ว่าด้วย ภาษาถิ่น ภาษามาตรฐาน ภาษากลาง แตกต่างกันยังไง ?

พจนานุกรม ศัพท์ภาษาศาสตร์ (ภาษาศาสตร์ประยุกต์) ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๕๗. ได้ให้ความหมายของ ภาษาถิ่น ภาษากลาง และภาษามาตรฐานไว้ ดังนี้

ภาษาถิ่น (regional dialect) หมายถึงภาษาย่อยที่พูดในถิ่นใดถิ่นหนึ่งและมีลักษณะบางประการที่ต่างจากภาษาย่อยของภาษาเดียวกันที่พูดในอีกถิ่นหนึ่ง ภาษาถิ่นอาจเป็นภาษาประจำถิ่นในบริเวณขนาดเล็กหรือบริเวณขนาดใหญ่ก็ได้ เช่น ภาษาไทยถิ่นเหนือเป็นภาษาถิ่นระดับภาค ภาษาไทยถิ่นเชียงใหม่เป็นภาษาถิ่นระดับจังหวัด และภาษาไทยถิ่นสันป่าตองเป็นภาษาถิ่นระดับอำเภอ

ภาษากลาง (linqua franca) หมายถึงภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มคนที่พูดภาษาต่างกัน ภาษากลางอาจเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันระหว่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษซึ่งอาจเป็นภาษาแม่ของคนกลุ่มหนึ่งหรืออาจเป็นภาษาที่มิได้เป็นภาษาแม่ของกลุ่มใดก็ได้ ภาษากลางอาจเป็นภาษาธรรมชาติที่มีโครงสร้างซับซ้อน หรือภาษาที่มีโครงสร้างประโยคและศัพท์ที่ใช้ไม่ซับซ้อน ซึ่งมักเกิดจากการผสมของภาษา ๒ ภาษาหรือมากกว่านั้น

ภาษามาตรฐาน (standard language) หมายถึงภาษาที่ถือว่าเป็นภาษาที่ถูกต้องมากที่สุดในสังคมระดับชาติ มีการจัดทำพจนานุกรม ตำราไวยากรณ์ หรือกฎเกณฑ์อื่นๆ ของการใช้ภาษา ภาษามาตรฐานเป็นที่ยอมรับมากที่สุดของสังคม

มักใช้เป็นภาษาราชการ ได้รับยกย่องให้เป็นภาษาประจำชาติและเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีของคนในชาติ

หนังสือ แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. (Ethnolinguistic Mapping of Thailand). ของ สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ ได้กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยมีภาษาที่ใช้อยู่ประมาณ ๗๐ ภาษา ซึ่งมีทั้งภาษาไทยถิ่นตามภูมิภาค (เช่น ภาษาไทยถิ่นกลาง ภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยถิ่นใต้) และภาษาชุมชนท้องถิ่น (เช่น ภาษามลายูปาตานี ภาษาเขมรถิ่นไทย ภาษาโคราช ภาษากะเหรี่ยง ภาษามอญ)

นอกจากนี้ยังมีภาษาต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่งด้วย (เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มลายู เวียดนาม พม่า เขมร ลาว) โดยมีผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นกลางมากที่สุดคือประมาณ ๒๐ ล้านคน

ภาษาไทยถิ่นกลางรูปแบบหนึ่งที่ใช้กันในกรุงเทพฯ ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นภาษามาตรฐานหรือภาษากลางของประเทศ

ถือว่าเป็นภาษาที่ใช้ในกิจกรรมสำคัญของประเทศ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารกับคนทั้งประเทศนั่นเอง

โดยสรุปก็คือ ภาษาถิ่นเป็นภาษาที่ใช้เฉพาะกลุ่ม ภาษากลางเป็นภาษาที่ใช้ระหว่างกลุ่ม ส่วนภาษากลางที่ผ่านการปรับปรุงแล้วถือว่าเป็นภาษามาตรฐาน มักใช้เป็นภาษาราชการ และเป็นภาษาประจำชาติด้วย

ในกรณีของประเทศไทยเรียกชื่อเป็นกลางๆ ว่า “ภาษาไทย” แต่ในกรณีของประเทศที่มีภาษาถิ่นมากมายอย่างอินเดีย ไม่มีการประกาศว่าภาษาใดเป็นภาษาประจำชาติ แต่มีภาษาราชการ ๒ ภาษา คือ ฮินดี กับ อังกฤษ ร่วมกับภาษาถิ่นอื่นๆ อีก ๒๒ ภาษา ส่วนภาษาที่ใช้ในทางราชการ เช่น ในรัฐสภา ศาล และการสื่อสารระหว่างหน่วยราชการใช้ภาษาอังกฤษ

ภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร การเลือกใช้ภาษาใดย่อมเป็นไปตามกาลเทศะ ถ้าผู้ใช้ภาษาต้องการสื่อกับคนกลุ่มใหญ่ก็ควรใช้ภาษาที่คนกลุ่มใหญ่เข้าใจ

ถ้าผู้ใช้ภาษาต้องการสื่อกับคนเฉพาะกลุ่มก็ควรใช้ภาษาเฉพาะกลุ่ม

เมื่อเลือกใช้ภาษาสำหรับคนกลุ่มใหญ่แล้วหากจะมีการสอดแทรกภาษาเฉพาะกลุ่มลงไปบ้างก็เพื่อเป็นสีสันหรือแสดงตัวตนของผู้พูดเท่านั้น

หาได้ใช้เพื่อการสื่อสารสำหรับคนกลุ่มใหญ่ไม่