กรองกระแส / รัฐประหาร 2557 สืบทอด ระบอบ “คสช.” ใน ระบบรัฐประหาร

กรองกระแส

 

รัฐประหาร 2557

สืบทอด ระบอบ “คสช.”

ใน ระบบรัฐประหาร

 

การอภิปรายของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่อ้างอิงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ณ สโมสรกองทัพบก ที่ว่า

“ใครอย่าคิดสู้ผม ถึงสู้ก็สู้ไม่ได้ ผมเตรียมการเรื่องนี้มา 3 ปีกว่าแล้ว”

มีความสำคัญเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะมองในด้านอันเป็น 1 ยุทธวิธีในทางการเมือง หากแต่ 1 ซึ่งสำคัญ ยุทธวิธีนั้นยังนำไปสู่ยุทธศาสตร์อันทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้พูดในฐานะ ผบ.ทบ.เท่านั้น

หากแต่ยังพูดในฐานะนายทหารซึ่งเคยร่วมอยู่ในสถานการณ์ยึดอำนาจเมื่อเดือนกันยายน 2549 และเพิ่งผ่านสถานการณ์การปราบปรามเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 อีกด้วย

จึงเท่ากับเป็นเงาสะท้อนในเชิงระบบอันนำไปสู่การปรากฏขึ้นของระบอบ

การศึกษาถึงรากที่มาแห่ง “คำพูด” ประสานเข้ากับสภาพความเป็นจริงในทาง “การปฏิบัติ” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่ในลักษณะอันเป็น “ตัวแทน” จึงทรงความหมาย

ทรงความหมายในทางการทหาร ทรงความหมายในทางการเมือง

 

ศึกษา การเมือง

สัมพันธ์ ยึดโยง

 

รัฐประหารแต่ละครั้งจะมองเพียงวันที่เข้ายึดอำนาจขาดความสมบูรณ์ เพราะก่อนรัฐประหารจะต้องมีกระบวนการปูทางและสร้างเงื่อนไข

ก่อนรัฐประหาร 2549 ก็มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

สัมผัสได้จากการเคลื่อนไหวนับแต่ปลายปี 2548 สัมผัสได้จากแต่ละองค์ประกอบที่เข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในเชิงมวลชน และในทางเกื้อหนุนทางการเมือง

และเมื่อถึงเดือนกันยายน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จึงยกกำลังออกมา

ก่อนรัฐประหาร 2557 ก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อทดสอบและหยั่งเชิงทางการเมืองที่อึกทึกครึกโครมเป็นอย่างมากคือคำประกาศ “แช่แข็งประเทศไทย” ในปี 2556 ก่อนจะเกิดการขับเคลื่อนของมวลมหาประชาชนในห้วงปลายปี 2556 กระทั่งนำไปสู่การชัตดาวน์ในปี 2557

และเมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงยdกำลังออกมา พร้อมกับคำประกาศอย่างเหี้ยมหาญ

“ใครอย่าคิดสู้ผม ถึงสู้ก็สู้ไม่ได้ ผมเตรียมการเรื่องนี้มา 3 ปีกว่าแล้ว”

ความหมายอาจเป็นการเตรียมการในทางการทหาร แต่คำถามที่ไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยก็คือ การเตรียมการในทางการเมือง

ไม่ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่า กปปส.ในนามมวลมหาประชาชน

 

รัฐประหาร 2549

รัฐประหาร 2557

 

หากมององค์ประกอบของรัฐบาลอันเนื่องแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อย่างเปรียบเทียบกับรัฐบาลอันเนื่องแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะมองเห็นความสัมพันธ์

อะไรคือรัฐบาลหลังการรัฐประหาร 2549

ไม่เพียงแต่จะมองรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หากแต่จำเป็นต้องมองรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันเป็นผลและความต่อเนื่อง

อะไรคือรัฐบาลหลังการรัฐประหาร 2557

ไม่เพียงแต่จะมองรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่เพียงแต่จะมองรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 หากจำเป็นต้องมององค์ประกอบและความสัมพันธ์

เพราะรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นอกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วก็มีกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งต่อมาก็คือพรรคภูมิใจไทย

เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกจากมีพรรคพลังประชารัฐแล้วก็ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ขณะเดียวกัน ภายในพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมีแตกไปร่วมในพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย

นี่คือการดำรงอยู่ของระบอบภายหลังการรัฐประหารจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ภาพแห่งการสมคบคิดในทางการเมืองจึงมีความเด่นชัด

 

สถาปนาระบอบ

ระบอบรัฐประหาร

 

ความพยายามนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือความพยายามในการสถาปนาระบอบทางการเมือง

เรียกอย่างรวบรัดก็คือ ระบอบรัฐประหาร

เมื่อรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่สามารถกุมชัยชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จก็จำเป็นต้องทำรัฐประหารซ้ำอีกในเดือนพฤษภาคม 2557

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือเงาสะท้อนแห่งระบอบที่ดำรงอยู่

ไม่เพียงเพื่อประกันชัยชนะได้สืบทอดอำนาจและดำรงอยู่ในสถานะแห่งรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ยังทำให้ระบอบมีความต่อเนื่องและยาวนาน

  เป็นการรักษาระบอบ คสช. ภายในระบบรัฐประหาร