มนัส สัตยารักษ์ | นายกรัฐมนตรีจะปฏิรูปตำรวจด้วยตนเอง

หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายความรับผิดชอบหน่วยงานความมั่นคงให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับและดูแลอย่างเดิม แต่หน่วยงานที่สำคัญและมีบทบาทสูงถูก พล.อ.ประยุทธ์ยึดไปกำกับดูแลเอง ทั้งกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

พล.อ.ประวิตรคงได้กำกับและดูแลสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) และกระทรวงสำคัญ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

พล.อ.ประยุทธ์แถลงต่อสื่อมวลชนทำนองเป็นห่วงสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรงนักของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตรจึงแบ่งเบาภาระ แต่สื่อบางเจ้าอวดรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ “กระชับอำนาจ” ต่างหาก เพราะในปี 2557-2558-2559-2560 และ 2561 ทั้งกระทรวงกลาโหมและ สตช. ต่างเป็นหน่วยงานที่ คสช.ต้องเกรงใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ

พอถึงปี 2562 หลังจากเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม และรัฐสภาลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “นายกรัฐมนตรี” เรียบร้อยโรงเรียนรัฐบาลแล้ว ก็ถึงวาระ… “หมดเวลาเกรงใจ” กันได้แล้ว!

อนึ่ง 2 รัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา… รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มอบอำนาจให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และในรัฐบาลยุค คสช. นายกฯ ประยุทธ์มอบอำนาจให้ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ ทั้ง 2 ครั้งอาจจะมีบทเรียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ใคร่ครวญศึกษา เพราะการมอบอำนาจนี้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย บอกว่าจะยึกยักชักเข้าชักออกไม่ได้

ในยุคของนายสุเทพมีกรณีเปลี่ยนวิธี “แยกประมูล” สัญญา มาเป็น “รวมศูนย์การประมูล” สร้างโรงพักทดแทน 396 หลังแล้วไม่เสร็จ งบประมาณแผ่นดินเสียหายไป 5,800 ล้านบาท นายสุเทพกับ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร.ในขณะนั้นกำลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ลงมติให้อัยการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

มาในยุคของบิ๊กป้อมกำกับดูแล สตช. ก็ยังมีกระแสข่าวซื้อขายตำแหน่ง มีกรณีแต่งตั้งและเลื่อนชั้นอย่างกระโดดข้ามหัว

รายหนึ่งใช้เวลาเพียงไม่นานจาก พ.ต.อ. เป็น พล.ต.ท. แล้วก็ถูก “ถอด” ออกจากความเป็นตำรวจอย่างลึกลับ ประกอบกับมีภาพไม่โปร่งใสหลายเรื่อง จึงอาจจะเป็นเหตุผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องร้องเพลง “หมดเวลาเกรงใจ” ก็ได้

สรุปแล้วก็คือ การมอบอำนาจสำคัญทั้งสองครั้งนี้ล้วนเป็นที่ตระหนักกันดีแล้วว่า รัฐบาลทำให้ “เสียของ” ไปโดยมิบังควร

อาจเป็นไปได้ทั้งสองทางคือ นายกรัฐมนตรีต้องการทั้งกระชับอำนาจและต้องการความโปร่งใสในการบริหารประเทศ หรือนัยหนึ่งคือป้องกันการทุจริตตามที่กำชับคณะรัฐมนตรีของตน

นายกรัฐมนตรีเริ่มทำงานด้วยการไปกระทรวงกลาโหมแต่เวลา 07.00 น. เพื่อรับหน้าที่รัฐมนตรีกลาโหม แล้วไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อรับหน้าที่เป็นประธาน ก.ตร.

เท่ากับประกาศให้รู้ว่า “โผ” แต่งตั้งตำแหน่งระดับสูงของ 2 หน่วยงานสำคัญที่ ผบ.หน่วยเสนอขึ้นมาจะต้องได้รับการตรวจสอบและได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ โดยไม่ต้องเกรงใจ “บิ๊ก” คนไหนอีกแล้ว!

นอกจาก สตช.แล้ว นายกรัฐมนตรีมีความประสงค์จะเข้าไปกำกับและดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อีกด้วย ทั้งนี้ อ้างว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น รวมทั้งจะได้ติดตามเรื่องที่ยังคั่งค้างอยู่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ ไปดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป

นายกรัฐมนตรีพูดคล้ายกับจะมาปฏิรูปองค์กรนี้ด้วย เนื่องจากดีเอสไอถูกมองว่ามีตำรวจมากไป ก็อาจจะต้องไปดูว่ามีโครงสร้างอย่างไร

ว่ากันอย่างเป็นธรรมแล้ว การที่นายกรัฐมนตรีออกแอ๊กชั่นเข้ามากำกับดูแลทั้งหน่วยงานตำรวจแห่งชาติและดีเอสไอนั้น น่าจะสืบเนื่องมาจากการอภิปรายในครั้งที่รัฐบาลแถลงนโยบายที่รัฐสภา

ได้มีสมาชิกสภาท่านหนึ่ง ถามนายกรัฐมนตรีถึงความคืบหน้าในการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งคณะกรรมการในชุดที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน (เมษายน 2561) ซึ่งได้เสนอผ่านมาทางนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สู่คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกฎหมาย 2 ฉบับที่ออกตามความในมาตรา 258 และ 260 แห่งรัฐธรรมนูญฯ คือ พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ (เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย) กับกฎหมายเกี่ยวกับงานสอบสวน-แล้วเงียบหายไป

นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำอภิปรายในรัฐสภาทำนองว่า จะเข้าไปกำกับและดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งจะปฏิรูปตำรวจด้วยตนเอง นั่นคงหมายถึงดูแลงานยุติธรรมของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอด้วยนั่นเอง

เพราะงานนี้นายกรัฐมนตรีจะต้องรายงานความคืบหน้าต่อรัฐสภาในวาระต่อไป

แม้จะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะลงมือปฏิรูปตำรวจ แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะทำได้ดีสักเท่าไร เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบมาเหมือนไม่ให้หลุดมือ ขณะเดียวกันก็เหมือนมีเชือกมัดมือมัดเท้าไม่ให้ทำอะไรมากและไม่ให้ก้าวไปไกลนัก ที่สำคัญบางเรื่องก็ราวกับมีผ้ามาผูกตาไว้เพื่อไม่ให้มองไกลไปกว่าคนออกแบบ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”!

ปมเงื่อนของการปฏิรูปตำรวจที่ไม่สามารถคลี่คลายออกได้แม้เวลาจะผ่านไปถึง 5 ปีนับแต่ คสช.รัฐประหารเป็นต้นมา ทั้งนี้อาจจะเพราะต่างหวังมากเกินไป กรรมการบางคนก็บ้าจี้เต้นตามสื่อโซเชียลที่เสนอให้ “ยุบตำรวจ”

คณะกรรมการบางคนมีอคติต่ออาชีพตำรวจ ไม่อยากให้ตำรวจมีอำนาจสอบสวน โดยเหมารวมไปว่าตำรวจมักจะจับแพะ บางคนไม่ต้องการให้ตำรวจร่วมชันสูตรพลิกศพเพราะตำรวจไม่ใช่หมอ เป็นต้น ซึ่งเท่ากับไม่ต้องการให้ตำรวจฉลาดและรู้มากเกินไปนั่นเอง

ผมเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจในคอลัมน์นี้หลายครั้ง แต่ยอมรับว่าไม่มีคุณค่าทางวิชาการสักเท่าไร เพราะเขียนด้วยอารมณ์หงุดหงิดที่สถาบันตำรวจถูกโจมตีอย่างไม่เป็นธรรม ที่มีคุณค่าทางวิชาการอยู่บ้างก็อาศัยบทความจากผู้ที่ผ่านการปฏิบัติมาอย่างช่ำชองระดับอาจารย์ เช่น พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช หรือ พล.ต.ท.อมรินทร์ เนียมสกุล เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์ที่แล้ว (ก่อนการอภิปรายในรัฐสภา) ผมได้เสนอให้ปฏิรูปตำรวจโดยยึดร้านอาหารและร้านกาแฟชื่อดังที่ประสบความสำเร็จเป็นโมเดลตัวอย่าง

ขอยืนยัน ณ ที่นี้อีกครั้งว่า ใครจะปฏิรูปองค์กรควรไปดูงานที่ร้านอาหารหรือร้านกาแฟที่ลูกค้าแห่กันไปเข้าคิวอุดหนุนจนต้องขยายกิจการ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริการ…ไปดูว่าเขาอบรมพนักงานอย่างไร ทำไมเขาจึงลงทุนจ้างพนักงานจำนวนมากเพื่อบริการลูกค้า และเขาจ่ายเงินเดือนหรือค่าแรงอย่างไร