ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ชนชาติใด สร้าง “พระพุทธรูป” ขึ้นเป็นกลุ่มแรก?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ข้อถกเถียงเก่าแก่ที่สำคัญข้อหนึ่งในหมู่ผู้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี ในโลกตะวันออกก็คือ ชนชาติใดเป็นผู้ริเริ่มที่จะสร้างพระพุทธรูปองค์แรกขึ้นมากันแน่?

แต่ก่อนที่จะก้าวล่วงเข้าไปอยู่ในวังวนของข้อถกเถียงดังกล่าว ก็ควรต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า ถึงแม้พระพุทธศาสนาจะถือกำเนิดล่วงมาถึง 2,600 กว่าปีแล้ว แต่พระพุทธรูปก็ไม่ได้มีการสร้างไว้ในสมัยพุทธกาลเลย

แถมยังมีข้อความอ้างไว้ใน มหาปรินิพพานสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก ว่า พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสกับพระอานนท์เอาไว้ว่า

“อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา อานนท์! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ”

แปลเป็นภาษาไทยปัจจุบันง่ายๆ ได้ความว่า พระพุทธเจ้าเคยตรัสเอาไว้ว่า เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ก็ขอให้ยึดเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักในพุทธศาสนา เป็นศาสดาแทนพระองค์ ไม่ให้ยึดถือสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พระธรรมเป็นสรณะ ดังนั้น อะไรที่เรียกว่า “พระพุทธรูป” จึงดูจะไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธองค์สั่งเสียไว้ให้เป็นตัวแทนของพระองค์มากเท่ากับ “พระธรรม”

 

หลักฐานทางโบราณคดีในชมพูทวีปเอง ก็ดูจะสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับคำสั่งเสียของพระพุทธเจ้า เพราะกว่าจะมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมานั้น ก็ต้องปล่อยให้กาลเวลาล่วงเลยผ่านไปอีกหลายร้อยปีเลยทีเดียว

สถูปเจดีย์ในพระพุทธศาสนายุคเริ่มแรก ในช่วงราชวงศ์โมริยะ และราชวงศ์ศุงคะ ระหว่างราว 200-500 ซึ่งเรียกกันในโลกวิชาการภาษาไทยว่า “ศิลปะอินเดียโบราณ” นั้นล้วนแล้วแต่มีภาพสัญลักษณ์มงคล หรือภาพสลักเรื่องราวในพุทธประวัติ ไม่ว่าจะเป็นตอนประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา หรือปรินิพพาน อยู่เต็มไปหมด

แต่ในบรรดาภาพสลักเหล่านี้กลับไม่มีรูปของพระพุทธเจ้าอยู่เลยสักนิด

ตัวอย่างเช่น ถ้าจะเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนตรัสรู้ ช่างก็จะสลักรูปอาสนะเปล่าๆ ตั้งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ มีหมู่เทวดาต่างๆ แห่กันมาสรรเสริญยินดี

นัยว่าเป็นอาสนะเปล่านั่นแหละคือสัญลักษณ์แสดงถึงองค์พระพุทธเจ้าเมื่อคราวตรัสรู้

ปราชญ์และนักวิชาการส่วนใหญ่จึงลงความเห็นกันว่า ช่างอินเดียโบราณยังไม่กล้าสลักรูป “พระพุทธเจ้า” ด้วยรูปร่างอย่าง “มนุษย์” (ส่วนทำไมถึงไม่กล้านี่ก็ไม่เห็นจะมีใครบอกเอาไว้ด้วย?)

ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวตะวันตกบางท่าน ก็ได้หล่นข้อเสนอที่น่าคิดเอาไว้ว่า ที่จริงแล้วภาพสลักเหล่านี้อาจจะไม่ได้เล่าเรื่องพุทธประวัติ แต่กำลังแสดงถึงภาพสังเวชนียสถานต่างๆ ในพุทธศาสนาต่างหาก

ส่วนข้อสันนิษฐานใดจะถูกหรือจะผิดนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในที่นี้ มากเท่ากับที่หลักฐานได้แสดงให้เห็นอยู่ทนโท่ว่า ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจนถึงยุคที่มีการสร้างศิลปะอินเดียโบราณ คือก่อน พ.ศ.500 นั้น ยังไม่มีธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูป

 

พระพุทธรูปเริ่มปรากฏในชมพูทวีปหลัง พ.ศ.500 โดยประมาณ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะยกความดีความชอบของการครีเอทพระพุทธเจ้าในรูปของมนุษย์ ไปให้กับลูกหลานชาว “กรีก” ที่อาศัยอยู่ในแคว้นแบกเตรีย (Bactria) และแคว้นคันธาระ (Gandhara) ทางทิศเหนือของชมพูทวีป โดยชาวอินเดียมีศัพท์เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “โยนก”

เรื่องของเรื่องนั้นเริ่มมาจากที่ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great, พ.ศ.207-220) กษัตริย์เชื้อสายกรีก ได้กรีธาทัพมายึดโลกตะวันออก โดยได้ทรงรุกเข้ามาถึงชมพูทวีปแถบบริเวณแคว้นแบกเตรีย และคันธาระ และสามารถยึดครองทั้ง 2 แคว้นที่ว่าได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม กษัตริย์หนุ่มพระองค์นี้ได้เกิดป่วยไข้อย่างกะทันหัน จึงต้องรีบเดินทางกลับไปยังเมืองมาซิดอน (คือมาเซโดเนียในปัจจุบัน) อันเป็นบ้านเกิดของตนเอง แต่ก็ได้สิ้นพระชนม์ลงเสียก่อนในระหว่างการเดินทางกลับ ที่พระราชวังเดิมของกษัตริย์เนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 (Nebuchadnezzar II, ครองราชย์ก่อนพุทธศักราช 62-19 ปี) ในเมืองบาบิโลน

และก็เป็นช่วงก่อนที่จะเสด็จออกนอกชมพูทวีปนี่เอง ที่พระองค์ทรงทิ้งแม่ทัพนายกองชาวกรีกไว้ในชมพูทวีป ทั้งที่แบกเตรีย และคันธาระ จนทำให้มีลูกหลานชาวกรีกตั้งรกรากจนกลายเป็นชาวโยนกของพวกอินเดีย อยู่ในทั้งสองแคว้นดังกล่าวนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อมีการสร้าง “พระพุทธรูป” รุ่นแรกๆ ของโลกขึ้นมาในบริเวณแคว้นคันธาระ ใครต่อใครจึงพากันยกว่าเป็นฝีมือของพวกกรีก ลูกหลานแม่ทัพของอเล็กซานเดอร์ ยิ่งเมื่อพวกกรีกมีฝีมือในการสร้างประติมากรรม สลักหินรูปเทพเจ้า และมนุษย์ต่างๆ อยู่แล้ว ก็เลยไม่เห็นจะแปลกอะไรนักถ้าพวกเขาจะเปลี่ยนไปจำหลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าแทน? และจึงได้เรียกพระพุทธรูปที่มีรูปร่างหน้าตาราวเทพบุตรกรีกเหล่านี้ว่า พระพุทธรูปในศิลปะแบบคันธาระ

 

แต่เรื่องราวก็ไม่ได้ง่ายดายเพียงเท่านี้หรอกนะครับ เพราะในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันมากๆ คืออยู่ในช่วงหลัง พ.ศ.500 ไม่มากนัก ก็ได้มีหลักฐานของการสลักพระพุทธรูปขึ้นที่เมืองมถุรา ในลุ่มแม่น้ำคงคา-ยมุนา เช่นกัน

พระพุทธรูปจากเมืองมถุรา ไม่ได้มีรูปลักษณะเหมือนเทพเจ้ากรีก เหมือนแบบคันธาระ แต่มีลักษณะเหมือนกับรูปยักษ์ (ในอินเดียโบราณ มีฐานะเป็นเทพพื้นเมือง ไม่ใช่มาร หรือปีศาจ) ที่ชาวพื้นเมืองในเขตลุ่มน้ำสำคัญดังกล่าวสลักกันมาก่อนแล้ว

วัฒนธรรมของพวกกรีก หรือชาวโยนก ไม่ได้แพร่กระจายลงมาถึงลุ่มน้ำคงคา-ยมุนา ดังนั้น พระพุทธรูปที่ถูกเรียกว่าเป็นศิลปะมถุราเหล่านี้ จึงเป็นตัวแทนของความเป็นอินเดีย และชาวอินเดียที่ประดิษฐ์พระพุทธรูปของพวกกรีก และในแง่ของชาตินิยมนั้น

ถึงทุกวันนี้ชาวอินเดียจะแทบไม่ได้นับถือพุทธศาสนาเลยก็ตาม แต่พวกเขาก็คงไม่อยากรู้สึกเสียหน้า ที่พวกกรีกเป็นผู้ประดิษฐ์พระพุทธรูปขึ้นมา ไม่ใช่ชาวอินเดียอย่างพวกเขาเสียหน่อย

 

แต่อันที่จริงแล้ว การอนุมานเอาว่า เมื่อพวกกรีกรับเอาพุทธศาสนาเข้าไปนับถือ จึงทำให้มีการเคารพศรัทธาจนนำไปสู่การสร้างพระพุทธรูป ดังมีตัวอย่างสำคัญที่นิยมอ้างถึงกัน เป็นปกรณ์ในพุทธศาสนาที่ชื่อว่า “มิลินทปัญหา” หรือปัญหาของพระยามิลินท์

ซึ่งว่าด้วยเรื่องของการสนทนาธรรมระหว่างพระภิกษุที่ชื่อว่า “พระนาคเสน” กับพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1 (Menander I, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.378 หรือ 388-413) นั้น ก็ดูจะเป็นเหตุผลที่ฟังดูเหมือนการเอากำปั้นทุบดินจนเกินไป

เพราะถ้าพระนาคเสนเคยสนทนาธรรมกับพระเจ้าเมนันเดอร์จริง ก็เป็นเวลาถึง 100 กว่าปีก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูป เช่นเดียวกับรูปแบบของปกรณ์เรื่องนี้ ที่มีลักษณะการถาม-ตอบแบบวิภาษวิธี (dialectic) ซึ่งเป็นวิธีสอบทานความรู้ของพวกกรีกมาก่อน เช่นเดียวกับอายุของปกรณ์เรื่องนี้ที่นักวิชาการกำหนดเอาไว้ที่ระหว่าง พ.ศ.650-750 หลังจากที่มีการสร้างพระพุทธรูปแล้วเสียอีก

ตามประวัติศาสตร์แล้ว พระเจ้าเมนันเดอร์ครองราชย์ที่แคว้นแบกเตรีย ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศอัฟกานิสถาน ก่อนที่จะข้ามช่องเขาไคเบอร์ (Kyber pass) ในเทือกเขาฮินดูกูษ (Hindu Kush) ลงมาตีแคว้นคันธาระ หรือแคว้นปัญจาบ (Panjab) ในประเทศปากีสถานปัจจุบัน แล้วค่อยตั้งเมืองสาคละ (Sagala)

อันเป็นเมืองที่พระองค์ได้สนทนาธรรมกับพระนาคเสน เป็นราชธานี

 

อันที่จริงแล้ว ก่อนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จะเสด็จออกจากชมพูทวีป ได้ทรงแต่งตั้งพระเจ้าโปรส ซึ่งเป็นกษัตริย์พื้นเมืองของเผ่าเปารพ ในแคว้นคันธาระ ให้ปกครองแคว้นแห่งนี้ ในขณะที่ฐานกำลังของพระองค์ดูเหมือนว่าจะอยู่ที่แบกเตรียมากกว่า ดังปรากฏหลักฐานว่า พระองค์ได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงพื้นเมืองของแบกเตรีย เชื้อสายชาวซ็อกเดียน (Sogdian) ที่มีพระนามว่า ร็อคซานา (Roxana) ดังนั้น ถ้าพระเจ้าเมนันเดอร์จะรุกจากแคว้นแบกเตรียเข้ามาในคันธาระ ก็ไม่ได้แปลกอะไรนัก เพราะทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้มีประชากรเป็นกรีกเพียงอย่างเดียวทั้งคู่เสียเมื่อไหร่? (แน่นอนว่า การสร้างพระพุทธรูปก็เช่นกัน)

น่าสนใจด้วยว่า ในช่วงร่วมสมัยกันกับที่พระเจ้าเมนันเดอร์ พวกชนเผ่าเร่ร่อน (nomad) กลุ่มหนึ่ง ที่ชาวจีนเรียกว่าพวก “เยว่จือ” ซึ่งต่อมาจะเรียกตัวเองว่าพวก “ศกะ” (Saka) ได้ถูกพวกเร่ร่อนอีกกลุ่มคือ ซยงหนู ในมองโกเลีย ขับไล่จากที่ราบทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ แถบมณฑลก่านซู่ในจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานแคว้นแบกเตรีย และค่อยๆ มีอิทธิพลขึ้นมาเรื่อยๆ

พวก “เยว่จือ” หรือ “ศกะ” ที่ว่านี้พูดภาษาตระกูลโทแคเรียน (Tocharian) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของภาษาตระกูลอินโดยูโรเปียน (ต้นตระกูลของภาษาใหญ่อย่างสันสกฤต และละติน) ที่เคยใช้กันอยู่ในเอเชียกลาง แต่ได้เลิกใช้จนสูญหายไปหมดแล้ว จึงสามารถผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมเฮเลนนิสติก ที่ผสมผสานทั้งกรีก เปอร์เซีย และเอเชียกลาง ได้เป็นอย่างดี จนในที่สุดก็ค่อยๆ เติบโตแล้วตั้งเป็นราชวงศ์กุษาณะ (Kushan) ขึ้นมา

ระยะต้น คือในช่วงหลังรัชกาลแรกของราชวงศ์กุษาณะ เมื่อหลัง พ.ศ.573 ก็ได้เข้ามามีอำนาจในแคว้นคันธาระ ตรงกับช่วงที่เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปแล้ว จากนั้นก็เข้ามายึดครองลุ่มน้ำคงคา-ยมุนา โดยมีเมืองมถุราเป็นราชธานี ในช่วงรัชกาลที่ 4 ของราชวงศ์คือ รัชสมัยของพระเจ้ากณิษกะ (Kanishka, ครองราชย์ พ.ศ.663-687)

“พระเจ้ากณิษกะ” ถูกเรียกว่าเป็น “พระเจ้าอโศก” ของฝ่ายมหายาน พุทธศาสนาแผ่อิทธิพลไปอย่างมากมายในรัชสมัยของพระองค์ ดังนั้น ถึงเราจะไม่อาจสรุปได้ว่า ชนชาติใดเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปขึ้นก่อนกันแน่ แต่ความแพร่หลายในการสร้างพระพุทธรูปนั้น ถูกพัฒนาขึ้นมากโดยกษัตริย์ของพวกศกะนี่เอง