“อังคณา” อดีตกสม. คว้ารางวัลแมกไซไซ ปี 2019 ยกย่องในฐานะ “คนธรรมดาผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม”

วันที่ 2 สิงหาคม 2562 เว็บไซต์ทางการของมูลนิธิรางวัลรามอน แม็กไซไซ ได้ประกาศชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลแม็กไซไซประจำปี 2019 โดยปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล 5 คน ได้แก่ นายโค ชเว วิน สื่อมวลชนจากพม่า, นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากไทย, นายคูมา ราวิช สื่อมวลชนจากอินเดีย, นายคายับยับ เรมุนโด ปูจันตี ศิลปินจากฟิลิปปินส์และนายคิม จอง กี นักธุรกิจและนักเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรงในโรงเรียนจากเกาหลีใต้

โดยนางอังคณา ผู้ได้รับเลือกจากไทยและผู้หญิงเพียงคนเดียวในปีนี้ มูลนิธิฯระบุเหตุที่นางอังคณาได้รับการคัดเลือกว่า สถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดความสูญเสียมาตั้งแต่ปี 2547 ไม่เพียงประชาชนเท่านั้น ยังรวมถึงนักเคลื่อนไหวและประชาสังคม หนึ่งในนั้นคือ นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ถูกอุ้มหายที่กรุงเทพฯหลังกล่าวหาว่าทหารได้ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัว ทำให้นางอังคณา ภรรยาของนายสมชาย เริ่มต้นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับสามีบนหนทางที่เต็มไปด้วยอันตรายและข้อถกเถียงในที่สาธารณะ และอุทิศให้กับงานประชาสังคมจนในปี 2006 ด้วยความช่วยเหลือขององค์กรไม่แสวงหากำไรและครอบครัว ก็ได้ก่อตั้งมูลนิธิความยุติธรรมเพื่อสังคม (เจพีเอฟ) เพื่อติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเจพีเอฟร่วมกับหลายองค์กร ผลักดันกฎหมายต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหายและการทรมาน และทำให้ไทยได้ร่วมลงนามและลงสัตยาบันในอนุสัญญาองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานในปี 2550 และอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องบุคคลจากการบังคับให้สูญหายในปี 2555

ต่อมาในปี 2558 นางอังคณาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเป็นกรรมการเพียงคนเดียวที่มีประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในระดับรากหญ้า แม้จะถูกตั้งคำถามจากรัฐบาล แต่นางอังคณายังคงทำงานอย่างหนักและแน่วแน่ในการต่อสู้ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยหลักกฎหมายและสันติวิธี และทำในสิ่งที่เธอสามารถผลักดันขีดจำกัดได้อีก ในขณะดำรงตำแหน่ง เธอประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ผู้ถูกควบคุมตัวสามารถเข้าถึงทนายความและครอบครัวได้ และเหย่ื่อได้รับการเยียวยา เธอยังมีบทบาทอย่างแข็งขันต่อเรื่องการจับกุมและควบคุมตัวโดยมิชอบและการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและชุมนุม และยังมีบทบาทผลักดันต่อปัญหาการบังคับเด็กให้แต่งงาน การค้าผู้หญิง สิทธิผู้แสวงที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย วาระการดำรงของนางอังคณาสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคมปี 2561 แต่ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เธอยังคงมีความเกี่ยวข้องในการณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน สำหรับเธอสิ่งนี้เป็นการณรงค์ด้วยส่วนลึกภายในตัวเธอ

หลายคนต้องประหลาดใจกับพัฒนาการของแม่บ้านที่อยู่อย่างเรียบง่ายสู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนแถวหน้า แต่ตัวนางอังคณาเองไม่ได้แปลกใจ เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงอ่อนเบาว่า “ผู้หญิงส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในความขัดแย้งและความรุนแรงต่างจากผู้ชาย พวกเธอพัฒนาทักษะอันหายากในการต่อต้าน แสดงออกและยับยั้งความขัดแย้ง ดังนั้น งานความยุติธรรมและสันติภาพ จึงมิอาจละเลยการมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ของผู้หญิงได้

การเลือกนางอังคณาให้รับรางวัลในปีนี้ คณะกรรมการตรวจสอบยอมรับความกล้าหาญอย่างแน่วแน่ในการแสวงหาความยุติธรรมเพื่อสามีของเธอและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย การทำงานอย่างเป็นระบบและไม่บิดพลิ้วเพื่อปฏิรูปกฎหมายอันไม่เป็นธรรม เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าเธอคือคนธรรมดาที่ถ่อมตนสามารถบรรลุผลกระทบระดับชาติในการยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ นางอังคณาและนางเตือนใจ ดีเทศน์ ได้แถลงประกาศลาออกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยระบุว่า อึดอัดต่อกฎเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติมากมายของกสม.ที่ไม่เอื้อต่อการทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น และยังถูกจำกัดการเข้าถึงปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง

ที่มา https://www.rmaward.asia/awardees/neelapaijit-angkhana/