สุจิตต์ วงษ์เทศ : พิธีศพไปทางน้ำ บนเกาะบอร์เนียว ตามประเพณีดึกดำบรรพ์

พิธีศพยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ เมื่อขวัญหายถาวร ต้องเชิญขวัญไปเมืองฟ้า ทางน้ำ เพื่อรวมพลังกับผีขวัญบรรพชน นอกจากพบร่องรอยในกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือของเวียดนามแล้ว ยังพบว่ามีด้วยในกลุ่มหมู่เกาะทะเลใต้ของอุษาคเนย์

ผมเคยขอให้คุณไมเคิล ไรท์ สรุปไว้นานหลายปีแล้วจากหนังสือวิชาการเล่มหนึ่ง เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกับพิธีกรรมของชาติพันธุ์อื่นๆ จะขอตัดทอนเอาแต่สาระสำคัญมา ดังต่อไปนี้

[ปรับปรุงโดยสรุปจากบทความเรื่อง “ตามล่าศพและวิญญาณในอุษาคเนย์” ของ ไมเคิล ไรท์ (เก็บความจากหนังสือ A Borneo Journey into Death, by Peter Metcalf University of Pennsylvania Press 1982) พิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2537) หน้า 60-62]

 

พิธีศพบนเกาะบอร์เนียว

ในเกาะบอร์เนียวมีหลายเผ่าพันธุ์ที่นับถือผี, ไม่รู้จักพุทธ, พราหมณ์หรืออิสลาม ในบรรดาเผ่าเหล่านี้มีเผ่าหนึ่งที่ภาษามลายูเรียกว่า Berawan (บ’ราวัน) แต่เรียกตัวเองว่า Melawan (ม’ลาวัน) ชนเผ่านี้เหลือเพียง 4-5 บ้าน, แต่ละบ้านเป็น “เรือนยาว” (Longhouse) เรือนละ 300 กว่าครัว

ศพผู้ใหญ่มีหน้ามีตา, มีลูกมีหลาน, เขาจะทำศพอย่างใหญ่โตมโหฬารถึงสองครั้ง เนื่องจากคติความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับศพและวิญญาณ

ชาวบ’ราวันเชื่อว่า เมื่อคนตายใหม่ๆ ขวัญหนีกระเจิงไม่กลับมา, ศพถึงเริ่มเน่า, แต่ดวงวิญญาณที่จะไปอยู่กับบรรพบุรุษในปรโลกนั้นยังไม่เกิด, แต่เป็น “ผีดิบ” หรือ “ลูกกรอก” ที่ยังก่อตัวไม่สมบูรณ์ตราบเท่าที่ศพยังกำลังเน่าอยู่

วิญญาณจะสมบูรณ์ ไปอยู่กับบรรพบุรุษได้ก็เมื่อกระดูกแห้งหรือเป็น “ผีสุก” ศพครั้งแรกเป็นการปลอบใจโดยทั่วหน้า และเป็นงานเก็บศพ

ทุกครัวในเรือนยาวจะมาช่วยงาน รวมทั้งญาติมิตรจากเรือนยาวอื่นต่างช่วยกันด้วยทรัพย์, ด้วยข้าวปลาอาหาร, ด้วยการเล่นพนัน, การละเล่นต่างๆ ทั้งวันและตลอดคืนตราบเท่าที่ศพยังอยู่บนบ้าน โดยมีดนตรีฆ้องกับกลองบรรเลงตลอด

สองวันแรกศพจะนั่งอยู่บนบัลลังก์ไม้ไผ่ เท้าวางอยู่ในฆ้องหงาย (คว่ำ?), นุ่งห่มผ้าโบราณมีค่า, มือวางอยู่ในชามบนตักที่ใส่ของหวาน, เหรียญ, ธนบัตรและบุหรี่ ของมีค่าประจำตระกูลจะเอามาตั้งไว้รอบศพ เช่น ผ้าเก่ามีค่า, ถ้วยชามจีน, ภาชนะสำริด, นาฬิกา, วิทยุ, เครื่องเย็บผ้า

ลูกๆ จะนั่งเฝ้าศพจนถึงวันที่สาม เมื่อกล้ามเนื้อของศพหย่อนคลาย (แสดงว่าศพเริ่มเน่า) แล้วรีบเอาศพลงไหหรือโลง เพื่อให้ศพเน่าและวิญญาณเกิด

%e0%b9%84%e0%b8%ab%e0%b9%83%e0%b8%aa%e0%b9%88%e0%b8%a8%e0%b8%9e
ไหใส่ศพ (ซ้าย) ใส่ศพผู้ใหญ่ (ขวา) ใส่ศพเด็ก ทั้ง 2 ใบ มีรอยต่อตรงไหล่ไห เพราะถูกเลื่อยเป็น 2 ส่วน เอาศพบรรจุ แล้วปิดประกบด้วยชันยาเรือ

ไหหรือโลง?

ผู้เฒ่าบางท่านจัดไหหรือโลงก่อนตายล่วงหน้า บางท่านตายก่อนกำหนดจึงต้องอาศัยไหหรือโลงตามแต่จะขอเขาได้หรือซื้อเขามา (เพราะต่างใช้เวลามากในการทำ)

เขาจะเลื่อยไหล่ของไหให้ขาดเพื่อสอดศพเข้าไปแล้วต่อปากไหด้วยชันยาเรือ ทางก้นไหจะเจาะเป็นรูให้บุพโพไหลลงดิน


ศพลงเรือไปทางน้ำ

หากหาไหไม่ทันชาวบ’ราวันก็จะขุดโลงจากท่อนซุง (ซึ่งทำได้ไวเพราะเขาเชี่ยวชาญทำเรือขุด) เมื่อบรรจุศพในไหหรือโลงแล้ว ก็จะนำลงเรือไปส่งถึงป่าช้า

เรือนั้นปัจจุบันเป็นเรือขุดธรรมดา 2-3 ลำผูกขนานกันเป็นแพ ติดเครื่องหางยาว, แต่บ้างเรียกว่า “เรือนาค” บ้างเรียกว่า “เรือนกเงือก” (ดูจะตรงกับ “เรือวิญญาณ” บนกลองมโหระทึก)

พอพาศพมาถึงป่าช้า แต่เดิมตั้งไว้บนศาลไม้ประจำตระกูล แต่ปัจจุบันมักเก็บในสุสานปูนซีเมนต์, โดยหมายจะให้ศพเน่าจนกลายเป็นกระดูกแห้ง อีกนัยหนึ่งเป็นการปล่อยให้ “ผีดิบ” กลายเป็น “ผีสุก” หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการปล่อยให้ศพที่นั่งอยู่ในไหเหมือนลูกกรอกในท้องแม่สลายตัว เพื่อวิญญาณที่ยังอยู่ในสภาพ “ลูกกรอก” ก่อตัวให้สมบูรณ์จนไปอยู่กับบรรพบุรุษในปรโลกได้

 

งานศพครั้งที่สอง

ในขณะที่ศพกำลังเน่าและกลายเป็นกระดูกแห้ง ชาวบ”ราวันจะจัดงานศพครั้งที่สองฉลองกระดูก

เมื่อญาติๆ แน่ใจว่าศพเน่าหมดแล้วกลายเป็นกระดูกแห้ง (ซึ่งอาจจะหลายเดือนหรือหลายปีแล้วแต่ญาติๆ จะนึกคิดหรือพร้อมเพรียงกันเมื่อไร) ก็จะพากันไปที่ป่าช้าเพื่อเปิดไหหรือหีบเอากระดูกออกมาขัดล้าง

มีการดื่มเหล้ากันและเทเหล้าใส่ไหล่ไห, แล้วเริ่มการละเล่นสองอย่างที่จะเล่นกันตลอดงานฉลองกระดูกแต่ห้ามเล่นในงานอื่นใด นั่นคือการตีลูกคาง และรำ “กระทบไม้” (เขาใช้ไม้ซ้อมข้าว ไม่ใช่ไม้ไผ่) ถ้าไหยังดีอยู่ก็จะใส่กระดูกที่ล้างสะอาดกลับเข้าไปในไหเก่า, แต่หากไหไม่สวยหรือหีบผุ, ก็จะใส่ลงไปในภาชนะที่มีค่าเช่นแจกันจีน, แล้วนำลงเรือแห่กลับบ้านพร้อมเสียงฆ้องเสียงกลองเอิกเกริก

เมื่อแห่กลับถึงเรือนยาวก็จะตั้งไหกระดูกไว้บนระเบียงล้อมรอบด้วยของมีค่าของตระกูล, แล้วจะมีงานเลี้ยงฉลองเป็นหลายวันหลายคืน

มีเล่นการพนัน, ตีฆ้องตีกลอง, ดีดพิณ, เป่าแคน, และที่จำเป็นที่สุดจะต้องมีรำ “กระทบไม้” และตีลูกคาง

งานนี้ (เขาเรียกว่า “นุลัง”) ไม่มีลักษณะเป็นการไว้ทุกข์, ไม่มีใครอยู่ในภาวะ “ต้องห้าม” แต่เป็นงานมงคลร่าเริงล้วน เพราะเป็นงานต้อนรับบรรพบุรุษ และเป็นการส่งผู้ตายที่กลายเป็นวิญญาณบริสุทธิ์ไปอยู่ใน “เรือนยาวของบรรพบุรุษ” ซึ่งใครๆ ก็อยากจะไปอยู่เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว

ในคืนสุดท้ายของงาน “นุลัง” หญิงผู้เฒ่าทุกคนในเรือนยาวจะร้องเพลงสรรเสริญบรรพบุรุษ, เชิญให้กลับสู่เรือนยาวในปรโลก และนำวิญญาณไปด้วย

เช้าวันรุ่งขึ้นจะเชิญไหกระดูกลงจากเรือน, แห่ไปทางเรือสู่สุสานแล้วบรรจุไว้บนเรือนไม้มีใต้ถุนและหลังคาประดับเป็นเรือหัวนกเงือก เป็นอันจบพิธี