อภิญญา ตะวันออก : พลีกรรมธรรมชาติ ปราสาทยุคหริหราลัย

อภิญญา ตะวันออก

ในวงการนักวิจัยโบราณวิทู ปราสาทฮินดูกัมพูชา พลัน สำหรับความสนใจปราสาทยุคหริหราลัยอย่างปราสาทตรอเปียงพง (คริสต์ศตวรรษที่ 9) ที่พบว่า ข้อมูลภาคสนามของปราสาทปรักหักพังเหล่านี้ มีความย้อนแย้งต่อความสำคัญและการจัดหมวดหมู่ทางโบราณวิทยา

จากปราสาทที่ไร้ชื่อนามการรู้จัก ปราสาทตรอเปียงพง (ชื่อท้องถิ่น) มีที่ตั้งเหนือทะเลสาบใหญ่ ระหว่างกึ่งกลางปราสาทบากงและปราสาทรอลัวะ (Roluos) ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองพระนคร

แม้ปัจจุบันรอลัวะและหริหราลัย อยู่ในยุคเดียวกันจากสถานที่ตั้ง ซึ่งปราสาทรอลัวะชิดริมทะเลสาบใหญ่ราว 3 กิโลเมตร แต่ปราสาทตรอเปียงพงเก่าแก่กว่า

ด้วยเหตุนี้ ตรอเปียงพงจึงถูกเก็บหลักฐานความเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และเชื่อว่า มีฐานกำเนิดของระบบจำลองการจัดระเบียบน้ำ “ธาราศาสตร์วิทยา” ก่อนยุคเมืองพระนครอย่างต่างยุคต่างวาระ เพื่อสกัดการไหลบ่าของน้ำสู่ราชธานี

โดยตัวอย่างนี้ แม้จะไม่ยืนยัน แต่บารายแม่บุนตะวันออก (พ.ศ.1443) และแม่บุนตะวันตก (1549-1593) คือหลักฐานการสร้าง “แก้มลิง” หรืออ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ สำหรับพักน้ำเพื่อการเกษตรและบรรเทาการท่วมบ่าของน้ำหลากในฤดูมรสุมจากทะเลสาบใหญ่สู่ราชธานีชั้นใน

ตามความเห็นผู้เขียน อาจเป็นไปได้ว่า ตรอเปียงพงอาจเปรียบเป็นอนุสาวรีย์หน้าด่านตามลัทธิพิธีกรรมพราหมณ์การบูชาธาราศาสตร์ ที่อาจมีมาแต่สมัยหริหราลัย และความสำคัญนี้ต่อมา ได้กลายเป็นดัชนีธรรมชาติจากการเผชิญหน้ากับภัยพิบัติทุกๆ มรสุม ที่สร้างมิติการประมวลภัยธรรมชาติที่คุกคาม

และจากสมมติฐานเบื้องต้นนี้ ทำให้พบว่า การกำหนดลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ตามกลุ่มปราสาทขอมที่ถูกจำแนกไว้ระหว่าง “เจนละน้ำ” (ปราสาทที่ราบลุ่มน้ำ) และ “เจนละบก” (พนม/ภูเขา) นั้น พอจะอนุมานศึกษาว่า

ปราสาทขอมทุกยุคไม่ว่าใหญ่-เล็ก ต่างมีหน้าที่ตามลักษณะที่ตั้งและภพภูมิกำเนิด ตามหน้าที่ (อันพึง) ปฏิบัติในแต่ละยุคด้วย

 

ต่อข้อประกอบสภาพชุมชนธาราศาสตร์จำลอง ณ ปราสาทตรอเปียงพงตามการวิเคราะห์นี้ มาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์อันพิเศษ ที่นักวิจัยค้นพบจากการลงสำรวจภาคสนาม (2543 : ตามโครงการ mafkata : 2547/2548) จากนั้น สมมุติฐานทฤษฎีแบบ การตั้งถิ่นฐานของภูมิ/ชุมชน/หมู่บ้าน และหลักฐานแวดล้อมมาวิเคราะห์

สำหรับ “ปราสาทตรอเปียงพงแห่งหริหราลัย : ประวัติศาสตร์ ถิ่นฐานและโบราณวิทยา” ที่คริสโตเฟอร์ พ็อตติเยร์-อันนี โบลวิจัย : Le Prasat Trapeang Phong a Hariharalaya : histoire d”un temple et arch?ologie d”un site (น. 61-90) นั้น นักโบราณวิทยาทั้งสอง ได้ลงพื้นที่ที่เรียกว่า Terre-pliens (ที่ราบ) รอบปราสาทตรอเปียงพงที่บ่งชี้ถึงคุณสมบัติพิเศษของปราสาทตรอเปียงพง อันมีผลสำคัญต่อราชธานีส่วนกลาง

อย่างต่างยุคต่างวาระต่อสมมุติฐานนี้ ผู้เขียนร่วมตั้งข้อสังเกตว่า แม้ราชธานีศูนย์กลางจะเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย อาทิ จากภูเขาพนมกุเลนมาเป็นที่ราบเหนือทะเลสาบเมืองพระนคร (องกอร์วัด/องกอร์ทม) กระนั้น ความเป็นเมืองใต้อาณัติและหน้าด่านอย่างปราสาทตรอเปียงพง ก็ยังคงมีนัยยะสำคัญ แม้จะถูกบดบังไม่ต่างจากเถ้าธุลีเมืองรองที่ถูกลืมก็ตาม

ณ ที่นี้ คือ ความก้าวหน้าของธาราศาสตร์ระบบที่อาจพบในสมัยเมืองพระนคร และกระบวนธาราศาสตร์วิทยานี้ มีส่วนทำให้ตรอเปียงพงปราสาท ไม่ต่างจากเมืองเล็กพลีชีพเพื่อเมืองใหญ่

อีกบางครั้งยังตายในสมรภูมิด้วย เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากวิบัติภัยจากน้ำท่วมบ่าครั้งแล้วครั้งเล่า จนมีสถานะไม่ต่างจากเครื่องวัดระบบระบายน้ำของหัวเมืองชั้นในๆ แต่ฤดูกาล

ตั้งแต่ภายใต้อาณัติปราสาทบากงสมัยปฐมราชธานีที่พนมกุเลนโดยกษัตริย์ชัยวรมันที่ 2 จนถึงยุคเมืองพระนคร

และนี่คือสิ่งเสริมว่า ปราสาทตรอเปียงพงถูกบดบังมาตลอดต่อความสำคัญ รวมทั้งเมื่อเหล่านักวิทูปราสาทขอมแห่งศตวรรษที่ 20 ทำการศึกษา ก็ให้ความสำคัญแต่เฉพาะรูปจำหลัก และจารึก ที่สรรเสริญบูชาแต่ลัทธิเทวนิยม

ทว่า วิวัฒนาการปราสาทตรอเปียงพงได้ถูกนำไปเป็นข้อสมมุติฐาน โดยนักโบราณคดียุคสหัสวรรษ (ที่ 21) โดยเฉพาะการให้น้ำหนักทางมานุษยวิทยารวม และวิวัฒนาการของมนุษย์ต่อการเอาชนะธรรมชาติมากกว่าลัทธิความเชื่อแบบเทวนิยมซึ่งเป็นกระแสหลักในอดีต

ในที่นี่ คือคติมุมมองแบบนักมานุษยวิทยางานวิจัยภาคสนามของนักโบราณวิทู และเครื่องมือเทคโนโลยีในการวิจัย อันนำไปสู่การตีความใหม่ของปราสาทรองหน้าด่าน อันก่อให้เกิดอานิสงส์สำคัญต่อราชธานีกลาง และอันตรายอย่างนิรันดร์กาลสำหรับหัวเมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในจุดภัยพิบัติ

และยังมีส่วนทำให้ปราสาทพันปีที่พังทลายหายไปแห่งหนึ่ง ได้รับการฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

กล่าวคือ นอกจากจะสำคัญแห่งความเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” แล้ว ยังได้รับการปฏิบัติไม่ต่างจากเมืองปลายแถวหรือทาสธานีอีกด้วย

ถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะจับ “เจนละบก” – “เจนละน้ำ” เป็นคีย์เวิร์ดรหัสนัยบางประการ ที่ช่วยให้น้ำหนักของสมมุติฐานต่อปราสาทหน้าด่านขนาดเล็กของศูนย์กลางอำนาจ ไม่ต่างจากเมืองส่วยผลิตเสบียงส่งศูนย์กลางราชธานีกลางอันยิ่งใหญ่และไกลโพ้น

และไม่ต่างจากเมืองทาสต่อเทิดทูนอุปถัมภ์ต่อราชธานีศูนย์กลางในอดีต

 

ตอนที่เห็นคลิปโจอัล อัลท์แมน ผู้ก่อตั้งฟื้นฟูจิตวิญญาณแบบโยคะ (Hariharalaya Retreat Center) เขามีรูปลักษณ์ภายนอกแบบโยคีตะวันตกคนหนึ่งที่ปรากฏตัวพร้อมกับอาศรม/รีสอร์ต ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้ภูมิหริหราลัย เมืองเสียมเรียบ

พลัน การหวนกลับไปสู่พนมเปญคราวหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว สำหรับการพบพานนักพรตอินเดียนิรนามคนหนึ่งอย่างบังเอิญ การได้เห็นนักพรตจาริกครั้งแรกที่นั่น ทำให้ข้าพเจ้าตื่นตะลึงและตกอยู่ในห้วงค้นหาคำตอบตลอดมาต่อคำว่าสวามีและลัทธิฤๅษีที่ต่อมาพบว่า มีอยู่ในศตวรรษที่ 10/11 แห่งพนมกุเลนบรรพตที่ซึ่งหลายปีต่อมาข้าพเจ้าได้ไปเยือน และพบว่า นี่ไม่ใช่เลยในความบังเอิญต่อการค้นพบลัทธิฤๅษีพนมกุเลน ซึ่งเคยปรากฏและยิ่งใหญ่ในยุคเทวนิยมต่อมาหลังสมัยชัยวรมันที่ 2

อันยืนยันว่า พนมกุเลนราชธานีขอมยุคแรกแห่งลัทธิกษัตริย์เทวนิยม เคยเป็นที่ตั้งของ “อาศรม” และการถือกำเนิดของลัทธิฤๅษีในยุคนั้น รวมทั้ง อาศรมพนมกุเลนบริเวณ “เปียง-ตบัล และ ปวง-อิษี” (เพิ่มเติมจาก Angkorian Hermitages : Jean-Baptiste Chevance, 2551)

พลัน การผูกโยงระหว่างหริหราลัย-พนมกุเลน จากการอ่านบางช่วงตอนของปราสาทตรอเปียงพงก็เกิดขึ้นอีกครั้ง และมากขึ้นไปอีก เมื่อพบหลักฐานว่า ปัจจุบัน ณ ที่แห่งนั้น ยังมีการจาริกของเหล่าสวามีนักพรตจากอินเดีย ยังมาเยือนดินแดนแห่งนี้เพื่อพิธีกรรมชำระบาปใต้โตรกธารน้ำใต้เทือกเขาปราสาทพนมกุเลน

นั่นเอง ที่จิตวิญญาณแบบพราหมณ์สวามียังคงปรากฏ ที่มากกว่าความหมายทางพิธีกรรม คือการสืบทอดความเชื่อพันปีมาถึงปัจจุบัน

ประหนึ่งเมล็ดพันธุ์แห่งจิตวิญญาณนี้ ไม่เคยถูกพรากทำลายด้วยกาลเวลา

 

จาก “ปราสาทตรอเปียงพง” ตัวอย่างดัชนีความวิบัติและธรรมชาติศึกษา และ “หริหราลัย-พนมกุเลน” อนุสาวรีย์สิ่งปลูกสร้างในสหัสวรรษที่ 2 กรณีศึกษาความหมายของภัยคุกคามทางธรรมชาติ และอำนาจปกครองระหว่างศูนย์กลาง-ท้องถิ่น

เว้นแต่คติความเชื่อและจิตวิญญาณที่มีต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติและลัทธิเทวนิยม ที่ถูกหลอมรวมเป็นมุมมองใหม่ทางมานุษยวิทยา จะช่วยทำให้เราเห็นเขตคามแห่งการทดลองของระบบจัดการน้ำที่นำไปสู่ “ธาราศาสตร์วิทยา” แห่งความสำเร็จมาแล้วในยุคพันปีก่อน

ท่ามกลางวิบากภัยแล้งที่คุกคามภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเวลานี้ การรำลึกถึงปราสาทตรอเปียงพง อาจเป็นแง่งามกรณีศึกษา อย่างน้อยก็พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะธรรมชาติในรอบ 1 พันปีที่ผ่านมา มีปราสาทเก่าแก่แห่งหนึ่งพลีชีพบูชา ไม่ต่างปราการวัดค่าขึ้นลงของน้ำ-มาตราวัดธรรมชาติอย่างศิโรราบ

และสงบงามอย่างนั้นมาแล้วพันปี