วิเคราะห์ : ควันหลงประเด็นสิ่งแวดล้อมวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ผ่านไปหลายวันแล้ว แต่ควันหลงในวันแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ยังมีอยู่ ทั้งในเรื่องของแนวนโยบายที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขียนให้ดูหรูไว้ แต่ทำได้จริงหรือเปล่า รวมถึงนักการเมืองหน้าใหม่ที่อภิปรายในรัฐสภาอย่างสร้างสรรค์

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เป็นคนหนึ่งที่ใครได้ฟังการอภิปรายแล้วต้องชื่นชมอย่างแน่นอน

ลีลาการพูดต่างกับนักการเมืองเก่าๆ ซึ่งเอาแต่เหน็บแนม เสียดสี ประชดประชัน

ตรงข้ามที่ “พิธา” นำเสนอข้อมูล การยกเหตุผลมาอธิบายแนวคิดและทางแก้ไขด้านการเกษตรอย่างมีจังหวะจะโคนตรงประเด็น

 

“พิธา” ยกตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดสกลนคร ที่รวมตัวปลูกข้าวด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ ส่งไปขายต่างประเทศในราคาสูง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ยกระดับคุณภาพชีวิต

แต่มีเกษตรกรอีกจำนวนมากไม่สามารถทำอย่างเกษตรกรในจังหวัดสกลนครได้ เพราะมีปัญหาซึ่งเปรียบเสมือนกระดุม 5 เม็ด

กระดุมเม็ดแรก เกษตรกรไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง จึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบการเงินได้ ต้องไปกู้เงินนอกระบบซึ่งเป็นกระดุมเม็ดที่ 2

การกู้เงินมาลงทุนเท่ากับการเพิ่มต้นทุน เป็นเงื่อนปมบีบให้เกษตรกรต้องคุมการเพาะปลูกรูปแบบเดิมๆ เช่น ปลูกพืชเชิงเดี่ยว

และเพื่อให้มีผลผลิตตรงตามเวลา ก็ใส่ปุ๋ยเคมี เร่งให้ผลผลิตมีคุณภาพจะได้นำไปขายเอาเงินไปใช้หนี้คืน

การใช้สารเคมีของเกษตรกรเปรียบเสมือนกระดุมเม็ดที่ 3

ทุกวันนี้เกษตรกรมีรายได้ประมาณ 57,000 ต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 4,000 กว่าบาท

กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกรมีหนี้สินมากกว่า 2 เท่าครึ่ง และต้องเสียดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน

นี่คือความเหลื่อมล้ำ คุณพิธาบอกว่า ต่อให้พักหนี้เกษตรกรก็ไม่เปลี่ยนแปลงเพราะจะกลับมาเป็นหนี้อีก

“เมื่อก่อนในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่ทุกวันนี้ในน้ำมียา ในนามีหนี้”

“พิธา” เสนอทางออกเรื่องการกู้เงินในระบบของเกษตรกรซึ่งไม่มีที่ดินทำกินของตัวเองด้วยการนำข้อมูลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น สถิติการใช้น้ำประปา การใช้ไฟฟ้าของเกษตรกรมาประเมินผลปล่อยเงินกู้

เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาเงินกู้นอกระบบ

ผลจากต้นทุนการผลิตสูง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เกษตรกรจึงไม่มีเวลาไปคิดสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่มีเงินไปแปรรูปผลผลิต ซึ่งเป็นกระดุมเม็ดที่ 4 และไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น เกษตรท่องเที่ยว เป็นกระดุมเม็ดที่ 5

“พิธา” สรุปปัญหาหลักของเกษตรกรไทยคือ “ที่ดิน”

ที่ดิน 90% ครอบครองด้วยคน 10%

ชาวนา 45% ยังต้องเช่าที่ดินอยู่

ที่ดิน มีความกระจุกตัว เหลื่อมล้ำ ไม่ชอบธรรมด้านกฎหมาย

ท้ายสุดการอภิปรายของ “พิธา” ปลุกกระแสสังคมให้เห็นว่าการกลัดกระดุมโดยเฉพาะเม็ดที่ 1 ให้ถูกเป็นเรื่องสำคัญ

 

คราวนี้หันกลับมาดูแนวนโยบายรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้แจงต่อรัฐสภา

เป็นนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง

ขอคัดเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหาโลกร้อน แม้ดูเหมือนเป็นการเขียนลอยๆ ฟุ้งๆ ขาดความชัดเจนในกรอบเวลาและไม่มีการคาดหวังผลลัพธ์ แต่ต้องขอนำมาบันทึกไว้ตรงนี้เพื่อเฝ้าติดตามดูว่า รัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่มากน้อยแค่ไหน

ในนโยบายหลักที่ว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย รัฐบาลบอกว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว

ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมและบริการท้องถิ่น ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน

บริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรมและขยะแบบคลัสเตอร์ ระหว่างชุมชนและอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่ ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ใช้ประโยชน์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ลดละเลิกใช้ปราบศัตรูพืช จัดหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพ

นโยบายด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อม รัฐบาลต้องการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน มีการแบ่งซอยย่อยออกเป็น 8 หัวข้อ

ในเรื่องของการปกป้องรักษาฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เน้นการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้

สร้างสมดุล ปรับปรุงระบบที่ดินทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดิน

ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แหล่งน้ำชุมชนและทะเล เชื่อมโยงกับแผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปีของประเทศ

ด้านการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรแร่ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

รัฐบาลย้ำว่าจะคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

การดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะใช้แผนที่การจำแนกเขตทางทะเลและชายฝั่ง ทำผังให้ชัดเจน กำหนดพื้นที่พัฒนา ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับภูมิศาสตร์

จะรักษาแนวปะการังที่สำคัญต่อการท่องเที่ยว รักษาป่าชายเลนและแหล่งทะเลที่สำคัญต่อการประมง

ด้านการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลจะมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างสังคมคาร์บอนต่ำและปลอดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน

จะใช้มาตรการคุมการเผาพื้นที่เพาะปลูก ปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ สร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่อลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สนับสนุนการลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเข้าร่วมและให้สัตยาบันไว้

ในด้านการพัฒนาระบบการจัดสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

รัฐบาลจะนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดการขยะของเสีย เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตหรือบริโภคที่หลากหลาย

พัฒนากลไกแก้ไขความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะทำระบบการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดความขัดแย้ง

ในข้อสุดท้ายของนโยบายหลักการฟื้นฟูทรัพยากรและการรักษาสิ่งแวดล้อมรัฐบาลแถลงว่า จะแก้ไขปัญหาการจัดการขยะและของเสียอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการลดปริมาณขยะในภาคครัวเรือนและธุรกิจ การนำกลับมาใช้ซ้ำ

การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดปริมาณและต้นทุนในการจัดการขยะของเมืองและนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย รวมทั้งพัฒนาโรงงานกำจัดขยะและของเสียอันตรายที่ได้มาตรฐาน

ส่วนนโยบายเร่งด่วน รัฐบาลจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย ตั้งแต่การป้องกัน การให้ความช่วยเหลือและการแก้ไขปัญหาระยะยาว จัดระบบติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุดและทันท่วงที รวมทั้งพัฒนาการปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นคำแถลงด้านสิ่งแวดล้อมและการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในยุคเปลี่ยนผ่านจากรัฐประหารสู่ระบอบประชาธิปไตย