“จุติ ไกรฤกษ์” ส่องปัจจัยเลื่อนโรดแม็ปร่าง รธน.-กม.เลือกตั้ง-เปลี่ยนแผ่นดิน กับแผน Re-Branding ปชป.

1,095 วัน นับตั้งแต่ “พลพรรค” ประชาธิปัตย์ถอดสูท-สลัดภาพนักการเมือง “ฝ่ายค้าน” ในสภา กระโดดลง “บนถนน” การเมืองมวลชน-แกนนำเดินขบวน “กระชับพื้นที่” จากบริเวณริมทางรถไฟสามเสนถึงท้องสนามหลวง-ดาวกระจาย ชัตดาวน์ ขับไล่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” จน “พล.อ.ประยุทธ์” “ทุบโต๊ะ” ยึดอำนาจนักการเมือง สถาปนาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์

ไม่มีใครคิดว่านับจากวันนั้นถึงวันนี้ สมาชิกต้นสังกัด “พรรคสีฟ้า” จะถูก “เลิกจ้าง” จากอาชีพนักการเมือง “ตกงาน” ครบ 3 ปี

บางคนหันหลังให้การเมืองถาวรบางคนกลับเข้าห้องเรียนจนจบ “ด๊อกเตอร์” บางคนผันตัวเองเป็นนักเขียนมือสมัครเล่น

13971110021397111076l

“จุติ ไกรฤกษ์” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ร่วมชะตากรรม-ร่วมขบวน “คนว่างงาน” ตัดพ้อหลังตกงานเป็นปีที่ 3 และอาจจะล่วงเลยไปถึงปีที่ 4 ว่า ขณะนี้นักการเมืองยังต้องอยู่ในที่ตั้งห้ามไปไหน เพราะความ “ไม่นิ่ง” และ “ไม่มีความแน่นอน” ทางการเมือง

“ถ้าเป็นพวกผมก็ตกงานครบ 3 ปีทุกคน เพราะตัดสินใจไม่ลงรับเลือกตั้งตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และเมื่อประกาศรับเลือกตั้ง พวกผมก็มีมติไม่ลงเลือกตั้ง (บอยคอต) จนถึงปัจจุบันปี 2559 ก็ครบ 3 ปีพอดี สิ้นปี 2560 ก็ครบ 4 ปี”

“แต่ละคนไม่เหมือนกัน คนที่คิดเลิก (วางมือทางการเมือง) ไปก็มี คนที่รอไม่ไหว ท้อก็มี คนที่เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นก็มี อดีตเลขาธิการพรรคคนก่อนหน้าผม ตอนนี้เรียนจบปริญญาเอกไปแล้ว”

ด้วย “อิทธิฤทธิ์” ของคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 57/2557 จะสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง นักการเมืองจึงต้องท่องคาถา “อดทน นั่งเฉยๆ”

14316734931431673552l

ทว่า พรรคประชาธิปัตย์กลับ “สุ่ม” Reform (ปฏิรูป) พรรคเป็นการภายใน โดยการพัฒนาศักยภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ภายในพรรค เช่น อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ภายในพรรค “ลางาน” ไปเรียนภาษาอังกฤษได้ และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของพรรคให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ แกนนำพรรคสีฟ้า ทั้งหัวขบวน-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณ์ จาติกวณิช องอาจ คล้ามไพบูลย์ ถาวร เสนเนียม และกรรมการบริหารพรรคหลายคน ออก “เดินสาย” เก็บข้อมูลจากประชาชนเป็น “สารตั้งต้น” เพื่อผลิตนโยบาย “โดนใจ” เตรียมพร้อมงัดมาใช้เป็น “อาวุธทางการเมือง” สู้รบในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป

“จุติ” แย้มแผนว่า “พรรคคิดไว้แล้ว” หาก คสช. ปลดแอกนักการเมืองให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้

“เรื่องใดที่พรรคบกพร่องก็ยอมรับและปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เรารู้ว่าพรรคมีข้อบกพร่องในเรื่องการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ พยายามแก้ไข แต่การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ต้องอาศัยวินัยอย่างเคร่งครัดที่จะอยู่กับข้อความหลักสื่อให้ถึงชาวบ้าน แต่พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นอิสระ ทุกคนมีสถานะเท่ากันหมด เพราะทุกคนสละเงินเดือนให้กับพรรคตั้งแต่หัวหน้าพรรคไปจนถึงลูกพรรค ทุกคนมีความเห็นเท่ากัน เสียงดังเท่ากัน ฉะนั้น จึงหาวินัยยากหน่อย”

“3 ปีที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่นิ่ง 3 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่ทำมากที่สุดและเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดของพรรคตอนนี้ คือ ออกไปรับรู้ความทุกข์ของประชาชน คือ การเดินออกไปหาประชาชนและรับรู้ความทุกข์ ปัญหาของประชาชนเพื่อเตรียมทำนโยบายไว้สู้กันตอนเลือกตั้ง”

“วันนี้สิ่งที่พรรคทำคือ ออกไปพบคนข้างนอกได้มากขึ้น แต่ไม่ได้ไปในฐานะพรรค ไปในฐานะตัวบุคคล ไปรับฟังความเห็นคนต่างกลุ่ม หลากหลายมาก ก็ดี มีเวลานั่งคิด คิดสิ่งที่เขาคิดต่าง คิดไม่เหมือน คิดใหม่ อันไหนดีก็ครูพักลักจำ เอาความประสงค์ของชาวบ้านนั้นมาเก็บสะสมไว้ ถ้าเราทำงานฝ่ายค้านจะทำยังไง เสนอกฎหมายอะไร ถ้าเกิดเราเป็นรัฐบาลจะแก้ปัญหาด้วยนโยบายอย่างไร เสนอกฎหมายยังไง”

70 ปีที่ผ่านมา “ยี่ห้อ” พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นชื่อว่าเป็นพรรคเก่าแก่ ติดแบรนด์ “อนุรักษนิยม” เขามองอย่างปลงๆ ว่า มันเป็นสัจธรรม เพราะทุกคนมาแล้วก็ต้องไป ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการรัฐประหาร แต่ขึ้นอยู่ประวัติศาสตร์ว่าจะจารึกอย่างไร

“ถ้าคุณมาด้วยอำนาจ อำนาจหมดคุณก็ไป ถ้าคุณมาด้วยอามิส การว่าจ้าง มีเงินใช้มหาศาล เงินหมดก็จากไป แต่ถ้าคุณมาด้วยอุดมการณ์อย่างที่พวกผมเชื่อ ยังไงอุดมการณ์ไม่มีหมด ยังอยู่เหมือนเดิม แต่คนกลับมองว่าคนที่มีอุดมการณ์ คือ คนโบราณ คร่ำครึ คนไม่ปฏิรูปตัวเอง คนไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้”

“พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันตั้งมา 70 ปี สู้มาทุกสมัย ตั้งแต่ปี 2512 สู้กับพรรคสหประชาไท พรรคนอมินีทหารในสมัยนั้น พอมาปี 2522 ก็สู้กับพรรคของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หลังจากปฏิวัติ แล้วก็มาสู้กับพรรคเสรีธรรม ในยุค รสช. ก็สู้มาตลอด หลังจากนั้นก็มีพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ก็สู้… ตามบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะประชาธิปัตย์เชื่อว่าทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน”

12994631461299463370l

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ประชาธิปไตยถูก “เว้นวรรค” แต่พรรคประชาธิปัตย์ “ไม่ว่างเว้น” ที่จะ Re-Branding พรรค (อีกครั้ง) แต่เป็นการ “Mix Re-Branding” ผสมผสานระหว่าง “คนรุ่นเก๋า” ภายในพรรค กับ “คนรุ่นใหม่” ยกระดับความ “ทันสมัย” ของพรรคกับ “คนรุ่นใหม่” มากขึ้น

“วันนี้ท่านชวน (หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค) มีเวลาว่างก็ไปอบรมหลักสูตรต่างๆ มากมาย เพราะฉะนั้น ท่านชวนได้รับรู้สิ่งใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่ นักธุรกิจ ข้าราชการ พ่อค้า นักการศึกษา นักวิชาการ เป็นเพียงพี่เลี้ยงให้ เป็นที่ปรึกษาให้”

“จุติ” ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ที่ขณะนี้ยังต้องวางกลยุทธ์ของพรรคเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า มอง “เมกะโปรเจ็กต์” ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลทหาร ว่า ยุทธศาสตร์ชาติสามารถกำหนดได้กว้างๆ ได้แต่ทุกอย่างในโลกนี้มันล้าสมัยเร็วมากด้วยเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์ชาติถือเป็นความตั้งใจดี หลวมๆ มุ่งมั่นเป็นหลักการคงไม่ล้าสมัย แต่วิธีการน่าจะล้าสมัยถ้าจะคิดไปไกลถึง 20 ปี เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว ถ้าบังคับเป็นกฎหมายความโบราณก็ยังอยู่ถ้าไม่แก้กฎหมาย ยิ่งทำให้แก้ปัญหายากขึ้น ถ้ายุทธศาสตร์ชาติออกมาแล้วไปบังคับวิธีการมา

“ที่ผมกลัว คือ คนที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ใน 20 ปีข้างหน้าต้องเป็นคนอายุ 20 เพราะเขาจะต้องใช้และอยู่กับมันอีก 20 ปี คนที่ 20 ปีวันนี้ จะเป็นคนอายุ 40 ปีในวันหน้า คนอายุ 30 ปีวันนี้ จะเป็นคนอายุ 50 ปีในวันหน้า แล้วคุณอายุ 60 ปี 70 ปี จะมากำหนดล่วงหน้าให้พวกเขาอีก 20 ปี คุณไม่คิดหรือว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าภูมิศาสตร์การเมืองจะไม่เปลี่ยน การแข่งขัน…สงครามเย็นจะไม่กลับมาอีกหรือระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย”

จึงเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์มาทำตลอด 3 ปีเต็มที่ คสช. ยึดอำนาจ-แช่แข็งนักการเมือง เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ก้าวไปสู่พรรคของคนรุ่นใหม่-ทันสมัย

 

นอกจาก “ศึกนอก” พรรคที่ประชาธิปัตย์ต้องเตรียมรับมือแล้ว ขณะที่ “ศึกใน” คลื่นใต้น้ำ-เลือดไหลออกภายในพรรค ทั้งความขัดแย้งระหว่างคนในสายหัวหน้าพรรค-อภิสิทธิ์ ปมประชามติรับ-ไม่ร่างรัฐธรรมนูญ และการชิงการนำระหว่างสาย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” กับสายนายชวน-นายบัญญัติ บรรทัดฐาน

“จุติ” ยืนยันว่า “ไม่มีใครออกจากพรรค” นอกจากนายสุเทพ ที่ประกาศวางมือทางการเมือง-ไม่กลับมาพรรคประชาธิปัตย์อีก

“เวลาประชุมพรรคก็มาครบ ท่านถาวร เสนเนียม ท่านสาทิตย์ วงศ์หนองเตย วิทยา แก้วภราดัย พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อยู่ครบ และผมไม่เชื่อว่าจะมีการชิงการนำภายในพรรค ชิงยังไง หาคนมาลงแข่งเป็นหัวหน้าพรรคเหรอ จะหาคนมาลงแข่งหัวหน้าพรรคได้ยังไง เพราะห้ามประชุมกรรมการบริหาร ห้ามประชุมทางการเมือง ถ้าคุณจะเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคต้องประชุมทางการเมืองได้ อันที่สอง หัวหน้าพรรคไม่ได้ต่ออายุปีต่อปี เทอมที่เลือกมา คือ 4 ปี เมื่อครบ 4 ปีแล้วถึงจะเลือกใหม่ ปลายปี 2560 จะครบ 4 ปี ถึงตรงนั้นถึงจะบอกได้ว่า จะมีใครอยากจะมาแข่งหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม “หมุดหมาย” การเลือกตั้งตามโรดแม็ปของรัฐบาล-คสช. ซึ่ง “ผู้มีอำนาจ” ในรัฐบาล-คสช. ยืนยันว่า จะเกิดขึ้นในปี 2560 ทว่า “จุติ” มองคนละมุม ว่า การเลือกตั้งอาจจะยืดออกไปจนถึงปี 2561 หรือเลวร้ายไปจนถึงมี 2562

“ไม่มีใครรู้อนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นเพราะร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้ กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังร่างไม่เสร็จ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังทบทวนบทบาทหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปยังไม่เรียบร้อย ทั้งหมดคือองค์ประกอบในการจัดการเลือกตั้งทั้งหมด”

“โรดแม็ป คสช. อาจจะบอกว่าเลือกตั้งปี 2560 แต่มีคนบอกว่าเพราะต้องมีพระราชพิธีบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ก่อน ก็น่าจะเป็นปี 2561 แต่มีบางคนบอกว่า อ้าว แล้วถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านอาจจะเป็นปี 2562 ก็ได้”

อย่างไรตาม เขาก็ “มองโลกในแง่ดี” ว่า การเมืองหลังเลือกตั้งจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกว่าการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองค่อนข้างสูง-รุนแรง

“ผมว่าหลายอย่าง คือ ความร้อนแรงของความแค้นน่าจะลดลงเพราะเวลาเป็นเครื่องช่วย สอง ผมมองว่า ผู้สนับสนุน หรือกองเชียร์ของแต่ละฝ่ายวันนี้หูตาสว่างมากขึ้น ฉะนั้น จะชวนใครไปทำงานเหมือนเดิมผมว่ายาก ไม่ว่าฝ่ายไหน”

ถ้าถามว่าวันนี้มั่นใจหรือไม่ว่าจะชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล เขาตอบค่อนข้าง “ไม่มั่นใจ” ว่า มั่นใจไหม ก็มั่นใจทุกครั้ง แต่มันไม่ได้ออกมาอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะมีตัวแปรเยอะ ยังไม่รู้ว่ากติกาจะเป็นยังไง สภาพเศรษฐกิจตอนนั้นจะเป็นอย่างไร จะมีพรรคใหม่มาหรือไม่ พรรคใหม่เป็นใคร ตัวละครยังไม่มีใครรู้ คู่ต่อสู้มีใคร จึงบอกไม่ได้ว่าจะชนะหรือแพ้

“บอกได้แต่เพียงว่าเราฟิตซ้อม อย่างน้อยเราปรับปรุงระบบสื่อสารภายในพรรคของเราเอง ให้สื่อสารกันได้มากขึ้น ใช้ได้มากขึ้น ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้มากขึ้น ปรับปรุงประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่ภายในพรรค ปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูล รับรู้ความทุกข์ ความสุขของชาวบ้าน”

เมื่อองค์ประกอบทางการเมือง-สถานการณ์พิเศษ ยังไม่เอื้ออำนวยให้พรรคการเมืองพรรคเล็ก-พรรคใหญ่ได้ยืดเส้นยืดสาย ขณะที่ “คู่แข่งทางการเมือง” อย่างพรรคเพื่อไทยยังต้องเผชิญวิบากกรรมหลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว-สาละวนกับ “กับดัก” ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จึง “กบดาน” Reform & Re-Branding สั่งสมอาวุธทางการเมืองรอวันจัดตั้งรัฐบาล?