ต่างประเทศอินโดจีน : สำนึกของนวน เจีย

มีบางคน เมื่อหวนรำลึกถึงการกระทำแต่หนหลังของตนเอง รู้สึกสำนึกเสียใจ

แต่มีอีกบางคน ไม่ว่า ถูกกระตุ้น ก่นประณาม หรือถูกตีตราจากสังคมอย่างไรก็ไม่สำนึกเสียใจ “นวน เจีย” คือหนึ่งในจำนวนนั้น

“นวน เจีย” เป็นชื่อจัดตั้งของ “เล้า กิมกอน” ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน เกิดในพระตะบอง จังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อครั้งที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย

เมื่อพระตะบองถูกส่งมอบคืนให้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่ปกครองกัมพูชาอยู่ในเวลาต่อมา ครอบครัวของเล้า กิมกอน โยกย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ

เล้า กิมกอน เลยมีชื่อไทย ใช้ชื่อว่า “รุ่งเลิศ เหล่าดี” เรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดเบญจฯ ก่อนจบนิติศาสตรบัณทิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่ธรรมศาสตร์นี่เองที่เล้า กิมกอน ได้รู้จักกับลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ตามแนวทางมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์

ว่ากันว่าเขาเคยร่วมงานอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่ระยะหนึ่ง

 

ปี1950 เล้าเดินทางกลับกัมพูชา ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูชาขึ้นมา ทำงานใกล้ชิดกับครูหนุ่มที่เพิ่งเดินทางกลับจากฝรั่งเศสมาหมาดๆ ชื่อ “ซาลอธ ซาร์”

ถึงปี 1962 เล้าขึ้นดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค ช่วยงานของเลขาธิการพรรค ซาลอธ ซาร์

หลายทศวรรษต่อมา ชื่อจัดตั้งของคนทั้งสองโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซาลอธ ซาร์ ในฐานะผู้นำอำมหิตของกองกำลังเขมรแดง “พล พต” กับเล้า หรือนวน เจีย ในฐานะ “มือขวา” และ “มันสมอง” ของพล พต

ภายในขบวนการของเขมรแดงเอง รู้จักและเรียกขานนวน เจีย เพียงว่า “บราเดอร์ นัมเบอร์ ทู” เช่นเดียวกันกับที่เรียกขานพล พต ว่า “บราเดอร์ นัมเบอร์ วัน”

ทั้งสองคือผู้ที่ถูกยึดถือกันว่าเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในการเปลี่ยนพื้นที่ชนบททางตะวันออกของกัมพูชาให้กลายเป็น “ทุ่งสังหาร” อันลือลั่น

 

นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ศึกษาเหตุการณ์ในยุคดังกล่าวประเมินว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข่นฆ่าสังหารผู้คนร่วมชาติร่วม 2 ล้านคนที่เปรียบเสมือนหนึ่งกวาดผู้คนหนึ่งชั่วคนให้หายไปจากสังคมกัมพูชานั้น นวน เจีย เกี่ยวข้องโดยตรงมากกว่าพล พต ด้วยซ้ำไป

นวน เจีย เกี่ยวข้องกับการฆ่าหฤโหดดังกล่าวใน 2 ทาง ทางหนึ่งคือการ “ชำระล้าง” ภายในโครงสร้างพรรค ใครที่ต้องสงสัยว่าไม่ซื่อ ถูกควบคุม ถูกประหารไม่มีเว้น

ทางหนึ่งคือ การเป็นเจ้าของแนวคิด “นำคนคืนชนบท” ภายใต้ความฝันสร้าง “รัฐสังคมนิยมเกษตรกรรม” ในอุดมการณ์ขึ้นที่กัมพูชา

เกณฑ์คนในหัวเมือง ในเมืองหลวง เดินเท้าสู่ชนบท ทำงานหนักอย่างบ้าคลั่ง เจ็บป่วย อดอยาก ล้มตายกันเป็นเบือ รวมทั้งที่ตายเพราะต้องโทษฐานหลบหนี หรือละเมิดกฎอื่นๆ

ปี 1979 รัฐบาลเขมรแดงที่พนมเปญถูกตีแตกถอยร่นกลับสู่ป่าอีกครั้ง ขบวนการเขมรแดงแตกเป็นเสี่ยงๆ ไม่นานก่อนหน้าพล พต จะเสียชีวิตในราวป่า ส่วนนวน เจีย เข้ามอบตัวกับทางการในปี 1998 แลกกับนิรโทษกรรม

 

9ปีต่อมา นวน เจีย ถูกจับขึ้นศาลพิเศษพนมเปญเพื่อพิจารณาคดีเขมรแดง ที่สหประชาชาติสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีผู้นำเขมรแดงในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ฯลฯ

กระนั้น นวน เจีย ไม่ได้แสดงท่าทีตื่นตระหนกตกใจ สลดใจใดๆ ในระหว่างการพิจารณาคดี

ยืนกรานตลอดเวลาว่าไม่ได้กระทำอันใดผิด

การ “ทำความสะอาดพรรค” จำเป็นต้องทำ, การนำคนคืนชนบท เกิดจากความหวังดี, คนส่วนใหญ่ที่ตายไม่ได้ตายใต้คำสั่งตน แต่เป็นผลงานของกลุ่มในพรรคที่ถูกเวียดนามแทรกซึมและชักจูง

จนตายยังไม่สำนึกเสียใจ ใช่เป็นเพราะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า การกระทำของตนถูกต้องแล้ว? หรือเพราะเห็นความตาย เห็นชีวิตไร้ค่าเหมือนผงธุลี?

นี่คือนวน เจีย ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร ประวัติศาสตร์จักบันทึกไว้ว่านี่คืออีกหนึ่งในบรรดาผู้คนอย่างพล พต, อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และโจเซฟ สตาลิน

คนที่เป็นปิศาจในคราบมนุษย์!