อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : มังกรหลากสีสันการเมืองใน-นอกประเทศ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ผมไม่มีอะไรในทางไม่ดีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งเป็นการส่วนตัว

ยิ่งหลายคนมองสาธารณรัฐประชาชนจีนในทางไม่ไว้วางใจ อาจจะด้วยเพราะความใหญ่โตของประเทศ พลังทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ

อีกทั้งไม่ใช่การทะยานขึ้นของจีน (China”s rising) ในมิติต่างๆ ในโลก

ทว่าด้วยข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน คนนอกอย่างผมยังต้องติดตามอะไรที่เกิดขึ้นกับจีนในมิติต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

 

สถานการณ์ปัจจุบัน

ข่าวสารเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนช่างมากมายเหลือเกินเวลานี้

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนเพิ่งรายงานถึงความสัมพันธ์ใหม่ๆ และลึกซึ้งระหว่างประเทศรัสเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีน อันได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตลาดสำคัญของประเทศรัสเซียทางด้านวัตถุดิบหลายๆ อย่าง ได้แก่ บรรษัท Rosnett บรรษัทน้ำมันแห่งชาติรัสเซียพึ่งพากำลังซื้อจากทางการจีน

น้ำมันของบรรษัทแห่งชาตินี้ขายให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน จนกระทั่งเงินสกุลหยวนของจีนจึงช่วยลดบทบาทของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐลง

จนกระทั่งสกุลเงินหยวนกำลังกลายเป็นเงินตราต่างประเทศที่มีความสำคัญมากขึ้นสำหรับประเทศรัสเซีย (1)

บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญทางด้านอาวุธของสาธารณรัฐประชาชนจีนขายชิ้นส่วนดังกล่าวให้กับระบบอาวุธทันสมัยของประเทศรัสเซีย อีกทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นแหล่งที่มาของระบบโครงข่ายและกลไกสำคัญทางด้านระบบความมั่นคงของประเทศรัสเซีย

ในช่วงเดือนที่แล้วประเทศรัสเซียอาจประสบปัญหาชะงักงันในการซื้อขายทางด้านโทรคมนาคมกับบริษัทหัวเว่ย (Huawei) ซึ่งได้รับความไม่ไว้วางใจจากประเทศสหรัฐอเมริกา

แต่สำหรับประเทศรัสเซียกลับให้ความมั่นใจต่อบริษัทหัวเว่ยต่อการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของประเทศในการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อ 5G (2)

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นผลดีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งกำลังต้องการ “มหามิตร” อย่างประเทศรัสเซีย อันนับเป็นความมั่นคงปลอดภัยต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนจากพรมแดนทางตอนเหนือซึ่งเคยมีการปะทะและเผชิญหน้ากันในปี 1969 รวมทั้งการคลายความกังวลต่อรัสเซียของสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงทศวรรษ 1990 (3)

รัสเซียยังช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ระแวดระวังให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่ามกลางกระแสการรณรงค์ของชาติตะวันตกเรื่องหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งทั้งรัสเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังเผชิญอยู่นี้ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติแห่งสี (colour revolutions)

หากยกตัวอย่างคือ การประท้วงของคนรัสเซียในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอันแสดงออกด้วยการออกมาของนักร้องเพลงร็อกตามงานต่างๆ รวมทั้งวงร็อกสาวสวยของรัสเซียที่เธอแต่งแต้มสีผมและการแต่งกายหลากสี ซึ่งแสดงถึงเสรีภาพ เพศสภาวะ และค่านิยมทางการเมืองที่คนรัสเซียหนุ่มสาวเรียกร้องมากขึ้นทุกที

ยิ่ง “การปฏิวัติแห่งสี” ที่ฮ่องกง ทั้งสีร่มต่างๆ หน้ากากสี สเปรย์สีฝุ่นต่างๆ รวมไปถึงแสงเลเซอร์หลากสีสันทั่วฮ่องกงจากผู้ประท้วงนำมาใช้ อันมิได้ต้องการอำพรางใบหน้าของผู้ประท้วงอย่างเดียว แต่ยังต้องการให้ “สี” หมายถึงสิทธิเสรีภาพที่พวกเขาเรียกร้องอีกด้วย

เมื่อมองในแง่นี้แล้ว รัสเซียกลายเป็นมหามิตรในยามยากของสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างน้อยเป็นทั้งการ์ดรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยทางพรมแดนตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน

แล้วอนุญาตให้รัฐบาลปักกิ่งเผชิญหน้ากับการประท้วงที่ยุ่งยากและแก้ปัญหาได้ยากมากของรัฐบาลในฮ่องกง

ให้สังเกตว่า “สีขาว” ของชายฉกรรจ์ในฮ่องกงกลับเป็นยี่ห้อของแก๊งอันธพาลที่ทำร้ายผู้คนไม่เลือกหน้า

แต่ “สีแห่งการปฏิวัติ” ช่างหลากสี ทั้งเหลือง แดง เขียว น้ำเงิน จนแยกไม่ออก

ณ เวลานี้ ทางการจีนแผ่นดินใหญ่เตือนออกมาหลายครั้งถึงการปราบปรามโดยใช้กองกำลังตำรวจปราบจลาจล การประกาศถึงการรักษาอธิปไตยของตน

การขู่ว่า “อย่าเล่นกับไฟ” แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด

มาตรการต่างๆ ของทางการจีนแผ่นดินใหญ่จะเปลี่ยนฮ่องกงหลากหลายสีสันเป็นสีอะไร

สีอะไรคือคำถามใหญ่ “สีแดง” เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งเป็นได้ทั้งสีธงชาติและเลือดเนื้อของผู้คน ความเป็นจริงคือ ฮ่องกงก็เปลี่ยนไปมากแล้ว ฮ่องกงอีกระบบหนึ่ง คือระบบทุนนิยม ฮับทางการเงิน (Financial hub) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่สะสมมาอย่างยาวนานจากการเป็นตลาดการเงิน ตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์

มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ฮ่องกงที่เป็น “หน้าต่าง” อีกบานหนึ่งสู่ระบบทุนนิยมโลก

ฮ่องกงที่เป็น investment arm ของหลายๆ รัฐวิสาหกิจจีนในการลงทุนในตลาดทุนนิยมโลก แหล่งพักเงิน บ่อพัก “โภคทรัพย์” ทั้งมวลของเจ้าสัวจากมณฑลต่างๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่กำลังล่มสลายไปเรื่อยๆ เพียงไม่กี่เดือน “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (One country, Two system) ที่ใช้เวลาประกอบสร้างอย่างยากลำบาก จะฟื้นตัวจากซากปรักหักพังด้วยกองกำลังที่ทราบฝ่ายที่ยึดฮ่องกงได้เพียงวันเดียว เป็นไปได้หรือ?

ฮ่องกง โฉมหน้าใหม่คืออะไร? ของทั้งจีนและของโลกนับแต่นี้ไป

 

แนวโน้ม

ในแง่คนนอกอย่างผม การเจรจาระหว่างฝ่ายต่างๆ แทบเป็นไปไม่ได้แล้ว

ข่าวลวง (Fake News) ที่ต่างฝ่ายต่างสร้างขึ้นมา

แนวคิด ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) ก็ไร้สาระ

ฮ่องกงถูกเปลี่ยนจากจุดแข็งของสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น เป็น “หน้าต่าง” บานหนึ่ง เป็นกลไกของระบบทุนนิยมโลกของจีนแผ่นดินใหญ่ กลับกลายเป็นจุดอ่อน จุดอ่อนนี้เป็นจุดอ่อนที่จีนมีมาตลอด ทั้งจากการปิดล้อมของชาติตะวันตกต่อเมืองท่าของจีนฝั่งตะวันออกในยุคล่าอาณานิคมและจักรวรรดินิยม เป็นจุดอ่อนที่เปราะบางมากกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ดังเช่นมณฑลยูนนาน (Yunnan province) อันเชื่อมต่อกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเสียอีก

โดยส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงทุกชนิด การปราบปรามและการใช้กำลังอาวุธไม่ว่าจากฝ่ายใด ความตายไม่ว่าจะเป็นใครที่เกิดขึ้นแล้วผมปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง สันติและความสงบนำมาซึ่งเสถียรภาพ ความปลอดภัย และความเป็นสุขของทุกฝ่าย ไม่ทราบว่า “เป็นแมวสีอะไรก็ได้ แต่สามารถจับหนูได้” อาจเชยและพ้นยุคไปแล้ว แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจต้องรื้อกลับขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นต่อฮ่องกงและโลกอันยุ่งเหยิงและซับซ้อนนี้

ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

——————————————————————————————————–
(1) “Brothers in arms” The Economist July 27-August 2 2017 : 7
(2) Ibid.,
(3) “The Junior partner” The Economist July 27-August 2, 2019 : 17-18