‘เฉลิมชัย’ เร่งเดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่

“เฉลิมชัย” จี้กรมชลประทานเร่งรัดโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งจัดทำขึ้นตามแนวพระราชดำริในหลวง ร.9 ขณะนี้การก่อสร้างระยะที่ 2 ล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย จึงกำชับให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นเร็วที่สุดเพื่อป้องกันน้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่ ซี่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าโครงการจากเหตุการณ์อุทกภัยอำเภอหาดใหญ่เพื่อเร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 ตามแผนการเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำฤดูฝนภาคใต้ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคม ซึ่งกรมชลประทานรายงานว่า เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2543 เนื่องจากเกิดน้ำท่วมรุนแรงในอำเภอหาดใหญ่ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งกรมชลประทานได้น้อมเกล้าฯ มาดำเนินการโดยขุดคลองระบายน้ำและคลองสาขาเพื่อช่วยระบายน้ำให้ออกลงสู่ทะเลสาบสงขลา 7 สาย ได้แก่ คลองระบายน้ำสายหลักที่ตัดยอดน้ำไม่ให้เข้าเมืองหาดใหญ่ คือคลองระบายน้ำ ร.1 และคลองระบายน้ำ ร.3 ร.4 ร.5 ร.6 1ซ-ร1 และ 1ข-1ซ-ร.1 ร ก่อสร้างพ.ศ. 2544 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2550

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2553 ช่วงเดือนพฤศจิกายนเกิดฝนตกหนักจนมีดฝนตกมีปริมาณน้ำหลาก เกินศักยภาพของระบบระบายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่อีกครั้ง สร้างความเสียหาย 10,490 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา กรมชลประทานจึงพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมและยังสามารถเก็บน้ำไว้ในคลองระบายน้ำ ร.1 ช่วงฤดูแล้งเพื่อใช้ประโยชน์ได้ประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า กำชับให้ควบคุมดูแลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างทำล่าช้าไปบ้างนั้น ต้องทำให้เสร็จเร็วที่สุด แต่ยืนยันว่า สำหรับฤดูฝนของภาคใต้ที่จะมาถึงนี้ได้เตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบ๊กโฮ รถบรรทุกไว้ในพื้นที่พร้อมแล้ว สำหรับเปิดทางน้ำและเร่งระบายน้ำ ในกรณีที่ฝนตกหนัก โดยไม่เกิน 200 มิลลิเมตร ศักยภาพของระบบระบายน้ำสามารถระบายน้ำได้ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้สามารถติดตั้งเครื่องจักรได้ภายใน 2 ชั่วโมง กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับเทศบาลนครหาดใหญ่ติดตั้งระบบติดตามสถานการณ์น้ำและเตือนภัยประชาชนเพื่อดูแลประชาชนในอำเภอหาดใหญ่ให้ดีที่สุด

ทางด้านนายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทานรายงานว่า โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ ระยะที่ 2 หัวงานตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 บ้านหน้าควน เทศบาลเมืองควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ครอบคลุมเขตพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ในตำบลหาดใหญ่ ตำบลควนลัง อำเภอบางกล่ำ ตำบลบ้านหาร ตำบลท่าช้าง ตำบลบางกล่ำ อำเภอควนเนียงในตำบลบางเหรียง ซึ่งจะปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 ความยาว 21.343 กิโลเมตร จากเดิมสามารถระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้สามารถระบายน้ำได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน แห่งที่ 2 จำนวน 3 ช่อง ก่อสร้างประตูระบายน้ำบางหยี แห่งที่ 2 จำนวน 8 ช่อง และก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมด้วยเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง โดยมีอัตราการสูบน้ำรวม 90 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาโครงการ 6 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2564 กรอบวงเงิน 6,500 ล้านบาท ขณะนี้ดำเนินงานก่อสร้างไปแล้ว 60.25% ซึ่งล่าช้ากว่าแผน

กรมชลประทานได้แบ่งทำสัญญาการก่อสร้างเป็น 4 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 ว่าจ้างบมจ.สยามพันธุ์ ขุดคลองยาว 3.578 กิโลเมตร วงเงิน 1,346 ล้านบาท ระยะเวลา ตั้งแต่ 4 มิถุนายน 58 – 13 เมษายน 62 แต่งงานช้ากว่าแผน 30.46% ปัจจุบันได้บอกเลิกสัญญาผู้รับจ้างแล้วเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 สัญญาที่ 2 ว่าจ้าง บมจ.สยามพันธุ์ฯ ขุดคลอง ยาว 4.2 กิโลเมตร วงเงิน 859 ล้านบาท ระยะเวลา18 พฤษภาตม 59 – 30 สิงหาคม 62 งานช้ากว่าแผน 34.04% สัญญาที่ 3 ว่าจ้างบจก. เพิ่มพูนวิศวกรรมยาว 5.1 กม วงเงิน 798.195 ล้านบาท ระยะเวลา 12 พฤษภาคม 59 – 24 สิงหาคม 62 งานล่าช้ากว่าแผน 16.55% และสัญญาที่ 4 ว่าจ้างบจก.ชัยเจริญไมตรี ขุดคลองยาว 4.619 กม วงเงิน 709 ล้านบาท ระยะ 18 พฤษภาคม 59 – 30 สิงหาคม 62 ล่าช้ากว่าแผน 43.99% ปัญหาความล่าช้าเกิดจาก การที่ผู้รับจ้างนำเครื่องมือเครื่องจักรมาใช้ไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ คณะกรรมการตรวจการจ้างได้มีหนังสือเร่งรัดถึงผู้รับจ้างให้เร่งรัดการปฏิบัติงานและได้เชิญประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้าง

นายเฉลิมชัยกล่าวย้ำ ให้กรมชลประทานเร่งรัดดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดเนื่องจากเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้ว่า “การแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยด้วยวิธีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่คลองอู่ตะเภาหรือตามลำน้ำสาขาเพื่อสกัดกั้นน้ำจำนวนมากไม่ให้ไหลมายังเมืองหาดใหญ่นั้นคงไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่มีทำเลที่เหมาะสมในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวได้เลย การแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วมที่ควรพิจารณาดำเนินการ น่าจะได้แก่การขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ให้ทำหน้าที่ แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาหรือช่วยรับน้ำที่ไหลลงมาท่วมตัวอำเภอหาดใหญ่ ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็ว” และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อคลองระบายน้ำสายที่ 1 (ร.1) ว่า “คลองภูมินาถดำริ” หมายถึง “คลองระบายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริขุดขึ้น” ดังนั้นเมื่อฤดูฝนของภาคใต้มาถึงให้บูรณาการกับทุกภาคส่วนป้องกันปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากให้ได้

“เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองคลองภูมินาถดำริให้ระบายน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่ได้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถลดความเสียที่เกิดในเขตพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญได้เป็นอย่างดี” นายเฉลิมชัยกล่าว