายังไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ต้องการได้ เรายังไม่มีความเท่าเทียมในการผลิตได้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าเราควรจะเรียกสังคมที่เป็นอยู่ว่าอะไร

 

ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง ผมคิดว่าตอนนี้ผู้บริโภคชาวไทยหลายคนได้ตื่นขึ้นแล้ว พวกเขามีความคิดความอ่าน รู้ว่าอะไรคือเบียร์ที่ดี เลือกกินในสิ่งที่เขาชอบ และพร้อมจะสนับสนุนสิ่งที่พวกเขาพอใจ แม้ว่าราคาจะสูงกว่าก็ตาม

ผมยังยืนยันอีกครั้งว่าผมเข้าใจดีว่าสังคมไทยเป็นสังคมพุทธ และเบียร์ก็เป็นเครื่องดื่มมึนเมาทำให้ขาดสติ เราคงไม่สามารถเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติหรือเลียนแบบสิ่งที่ต่างประเทศทำได้อย่างสมบูรณ์

แต่อย่างน้อยที่สุด ภาพที่ผมอยากจะเห็นคือการเปิดโต๊ะเพื่อเจรจากัน แลกเปลี่ยนกัน พูดคุยกัน ถกเถียงกัน เพื่อร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุด

เหมือนกับที่ผมกล่าวในตอนต้นว่า ผมเริ่มออกตามหาคราฟต์เบียร์ไทยจากข้อความบนเสื้อยืดคนหนึ่งที่ว่า We Drink Only Good Beers

หลังจากได้ออกเดินทางเพื่อค้นหาคำตอบ ผมก็ได้ค้นพบว่าบางทีความหมายของประโยคดังกล่าวนั้นอาจไม่ได้หมายถึงการกินเบียร์ที่ “Good” ในเชิงรสชาติ กลิ่นหอม หรือคุณภาพอย่างเดียว

แต่ยังหมายถึง พวกเราต้องการ “ความหลากหลาย” และ “ทางเลือก” ในการบริโภคอีกด้วย