อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : “รักระหว่างรบ” 120 ปีชาตกาล เฮมมิ่งเวย์ และศรีเสนันตร์

กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนที่มีวันคล้ายวันเกิดของนักคิดนักเขียนระดับโลกอยู่มากราย แน่ละ คนหนึ่งที่มิอาจละเลยการเอ่ยถึงก็คือ เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ (Ernest Hemingway) ชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ.1954

เขาลืมตาดูโลกหนแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม ค.ศ.1899 ซึ่งในปี ค.ศ.2019 ถือว่าเป็นวาระครบรอบ 120 ปีชาตกาล

เฮมมิ่งเวย์สร้างสรรค์ผลงานไว้หลายชิ้น พอเอ่ยชื่อดูเหมือนจะล้วนเป็นที่รู้จักกล่าวขานและอยู่ในฐานะเล่มโปรดปรานในดวงใจของใครต่อใคร เฉกเช่น The Sun Also Rises (1926), For Whom the Bell Tolls (1940)

และเรื่องตาเฒ่ากับท้องทะเลอันตราตรึงความทรงจำอย่าง The Old Man and the Sea (1952)

นวนิยาย A Farewell to Arms หรือมีชื่อเรียกภาษาไทย รักระหว่างรบ (ล่าสุดปี พ.ศ.2561 สำนักพิมพ์แสงดาวเพิ่งนำสำนวนแปลของอาษา ขอจิตต์เมตต์ มาจัดพิมพ์เผยแพร่อีกหน) นับว่าเข้าข่ายงานเขียนลือเลื่องชิ้นหนึ่งของเฮมมิ่งเวย์

เขาเริ่มลงมือเขียน A Farewell to Arms ห้วงยามฤดูหนาวของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1928 (ตรงกับ พ.ศ.2471) และส่งไปตีพิมพ์เป็นตอนๆ ใน Scribner”s Magazine (นิตยสารนี้เคยตีพิมพ์เรื่องสั้นเรื่องแรกๆ ให้เฮมมิ่งเวย์มาก่อน) ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ค.ศ.1929 (ตรงกับ พ.ศ.2472) รวมถึงจัดพิมพ์รวมเล่มปลายปีเดียวกัน

เฮมมิ่งเวย์นำชื่อนวนิยายมาจากชื่อบทโคลงซึ่งเป็นผลงานของกวีอังกฤษนามจอร์จ พีล (George Peele — มีชีวิตอยู่ช่วง ค.ศ.1556-1596)

 

AFarewell to Arms เปิดเผยสภาพสงครามโลกครั้งที่ 1 ณ สมรภูมิอิตาลีราว ค.ศ.1918 ตัวละครเอกเยี่ยงร้อยโทเฟรเดอริก เฮนรี่ (Frederic Henry) ชาวอเมริกันผู้ปฏิบัติหน้าที่หน่วยเสนารักษ์กลางสนามรบรู้สึกทุกข์ทรมานบาดแผลจากการถูกลูกระเบิด แต่เขาได้ตกหลุมรักแคตเธอรีน บาร์กลีย์ (Catherine Barkley) พยาบาลสาวประจำแนวรบ การลุ่มหลงเธอทำให้นายทหารหนุ่มเปี่ยมล้นความใฝ่ฝัน เขายินดีเสพสุขกับหญิงสาว แม้ท้ายสุดความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองจบลงด้วยโศกนาฏกรรม หากกลิ่นอาย “รักระหว่างรบ” กลับร่ายมนต์ตราตรึงผู้อ่านอย่างชวนประทับใจ

นักวิจารณ์วรรณกรรมหลายรายเสนอว่า เฮมมิ่งเวย์ได้หยิบยกเอาประสบการณ์ของตนขณะรับใช้ชาติกลางสมรภูมิอิตาลีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเขาสังกัดหน่วยเสนารักษ์ในฐานะคนขับรถพยาบาลมาพรรณนาไว้ผ่านนวนิยายเรื่องนี้

ทั้งมองว่าร้อยโทเฟรเดอริก เฮนรี่ ก็คือตัวเฮมมิ่งเวย์เอง เพราะเผชิญชะตากรรมคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะสังกัดหน่วยเสนารักษ์เหมือนกัน ได้รับบาดเจ็บจากลูกระเบิดเหมือนกัน และที่สำคัญคือพบรักกับพยาบาลสาวเหมือนกัน

ถ้าในนวนิยาย ร้อยโทเฟรเดอริก เฮนรี่ หลงรักแม่สาวอังกฤษอย่างแคตเธอรีน บาร์กลีย์

ในชีวิตจริง เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ ก็หล่นลงไปในหลุมรักของพยาบาลสาวชาวอเมริกันประจำแนวรบอย่างแอ็กเนส ฟอน คูโรว์สกี (Agnes von Kurowsky)

ในปี ค.ศ.1954 เฮมมิ่งเวย์บอกเอ.อี. ฮอตช์เนอร์ (A.E. Hotchner) ว่า เขาเขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตนเอง ณ สมรภูมิอิตาลีไว้ใน A Farewell to Arms แต่เขาหาได้ลอกเลียนมาจากประสบการณ์ของตนไม่ เขาแต่งมันขึ้นมาต่างหาก

นั่นหมายความว่า ร้อยโทเฟรเดอริก เฮนรี่ อาจจะไม่ใช่ตัวเฮมมิ่งเวย์ก็ได้กระมัง

A Farewell to Arms กลายเป็นบทละครอีกสองปีถัดมา และถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ออกฉายครั้งแรกเดือนธันวาคม ค.ศ.1932 (ตรงกับ พ.ศ.2475) ดาราดังอย่างแกรี่ คูเปอร์ (Gary Cooper) สวมบทบาทร้อยโทเฟรเดอริก เฮนรี่ และเฮเลน เฮส์ (Helen Hayes) สวมบทบาทแคตเธอรีน บาร์กลีย์

 

หันมายังเมืองไทย ในปี พ.ศ.2474 ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ได้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์เงียบขาว-ดำ ฟิล์ม 35 ม.ม. ที่ตั้งชื่อว่า “รบระหว่างรัก” ให้บริษัทหัสดินทร์ภาพยนตร์ของหม่อมราชวงศ์อนุศักดิ์ หัสดินทร์

ถือเป็นผลงานกำกับฯ ชิ้นแรกของท่านขุน ทำรายได้พุ่งพรวดและบันดาลให้กิตติศัพท์ของท่านเลื่องลือขจรขจายหลังจากหนังออกฉายในเดือนพฤษภาคม

ผมยังเข้าใจอีกว่า “รบระหว่างรัก” ของท่านขุนสำแดงถึงการจงใจล้อชื่อ รักระหว่างรบ ของเฮมมิ่งเวย์นั่นแหละ

ทางด้านเนื้อหาภาพยนตร์ พระเอกเป็นหนุ่มชาวนาที่ร่ำลาแม่และหญิงสาวคนรักอาสาไปรบสงครามโลกครั้งที่ 1 ณ ทวีปยุโรป

ขุนวิจิตรมาตราอธิบายฉากการรบในหนังว่า “…แสดงเป็นการรบตอนหนึ่ง ที่พระเอกขับยานยนต์เข้ายึดสนามเพลาะของข้าศึกท่ามกลางลูกระเบิดและกระสุนปืนกล จนถึงตะลุมบอนสู้กันอย่างทรหดตัวต่อตัว ฉากนี้ให้เป็นเวลากลางคืนทำให้หวาดเสียวตื่นเต้น…”

ผู้แสดงนำของเรื่องได้แก่ แฉล้ม บัวเปลี่ยนสี, เพลินพิศ ยมนาค, ปลอบ ผลาชีวะ และแน่งน้อย โสมสกุล

ขอสารภาพ ที่เอ่ยอ้างคือความคิดของผมในวันวานซึ่งค่อนข้างเชื่อทำนองว่าขุนวิจิตรมาตราน่าจะเคยแว่วยินข่าวคราวผลงานประพันธ์ของเฮมมิ่งเวย์จากช่องทางใดช่องทางหนึ่งบ้าง

ใช่สิ! เขาควรรู้จักเฮมมิ่งเวย์มาก่อนสร้างภาพยนตร์ไทย

แต่บางทีท่านขุนก็อาจจะไม่รู้จักนักเขียนชาวอเมริกันผู้นี้ และผมอาจคิดผิด!

อย่าเผลอลืมเชียวว่า A Farewell to Arms ที่ใช้ชื่อภาษาไทย รักระหว่างรบ เพิ่งจะชัดเจนตอนอาษา ขอจิตต์เมตต์ แปลและตีพิมพ์ออกมาหลังปี พ.ศ.2500

ขณะเดียวกันหนังไทยเรื่อง “รบระหว่างรัก” ของขุนวิจิตรมาตราก็ออกฉายปี พ.ศ.2474 ก่อนหน้าหนังฝรั่งออกฉายปี ค.ศ.1932 (ตรงกับ พ.ศ.2475)

 

รักระหว่างรบ ยังเป็นชื่อภาษาไทยของนวนิยายเรื่อง The Moon Is Down ผลงานประพันธ์โดยจอห์น สไตน์เบค (John Steinbeck)

แย้มพรายภาพสงครามที่ชาวนอร์เวย์ลุกขึ้นสู้ต่อต้านการรุกรานเข้ายึดครองเหมืองถ่านหินจากพวกนาซีเยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

พิชัย รัตนประทีป แปลถอดความสู่พากย์ไทยไว้เมื่อปี พ.ศ.2508 และมักเป็นที่เข้าใจว่าพิชัยตั้งชื่อซ้ำซ้อนกับ A Farewell to Arms ของเออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ ที่ อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปล

แต่ถ้าดูกันตามเวลาตีพิมพ์จะพบว่างานแปลของอาษาจัดพิมพ์ออกมาทีหลังในปี พ.ศ.2512

ความที่มีโอกาสคลุกคลีกับหลักฐานวรรณกรรมเก่าๆ นานหลายปี ผมสังเกตเห็นร่องรอยบางอย่างและอยากลองนำเสนอว่า บุคคลผู้เสมือนต้นตำรับการเขียนงานจำพวก “รักระหว่างรบ” รวมถึงเพียรเผยแผ่สู่สายตาสังคมไทยน่าจะเป็นชะเอม อันตรเสน เจ้าของนามปากกา “ศรีเสนันตร์” หนึ่งในนักเขียนนักแปลตระกูล “ศรี” แห่งยุคทศวรรษ 2460 และทศวรรษ 2470 เฉกเช่น ศรีเงินยวง (โกศล โกมลจันทร์), ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์), ศรีอิศรา (หม่อมหลวงฉอ้าน อิศรศักดิ์) และศรีสุรินทร์ (สนิท เจริญรัฐ)

ผมยังคิดว่าเป็นไปได้สูงที่ขุนวิจิตรมาตราอาจจะรับอิทธิพลการสร้างบทภาพยนตร์มาจากชะเอม ทั้งตั้งชื่อหนัง “รบระหว่างรัก” ของตนล้อกับงานบทละครร้องเรื่องหนึ่งของ “ศรีเสนันตร์” เสียมากกว่านวนิยายของเฮมมิ่งเวย์

คล้อยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง งานเขียนถ่ายทอดเรื่องราวคนไทยในเหตุการณ์มหาสงคราม ณ ทวีปยุโรปได้ปรากฏรูปโฉมต่อแวดวงบรรณพิภพไทยจำนวนมากมาย นอกเหนือจากงานเขียนบันทึกประสบการณ์โดยทหารอาสาผู้ไปร่วมรบแล้ว (มักเขียนในรูปแบบบทร้อยกรองเชิงนิราศ เช่น แหล่เทศน์ประวัติกองทหารบกรถยนต์ซึ่งไปในงานพระราชสงคราม ทวีปยุโรป ภาค 1-2 ของเคลือบ เกษร และนิราศมหายุทธ์ ของจันท์ ศุขมา)

ในงานเขียนบันเทิงคดีที่เรียกว่า “เรื่องอ่านเล่น” ก็อาศัยฉากสมรภูมิมาเป็นเครื่องดำเนินเรื่องเช่นกัน และนักประพันธ์ที่ชอบสร้างสรรค์งานประเภทนี้คือ ชะเอม อันตรเสน

 

ปลายทศวรรษ 2460 “ศรีเสนันตร์” เขียน หญิงไทยในแนวรบ เล่าเรื่องราวนางพยาบาลชาวไทยที่คอยช่วยเหลือทหารในสนามรบแนวหน้า ดังประกาศโฆษณาหนังสือเล่มใน เกราะเหล็ก รายสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2467 (เทียบการนับศักราชแบบปัจจุบันย่อมตรงกับ 29 มีนาคม พ.ศ.2468 หรือ 29 มีนาคม ค.ศ.1925)

ถัดต่อมาเขาก็เขียนเรื่อง “เกียรติศักดิ์ทหารอาสา” แจกแจงรายละเอียดชีวิตรบและชีวิตรักของทหารอาสาชาวสยามที่ไปร่วมรบ ทยอยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในสมานมิตรบรรเทอง ซึ่งตอนแรกสุดลงพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2469 (ตรงกับ ค.ศ.1926)

กระทั่งปี พ.ศ.2474 (ตรงกับ ค.ศ.1931) “ศรีเสนันตร์” แต่งบทละครร้องเรื่อง รักระหว่างรบ บรรยายฉากในกรุงปารีสและแนวรบชายแดนฝรั่งเศส มีตัวละครชายชาวไทยคือ สมรรถ, อุทิส และมาลา ร่วมกับตัวละครหญิงฝรั่งเศสอย่างมาดามลูแปงและมาดมัวแซลชาแวรต์ นักเต้นระบำประจำภัตตาคารอันนัม

บทละครร้องตีพิมพ์ออกมามิทันนาน ภาพยนตร์ “รบระหว่างรัก” ของขุนวิจิตรมาตราก็ออกฉายปีเดียวกัน

พึงตระหนักเหลือเกินว่า “ศรีเสนันตร์” คือบุคคลผู้ทำให้แวดวงหนังสือไทยได้ทำความรู้จักคุ้นเคยเนื้อเรื่องแนว “รักระหว่างรบ” แบบไทยๆ เมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีก่อนจนกลายเป็นต้นแบบให้งานวรรณกรรมยุคหลังๆ หลากหลายชิ้น

ซึ่ง “ศรีเสนันตร์” ดุจดั่งหมุดหมายแรกๆ โดยเฉพาะความรักในระหว่างสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1 อันคลับคล้าย A Farewell to Arms ของนักเขียนระดับโลกเยี่ยงเฮมมิ่งเวย์

และตรองๆ ดูซี ชะเอม อันตรเสน ผลิตผลงานออกมาก่อนปาป้าเออร์เนสต์ชาวอเมริกันเสียอีก

เดือนกรกฎาคมศกนี้ เมื่อได้เอ่ยอ้างรำลึกถึงเออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ และงานเขียน รักระหว่างรบ ขึ้นมา ผมจึงปรารถนาเกาะกุมโอกาสที่จะแนะนำให้คุณผู้อ่านทำความรู้จักกับชะเอม อันตรเสน หรือ “ศรีเสนันตร์” ไปพร้อมๆ กันด้วยอีกสักคน

แม้ปัจจุบันชื่อเสียงเรียงนามของเขาค่อนข้างถูกลืมเลือนก็ตามเถอะ