ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ยืนเคารพในเพลงสรรเสริญพระบารมี มาจากไหน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ที่มาภาพ : majorcineplex.com

ดาราหนุ่มคนหนึ่งเพิ่งจะโพสต์รูปบุคคลที่ไม่ลุกขึ้นยืน ระหว่างที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ พร้อมทั้งเขียนระบายความในใจลงในแอพพลิเคชั่นยอดนิยมอย่างอินสตาแกรม เมื่อคืนวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่ากระแสตอบรับจะไม่เป็นไปอย่างที่ดาราหนุ่มคนนั้นได้หวังไว้ เพราะก็น่าสนใจว่า ทำไมจึงมีธรรมเนียมการ “ยืน” เพื่อแสดงความเคารพในเพลงสรรเสริญพระบารมี?

แน่นอนว่า ทั้งเพลงที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสรรเสริญพระบารมีของกษัตริย์ และการลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงความเคารพนั้น ย่อมเป็นธรรมเนียมฝรั่งมาก่อน

โดยเรื่องของเรื่องเขาเล่ากันว่า มันเกิดมาจากธรรมเนียมปฏิบัติในเพลง “เมสสิยาห์” (Messiah) ของนักประพันธ์เพลงชาวเยอรมัน ที่ได้โอนสัญชาติมาเป็นอังกฤษอย่าง จอร์จ ฟรีดริก แฮนเดล (George Frideric Handel, พ.ศ.2228-2302)

ในเพลงดังกล่าว จะมีธรรมเนียมการลุกขึ้นยืนกันในท่อนที่ร้องว่า “ฮัลเลลูยาห์” ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เกิดเพราะพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งอังกฤษ (George II, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2270-2303) เพราะในคอนเสิร์ตครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2286 เมื่อเพลงบรรเลงถึงท่อนนี้แล้วก็ทรงลุกขึ้นยืน จนทำให้คนอื่นๆ ต้องยืนขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่มีใครรู้หรอกนะครับว่า พระเจ้าจอร์จที่ไม่ได้ยอดมากพระองค์นี้ ทรงลุกขึ้นยืนระหว่างที่บรรเลงเพลงเมสสิยาห์ทำไม?

 

คําอธิบายโดยสารพัดใครต่อใคร ที่ไม่ใช่ตัวพระองค์เอง ในแนวที่เป็นวิชาการมักจะสันนิษฐาน (คำศัพท์ทางการของคำว่า เดา) ไปในทำนองเดียวกันว่า เนื้อเพลงท่อนนั้นมีคำว่า King of Kings, and Lord of Lords ซึ่งเป็นความในพระคัมภีร์ (ไบเบิล แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์) ภาคพันธสัญญาใหม่

การยืนขึ้นของพระเจ้า George จึงเป็นการยอมรับในสถานะ Lord of Lords ของพระองค์ เทียบเคียงกับสถานะ King of Kings ของพระคริสต์ จนพาให้ใครต่อใครคนอื่นในฮอลล์ต้องพากันลุกขึ้นยืนไปด้วย เพราะพระองค์ทรงดำรงฐานะเป็นพระมหากษัตริย์นั่นเอง

แต่คำอธิบายทำนองนี้ ก็นำไปสู่วิวาทะที่ว่า ถ้าการลุกขึ้นยืนของพระเจ้าจอร์จที่ 2 มีความหมายไปในทิศทางนั้นจริงๆ แล้วทำไมคนอื่นในฮอลล์จึงต้องลุกขึ้นยืนไปพร้อมๆ กันด้วย ในเมื่อพวกเขาไม่ได้เกี่ยวอะไรกับภาวะการยอมรับความเป็นลอร์ด หรือกษัตริย์ที่ว่านี้เลย?

อย่างไรก็ตาม การสันนิษฐานที่ว่า ก็ยังคงเป็นเพียงการเดาอยู่ดีนั่นแหละ เพราะที่จริงก็ไม่มีใครรู้น้ำพระทัยที่แท้ของพระเจ้าจอร์จที่ 2 ว่าทรงลุกขึ้นยืนทำไมแน่?

นอกจากคำอธิบายในทำนองข้างต้นแล้ว จึงมีทั้งคำอธิบายในทำนองที่อิงกับความรู้สึกอย่างเช่น พระองค์ทรงปลาบปลื้มกับเสียงเพลงมากเสียจนทรงต้องลุกขึ้นยืน หรือคำอธิบายในเชิงเสียดสีว่า ที่จริงแล้วคงไม่มีอะไรหรอก เพราะเมื่อฟังดนตรีบรรเลงไปนานเข้า พระเจ้าจอร์จที่ 2 ก็คงจะทรงเมื่อย จนต้องลุกขึ้นยืนเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเท่านั้นเอง

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม การลุกขึ้นยืนเพื่อถวายความเคารพระหว่างบรรเลงเพลงคำนับนั้น ก็กลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในอังกฤษ โดยได้ทำให้มีการลุกขึ้นยืนระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมี ควบตำแหน่งเพลงชาติของอังกฤษอย่างเพลง God Save the Queen (หรือ God Save the King ขึ้นอยู่กับประมุขตอนนั้นจะเป็น King หรือ Queen) ไปในที่สุดนั่นเอง

 

ธรรมเนียมอย่างนี้ในที่สุดก็ได้แพร่เข้ามาในสยาม ตั้งแต่ในยุคที่ยังไม่มีเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นของตนเอง ก็ใช่เพลง God Save the Queen นี่แหละเป็นเพลงคำนับ ดังนั้นธรรมเนียมการยืนทำความเคารพระหว่างบรรเลงเพลงก็คงแพร่เข้ามาพร้อมกันนี้ด้วย

เกี่ยวกับประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทย มีหลักฐานว่า เมื่อ พ.ศ.2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสสิงคโปร์ เจ้าหน้าที่ทางการของสิงคโปร์ได้บรรเลงเพลงคำนับ เพื่อรับเสด็จ ด้วยเพลง God Save the Queen ซึ่งก็คือเพลงคำนับเดียวกันกับที่ทำให้แก่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2380-2444) เพื่อถวายพระเกียรติให้กับรัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 5 เองก็คงจะไม่ทรงประหลาดใจอะไรนัก เพราะก็ทรงรู้จักกับเพลงนี้ดีอยู่แล้ว เพลง God Save the Queen เข้ามาในสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 โดยครูฝึกทหารชาวอังกฤษที่มาฝึกทหารให้กับวังหลวง แถมยังถูกนำมาใช้เป็นเพลงคำนับ หรือเพลงรับเสด็จเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ.2395

และเนื่องด้วยเพลง God Save the Queen ถูกใช้เป็นเพลงถวายความเคารพต่อพระเจ้าอยู่หัวนี่เอง ชาวไทยในยุคนั้นจึงถือว่าเพลงนี้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีไปด้วยในตัว

 

พ.ศ.2414 เรือน พ.ศ.เดียวกันกับที่รัชกาลที่ 5 เสด็จไปสิงคโปร์ พระองค์ทรงได้เสด็จต่อไปยังเมืองปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของเมืองจาการ์ตา นครหลวงของประเทศอินโดนีเซีย) บนเกาะชวาอีกด้วย แต่คราวนี้เจ้าพนักงานต้อนรับของที่นั่นกลับแสดงความอิดออด ไม่อยากจะทำเพลง God Save the Queen มันเสียอย่างนั้น

ไม่ใช่เพราะเจ้าพนักงานที่นั่นไม่ต้องการจะถวายพระเกียรติให้กับรัชกาลที่ 5 หรอกนะครับ แต่เป็นเพราะปัตตาเวีย (และอันที่จริงต้องหมายรวมทั้งเกาะชวา รวมถึงอีกหลายๆ เกาะ ที่ประกอบกันเข้าจนกลายเป็นประเทศอินโดนีเซียทุกวันนี้) ตกอยู่ภายใต้การดูแลของพวกฮอลันดาต่างหาก

แน่นอนว่า ในฐานะของชาติเจ้าอาณานิคมผู้ยิ่งใหญ่ด้วยกันนั้น ชาวดัตช์ หรือพวกฮอลันดา ย่อมไม่อยากจะเล่นเพลงสรรเสริญพระนางเจ้าวิกตอเรียของชาวอังกฤษ ถึงแม้ว่าจะเป็นการเล่นเพื่อรับเสด็จรัชกาลที่ 5 แห่งสยามประเทศ ไม่ได้เกี่ยวกับสมเด็จพระนางเจ้าองค์นั้นเลยก็เถอะ

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกอะไรที่ในคราวนั้นพวกฮอลันดาจะคะยั้นคะยอถามหา “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ที่ของสยามเองเป็นการเฉพาะ (และก็ยิ่งไม่น่าแปลกอะไรเข้าไปใหญ่ ที่ฝ่ายสิงคโปร์ไม่ได้รู้สึกยี่หระอะไรกับการที่จะต้องทำเพลง God Save the Queen เพราะเกาะขนาดกะทัดรัดแห่งนั้นตกอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ ที่มีพระนางเจ้าวิกตอเรียเป็นประมุขอยู่แล้ว)

ตรงนี้แหละครับ ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงมีดำริว่า ต้องมีเพลงสรรเสริญพระบารมีของสยามเอง สำหรับให้แตรวงทำเพลงคำนับด้วย จนทำให้เกิดเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยขึ้นมา

และก็คงได้อิมพอร์ตเอาธรรมเนียมการยืนถวายความเคารพมาพร้อมกันจากธรรมเนียมในเพลง God Save the Queen ที่ถูกยืมมาใช้สำหรับทำเป็นเพลงคำนับในสยามมาแต่เดิมนั่นเอง