สุจิตต์ วงษ์เทศ / ชุมทางเครือข่ายอำนาจ ปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ชุมทางเครือข่ายอำนาจ

ปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว

 

ปราสาทสด๊กก๊อกธม (อ.โคกสูง จ.สระแก้ว) ถิ่นฐานเจ้าพิธีลัทธิเทวราช เป็น “แลนด์มาร์ก” ชุมทางคมนาคมเครือข่ายอำนาจระหว่างกลุ่มที่ราบสูง (ลุ่มน้ำมูล, ชี ในอีสาน) กับที่ราบลุ่ม (โตนเลสาบในกัมพูชาและเจ้าพระยาในไทย)

โดยผ่านช่องเขาจำนวนมากตามทิวเขาพนมดงรัก (เขมรว่าพนมดองเร็ก แปลว่า ภูเขาไม้คาน เพราะทิวเขาต่อกันเป็นพืดยาวเหมือนไม้คาน)

จากนั้นเข้าถึงเสียมเรียบพื้นที่โตนเลสาบ (เมืองพระนคร) ได้ทั้งทางบกมีทุ่งนา และทางน้ำมีคลองลึก (ไหลจากทิวเขาพนมดงรักลงทางใต้) รวมกับคลองพรหมโหดและคลองน้ำใส (ไหลจากทางตะวันตกไปทางตะวันออก) ไปลงโตนเลสาบ

ขณะเดียวกันยังเชื่อมโยงเครือข่ายถึงเมืองละโว้ (จ.ลพบุรี), เมืองดงละคร (จ.นครนายก), เมืองศรีมโหสถ (จ.ปราจีนบุรี), เมืองพระรถ (จ.ชลบุรี), เมืองกาไว (จ.จันทบุรี)

พื้นที่ลาดเอียงลงจากที่ราบสูงสู่ที่ราบลุ่ม มีชุมชนตามเส้นทางคมนาคมและมีปราสาทรายทางตั้งอยู่หลายแห่งทั้งก่อนและหลังปราสาทสด๊กก๊อกธม ได้แก่

ปราสาทเขาน้อย โดดเด่นสุดบนยอดเขาเตี้ยๆ (อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว), ปราสาทเขาโล้น บนยอดเขาเตี้ยๆ ใกล้ทิวเขาพนมดงรัก (อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว), และปราสาทเครือข่ายหลายแห่ง เช่น ปราสาททัพเสียม (อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว)

 

ด่านพระจารึก

 

การเป็นชุมทางคมนาคมของพื้นที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม ยังแสดงออกในคำบอกเล่าต่างๆ หลังศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา บริเวณปราสาทสด๊กก๊อกธมลดความสำคัญ ถูกเรียกรวมๆ ว่า ด่านพระจารึก (หมายถึงอะไร? ยังไม่ชัดเจน แต่มีผู้อธิบายว่าหมายถึงด่านที่มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์) มีคำบอกเล่าหลายเรื่อง เช่น

พระร่วง เมืองสุโขทัย ส่งส่วยน้ำถวายพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ กรุงกัมพูชา ด้วยภาชนะเรียก “กะละออม” (ชะลอมที่เคลือบด้วยชันและน้ำมันยางป้องกันน้ำรั่ว) ขนใส่เกวียนได้คราวละมากๆ ไปทางด่านพระจารึก

จลาจลกรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรี (ต่อไปคือ ร.1) ยกทัพไปตีเมืองในกัมพูชา ต้องรีบยกกลับกรุงธนบุรีเมื่อมีจลาจล แล้วแวะพักรอข่าวที่ด่านพระจารึก โดยมีหลวงสรวิชิต (ต่อไปคือเจ้าพระยาพระคลังหน) ออกจากกรุงเทพฯ ไปรายงานให้ทราบเหตุการณ์จลาจล

 

เครือข่ายอำนาจ

 

ที่ราบสูงเป็นพื้นที่หลักแหล่งของเครือข่ายอำนาจกษัตริย์อาณาจักรกัมพูชา ประกอบด้วย วงศ์เสนะ, วงศ์มหิธร และกลุ่มสยาม

  1. ตระกูลเสนะ อยู่ปลายลำน้ำมูล-ชี

ตระกูลเสนะ บรรพชนกษัตริย์กัมพูชา กลุ่มปลายลำน้ำมูล-ชี (ในเขต จ.อุบลราชธานี, จ.อำนาจเจริญ, จ.ยโสธร และ ฯลฯ) สถาปนารัฐเจนละ ราวหลัง พ.ศ.1000 (สมัยแรกการค้าโลก ตรงกับลุ่มน้ำเจ้าพระยานักโบราณคดีเรียกสมัยทวารวดี)

บ้านเมืองเตย (ต.สงเปือย อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร) เป็นภูมิลำเนาของตระกูลเสนะ (ผู้สถาปนารัฐเจนละ) นับเป็นฐานอำนาจระยะแรกของจิตรเสน กษัตริย์กัมพูชาในตระกูลเสนะ ต่อไปเมื่อเสวยราชย์รัฐเจนละจึงได้พระนามตามที่พบในจารึกว่า มเหนทรวรรมัน [“วรรมัน” เป็นคำถูกต้องตามจารึกเขมร หมายถึงวรรณะกษัตริย์ ส่วน “วรมัน” เป็นคำผิดระบบถ่ายทอดถ้อยคำภาษา แต่ใช้ทั่วไปจนกลายเป็นถูกต้องตามความนิยม]

จิตรเสน (ผู้นำตระกูลเสนะ) รวบรวมอำนาจท้องถิ่นขึ้นก่อนที่ลุ่มน้ำมูล-ชี อีสานใต้ จากนั้นขยายออกปากแม่น้ำมูลไปควบคุมสองฟากแม่น้ำโขง แผ่ลงทางใต้ถึงบริเวณที่เรียก “เศรษฐปุระ” อยู่ทางปราสาทวัดพู ในจำปาสัก ลาว สถาปนาเป็นรัฐเจนละ

ต่อมา อีศานวรรมัน (โอรสของจิตรเสน มเหนทรวรรมัน) ขยายอำนาจลงทางใต้ถึงที่ราบลุ่มโตนเลสาบ ในกัมพูชา แล้วสร้างเครือข่ายเครือญาติถึงอ่าวไทยทางเมืองจันทบุรีหลังจากนั้นสถาปนาราชธานีใหม่ นามว่า อีศานปุระ ในกัมพูชา กระทั่งเติบโตแล้วแยกเป็น 2 พวก ได้แก่ เจนละบก หมายถึง กลุ่มเจนละที่ราบสูง อีสาน, เจนละน้ำ หมายถึง กลุ่มเจนละที่ราบลุ่ม กัมพูชา

  1. ตระกูลมหิธร ต้นลำน้ำมูล

บรรพชนกษัตริย์กัมพูชาตระกูลมหิธร ที่สถาปนาเมืองพระนคร (นครวัด) และเมืองพระนครหลวง (นครธม) มีหลักแหล่งดั้งเดิมอยู่ต้นลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่เมืองพิมาย (จ.นครราชสีมา) ถึงเมืองพนมรุ้ง (จ.บุรีรัมย์) คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาเขมร แล้วมีศูนย์กลางอยู่ปราสาทพิมาย กับปราสาทพนมรุ้ง

เชื้อสายวงศ์มหิธรที่ลุ่มน้ำมูล แผ่ลงไปเสวยราชย์เป็นกษัตริย์กัมพูชาที่โตนเลสาบ ได้แก่ 1. พระเจ้าชัยวรรมัน (ที่ 6) 2. พระเจ้าธรณีนทรวรรมัน (ที่ 1) 3. พระเจ้าสูรยวรรมัน (ที่ 2) สถาปนาปราสาทนครวัด ต่อมาบูรณะปราสาทพระวิหาร (ที่มีอยู่ก่อนแล้ว) ให้ใหญ่โตขึ้น (เหลือเห็นซากทุกวันนี้) 4. พระเจ้าธรณีนทรวรรมัน (ที่ 2) 5. พระเจ้าชัยวรรมัน (ที่ 7) สถาปนาปราสาทบายนในศาสนาพุทธมหายานเมืองนครธม เปลี่ยนศาสนาจากพราหมณ์ฮินดูเป็นพุทธมหายาน (เหมือนยุคพิมาย)

ด้วยเหตุนี้เอง กษัตริย์กัมพูชาจึงสร้างปราสาทไว้ทางลุ่มน้ำมูล อันเป็นดินแดนบรรพชน และแหล่งทรัพยากรสำคัญ (เช่น เกลือและเหล็ก) ได้แก่ ปราสาทพิมาย, ปราสาทพนมวัน, ปราสาทพระวิหาร, ปราสาทพนมรุ้ง ฯลฯ

ยุคนั้นยังไม่มีรัฐไทย ยังไม่พบหลักฐานว่ามีคนเรียกตัวเองว่าคนไทย แต่มีคนพูดตระกูลภาษาไต-ไท ทยอยเคลื่อนย้ายจากสองฝั่งโขง ลงมาตั้งหลักแหล่งมากขึ้นบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีบางตระกูลรับราชการเป็นขุนนางอำมาตย์ในรัฐพูดตระกูลภาษามอญ-เขมร

  1. กลุ่มสยาม

สยาม มีรากจากคำพื้นเมืองดั้งเดิมว่า ซัม (ซำ) หมายถึง บริเวณตาน้ำซับที่มีน้ำผุดพลุ่งตลอดปีจนกลายเป็นที่ลุ่มอุดมสมบูรณ์ เรียกห้วยหนองคลองบึง บุ่งทาม (สรุปจาก จิตร ภูมิศักดิ์) เกี่ยวข้อง 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ และคน

พื้นที่ เรียกดินแดนสยาม แบ่ง 2 ช่วงเวลากว้างๆ ดังนี้

สมัยแรก สยามมีศูนย์กลางอยู่เวียงจัน มีพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล มีภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด เรียก “เสียมกุก” หมายถึง “สยามก๊ก” พ.ศ.1650

สมัยหลัง สยามมีศูนย์กลางอยู่สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) มีพื้นที่ทางฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมคาบสมุทรถึงนครศรีธรรมราช ต่อมาย้ายศูนย์กลางไปอยู่อยุธยา ถูกเรียกเป็น “ราชอาณาจักรสยาม”

คน เรียกชาวสยาม โดยไม่จำกัดชาติพันธุ์และชาติภาษา จะเป็นใครก็ได้อยู่ในดินแดนสยาม ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางสื่อสาร ถูกเรียกหมดเป็นชาวสยาม (สยามไม่ใช่คนไทย แต่คนไทยเป็นชาวสยาม)

“เสียมกุก” ภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด พ.ศ.1650 เป็นคนไม่ไทย (หลายชาติพันธุ์หลายชาติภาษา) แต่สื่อสารเข้าใจกันด้วยภาษาไทย และเป็นเครือญาติกับพระราชาที่ราบลุ่มโตนเลสาบ มีหลักแหล่ง 2 ฝั่งโขง กับลุ่มน้ำมูล-ชี ในอีสาน มีศูนย์กลางอยู่เวียงจัน

[เสียมกุก ไม่หมายถึงสุโขทัย]