คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เทรนด์การตลาดเทวรูปไทย และความไม่สนใจประติมานวิทยา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ตอนนี้หลายคนอาจสังเกตว่า วัตถุมงคลสายเทพเจ้า คล้ายๆ จะลดการผลิตลงจากสำนักและวัดวาอารามต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทรนด์ “เครื่องราง” ประเภทที่ถูกนำมาจัดเป็นสร้อยข้อมือต่างๆ พร้อมหินสีสวยงามได้รับความนิยมขึ้นมาแทน สาวๆ ชอบกันมาก ค้าขายร่ำรวยกันเป็นแถวๆ

บางคนเรียกเครื่องรางแนวนี้ว่า “ตะกรุด”

ที่จริงตะกรุดเป็นชื่อเฉพาะของเครื่องรางแบบหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงอะไรที่เอามาใส่หลอดแขวนได้จะเรียกว่าตะกรุดไปเสียทั้งหมด

ตะกรุดเป็นการจดจารอักขระเลขยันต์ลงไปในวัสดุ เช่น แผ่นโลหะชนิดต่างๆ แล้วม้วนถักเชือก เคลือบด้วยรักเพื่อความสะดวกในการพกพา

ตะกรุดนี่น่าจะเป็นเครื่องรางของขลังเก่าแก่ชนิดหนึ่งของเรา นอกจากพกแล้ว บางชนิดยังมี “อุปเท่ห์” หรือวิธีการใช้ต่างๆ เช่น คล้องเอวไว้ เมื่อจะใช้คงกระพันรูดซ้าย เข้าหาเจรจารูดขวา ฯลฯ อะไรงี้ครับ

เหมือนอย่างสีผึ้งหรือพวกน้ำมัน เขาไม่เอาไว้พกเฉยๆ แต่ต้องเอามาทาถูด้วยจึงเชื่อว่าจะบรรลุผล

แต่เดี๋ยวนี้ใครจะสนล่ะครับ ขืนให้อุปเท่ห์ยากๆ ไปก็ขายไม่ออกกันพอดี เขาก็เน้นสวยเน้นดีไซน์กันไปเป็นหลัก

 

กลับมาเรื่องเทวรูป ที่จริงการซื้อขายเทวรูปต่างๆ ในบ้านเราไม่ได้หายไปไหนนะครับ

แต่เทรนด์มันเปลี่ยน ในปัจจุบัน เทวรูปที่ออกจากวัดหรือสำนักต่างๆ ลดลงก็จริง (ผมสำรวจเองอย่างหยาบๆ) แต่กลับมีความนิยมเทวรูปที่สร้างโดยศิลปิน หรือเป็นงานที่สร้างกันในแวดวงเฉพาะกลุ่มผู้สนใจเสียมากกว่า

ศิลปิน (ซึ่งโดยมากเป็นศิลปินเดี่ยว) สร้างผลงานจำนวนไม่มากนักแก่ผู้สนใจหรือแฟนงานของเขา

โดยอาจใช้การสั่งจองไว้ล่วงหน้าเผื่อช่วยศิลปินด้านรายจ่าย ลักษณะเช่นนี้มีการปฏิบัติกันมากในโลกออนไลน์โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก

ฐานการผลิตเทวรูปสมัยนี้จึงไม่ได้อยู่ในวัดวาอีกต่อไป แต่อยู่ในสตูดิโอและเผยแพร่ทางโลกออนไลน์เป็นหลัก และนอกจากช่องทางที่ต่างออกไปแล้ว ผมคิดว่ายังมีสิ่งที่ต่างออกไปจากเดิมอีก

อย่างแรก ผลงานเหล่านี้มักผลิตไม่มากนัก และเน้นรูปแบบความงามทางศิลปะตามความคิดของศิลปิน โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวพิธีกรรมในการจัดสร้างหรือเทวาภิเษกนัก (อาจมีบางเจ้า แต่ก็ไม่มาก)

พูดง่ายๆ คือชิ้นงานเหล่านี้ถูกอธิบายในสถานะที่ก้ำกึ่ง เป็นทั้งงาน “ศิลปะ” แต่ก็ไม่ใช่งานศิลปะในความหมายทั่วๆ ไปแบบตะวันตก เพราะยังมีลักษณะที่เป็น “รูปเคารพ” ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

มีคนซื้อไปที่ทั้งเอาไปสักการบูชาด้วยความเคารพศรัทธา และก็คงมีที่เอาไปสะสมไว้เฉยๆ ด้วยความชื่นชอบ

 

อย่างที่สอง การสั่งซื้อ (ในศัพท์เดิมว่าเช่าบูชา ซึ่งกระมิดกระเมี้ยนอยู่มากว่าไม่อยากใช้คำว่าซื้อขายกับพระกับเจ้า) เทวรูปเหล่านี้โดยตรงกับศิลปิน ทำให้ไม่ต้องมีการระบุว่าเป็น “การบุญ” หรือการนำรายได้บางส่วนไปทำการกุศลที่ได้รับวัตถุมงคลตอบแทน แต่เป็นการซื้อขายกันตรงๆ นี่แหละครับ ซึ่งอันนี้ได้เปลี่ยนวัฒนธรรมการซื้อขายวัตถุมงคลไปด้วย

ทั้งนี้ ผมเองไม่แน่ใจนักว่าศิลปินที่ผลิตงานเหล่านี้มีเจตนารมณ์อย่างไรกันแน่ แต่การนิยามว่าผลงานของตนเป็นงานศิลปะอาจช่วยลดขั้นตอนในการจัดพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งก็คือ “ต้นทุน” ออกไปได้มาก โดยไม่ต้องอาศัยนักการตลาดวงการพระเครื่องมาทำให้ตามแบบเดิม

ซึ่งแปลว่า ไม่ต้องมีคนกลางระหว่างผู้ผลิตตัวชิ้นงาน (ซึ่งทำหน้าที่ในการโปรโมต และจัดพิธีกรรมในฐานะส่วนหนึ่งของการโปรโมต และขาย) กับลูกค้าอีกต่อไป เหมือนกับสินค้านานาชนิดในโลกออนไลน์

ด้วยธรรมชาติของการตลาดแบบใหม่ในโลกออนไลน์นี้เอง คุณลักษณะของสินค้าจึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญขึ้นมาพอๆ กับการโปรโมตด้วยวิธีอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้กระมัง ศิลปินจึงต้องพยายามสร้างชื่อ ด้วยการทำให้ผลงานของตนมี “ลายเซ็น” หรือลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของตนเด่นชัด

แต่หลายต่อหลายครั้งการสร้างลายเซ็นในผลงาน กลับกลายเป็นโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้ผลงานที่สร้างนั้น “แตกต่าง” “ล้ำ” หรือพิเศษวิจิตรพิสดารแปลกไปจาก ไม่ว่าจะต่อขนบศิลปะหรือต่อผลงานของผู้อื่น

“ความแปลก” กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าในทางการตลาดของเครื่องรางของขลังในปัจจุบัน ที่หลายคนมองหา เหมือนหลายปีก่อนที่ชายอ้วนคนหนึ่งลุกขึ้นมาทำคลิปทำอาหารแปลกๆ แล้วก็ดังอย่างไม่รู้ตัวนั่นแหละครับ ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่ได้อยากจะดังหรืออะไร (ฮา)

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจนะครับว่า ผมไม่ได้เหมารวมว่าศิลปินปั้นพระจะเป็นแบบนี้ไปหมด แต่เริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีคนรู้จักหลายคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ดังนั้น พอเน้นความแปลกใหม่จึงละเลย ขนบทางศิลปะโดยเฉพาะ “ประติมานวิทยา” คือความรู้ว่าด้วยเรื่องประติมากรรม โดยเฉพาะพุทธ-เทพ

 

ช่างผู้สร้างเทวรูป โดยเฉพาะของฮินดูนั้น มีตำราและคัมภีร์ว่าด้วยเรื่องนี้หลายฉบับ เรียกรวมว่า คัมภีร์ศิลปะศาสตร์ เช่น วิษณุธรรโมตตระ ศิลปศาสตร์ มยตัม ฯลฯ ซึ่งมีการกล่าวถึงรายละเอียดต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน ใครสนใจลองหาหนังสือเรื่อง “ประติมากรรมฮินดู-พุทธในศิลปะอินเดีย กับคัมภีร์ศิลปศาสตร์ภาษาสันสกฤต” ซึ่งเป็นงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี มาอ่านกันดูเถิดครับ

นอกจากลักษณะเฉพาะของเทพต่างๆ ยังมีการกล่าวถึงระบบสัดส่วน (ระบบตาละ) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในศิลปะทางศาสนาของอินเดีย

ในคัมภีร์เหล่านี้เองกล่าวไว้ว่า การสร้างรูปเคารพตามระบบที่ถูกต้องจะทำให้รูปเหล่านั้น “ศักดิ์สิทธิ์” สมควรจะเป็นสิ่งเคารพบูชา และหากไม่ทำตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์ นอกจากจะไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้วยังอาจเกิดโทษภัยแก่ศิลปินเช่นตาบอดหรือตาย

จริงไม่จริงผมไม่รู้นะครับ แต่การโดนแช่งชักมักไม่ค่อยดีต่อจิตใจเสียเท่าไหร่ พอใจเสียเดี๋ยวอะไรก็เสียตามมาได้อีก

แม้ว่าในทางปฏิบัติ ช่างโบราณในอินเดียเองไม่ได้ทำตามที่คัมภีร์ระบุไว้ทุกอย่างก็จริง แต่อย่างน้อยๆ ก็ยังมีขนบและระบบสุนทรียะทางศิลปะบางอย่างที่ยึดถือกันมาตลอด

ระบบสุนทรียศาสตร์ของอินเดีย ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจของผู้รับงานศิลปะ ซึ่งเรียกว่า “รส” เช่นเดียวกับเวลาที่เราเกิดความรัก รสนี้จะเกิดขึ้นเมื่องานศิลปะได้ไปกระตุ้นเร้า “ภาวะ” บางอย่างในตัวของมนุษย์

ภาวะนี้มีมากมายหลายหลาก เช่น กลัว รัก โกรธ สงบศานติ ดังนั้น แม้แต่เทวรูปต่างๆ เองก็ชักนำให้เราเข้าถึงภาวะเหล่านี้ได้ นอกเหนือจากการดนตรีและละคร การศึกษาเรื่องพวกนี้จึงสำคัญต่อการสร้างงาน

ความสมมาตร สัดส่วน ใบหน้า การวางท่าทางของมือและเท้า อาวุธ ของที่ถือ ท่ายืนท่านั่ง ล้วนแต่ช่วยให้เราเข้าถึงภาวะ เช่น ความสงบสันติได้

เทพดุร้ายก็มีลักษณะเฉพาะ เทพที่เปี่ยมความเมตตาก็มีลักษณะเฉพาะ สิ่งเหล่านี้นอกจากความรู้ทางศิลปะแล้ว การศึกษาเทวตำนาน ความเชื่อรวมทั้งขนบศิลปะจะช่วยให้ศิลปินผลิตงานที่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะเมื่อตระหนักว่า คนเขาเอางานของเราไปกราบไหว้ด้วยความเคารพ

 

ผมหงุดหงิดทุกครั้งที่เห็นศิลปินไทยสร้างเทวรูปที่มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ แม้จะสวยในรสนิยมคนปัจจุบัน แต่เมื่อศิลปะอินเดียก่อรูปขึ้นมาในแนวทางของตัวเองแล้ว ไม่เคยปรากฏว่าได้มีการสร้างเทวรูปที่มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ อย่างคน เพราะเทพไม่ใช่คน จึงไม่มีกายเนื้ออย่างเราซึ่งเป็นสิ่งเสื่อมสลายได้

ศิลปินจึงสร้างเทวรูปแบบไม่มีกล้ามเนื้อแต่มีสัดส่วนถูกต้องและสะท้อนอุดมคติความงามอันเป็นทิพย์ อันไม่อาจหาได้จากสิ่งไม่จีรังอย่างเนื้อหนังของมนุษย์

ผมมิได้ปฏิเสธการตีความและการสร้างสรรค์อย่างเปิดกว้าง ซึ่งก็เป็นหัวใจสำคัญของศิลปะเช่นกัน แต่คล้ายๆ เราคงต้องพิจารณากันใหม่อย่างถี่ถ้วนว่า ผลงานที่กำลังทำอยู่นั้น ศิลปินมีความตั้งใจที่จะผลิตขึ้นเป็นงานศิลปะเพียวๆ หรือต้องการจะให้เป็นรูปเคารพตามคติของศาสนาด้วย

จากนั้นจึงค่อยๆ หาจุดลงตัวระหว่างการตีความ ความสร้างสรรค์ และการรักษาขนบทางศิลปะของโบราณาจารย์

ให้คนเขาได้สัมผัสงานที่สร้างด้วยความเข้าใจ และงามนอกงามใน

เป็นกุศลแน่นอนครับ