มองเครื่องบินเจ็ตตำรวจ ย้อนดูบอลลูนตรวจการณ์ของกองทัพบก | มนัส สัตยารักษ์

เครื่องบินเจ็ตตำรวจ

เห็นหัวข่าว “ยื่น สตง. สอบ สตช. ซื้อบินเจ็ต” แล้วมีความรู้สึกประหลาดใจสองประการเกิดขึ้นตามลำดับ

ลำดับแรกคือ ทำไม สตช. (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ถึงต้องมีเครื่องบินเจ็ต?

ประเทศไทยมีอาชญากรและอาชญากรรมประเภทใดหรือ ตำรวจไทยถึงจำเป็นต้องมีเครื่องบินเจ็ตความเร็วสูงไว้ประจำการ?

แล้วก็คิดฟุ้งซ่านด้วยความวิตกต่อไปว่า ประเทศไทยกำลังจะถูกอาชญากร “ก่อการร้ายโลก” โจมตีในอนาคตอันใกล้ แล้วเราจำเป็นต้องเสริมเขี้ยวเล็บให้ตำรวจ ให้ตำรวจสามารถบินเข้าได้ทัน?

ประการถัดมา…ทำไมนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เพิ่งมายื่น สตง.ตรวจสอบเอาเมื่อมีภาพข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม พร้อมคณะเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตของกองบินตำรวจ เพื่อไปมอบโฉนดให้แก่ประชาชนที่จังหวัดลพบุรี?

คำว่า “สตง.” นั้น ย่อมาจาก “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐ เสนอผลการปฏิบัติงานต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ทุกปี

ว่ากันอันที่จริงแล้วในช่วงเวลาของ คสช. 5 ปีที่ผ่านมา สตง.มีงานล้นมือ สตง.เป็นองค์กรที่น่าจะเสริมเชี้ยวเล็บมากกว่า สตช.ด้วยซ้ำไป!

ข้อชวนประหลาดใจข้อถัดมาก็คือ สตช.จัดเครื่อบินเจ็ต Dassault Falcon 2000S RTP 33-742 ลำนี้เข้าประจำการแต่ปลายปี 2561 หลังจากนั้นก็ใช้ในภารกิจสำคัญต่างๆ ทุกสัปดาห์โดยไม่เป็นข่าวและไม่มีการยื่นร้องเรียนต่อ สตง.ให้ตรวจสอบแต่อย่างใด

แต่พอ ผบ.ตร.จัดให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งไปแจกโฉนดให้ชาวบ้านที่ลพบุรี กลายเป็นข่าวใหญ่โตในสื่อมวลชน และขยายไปยังโซเชียลขึ้นมาอย่างเกรียวกราว ราวกับว่าบิ๊กป้อมคือสายล่อฟ้าของข่าวประเภทนี้

เป็นเหตุให้โฆษก สตช.และอดีตนักบิน ตร. ต้องออกมาชี้แจงเป็นพัลวัน ก่อนที่จะถูกมือดีเสี้ยมว่าบิ๊กป้อมเป็นตัวซวยของ สตช.

สาระสำคัญที่ชี้แจงก็คือ เครื่องเจ็ตนี้ไม่ได้เป็นเรื่องบินรับรองเฉพาะบิ๊กป้อม และไม่ได้ “หรู” หรือมีแอร์โฮสเตสสวยอย่างที่ดราม่ากัน เป็นเจ็ตขนาดเล็กเพียง 10 ที่นั่ง เหมาะสำหรับพื้นที่สนามบินที่มีรันเวย์สั้นๆ สามารถบินฝ่าไปได้ในทุกสภาพอากาศ ภารกิจของผู้บังคับบัญชาระดับสูงในแต่ละวันค่อนข้างมาก ขึ้นเหนือ-ล่องใต้ในเวลาอันจำกัด

ทั้งตรวจเยี่ยมหน่วย การปฏิบัติภารกิจกวาดล้าง ตรวจค้น ทั้งทางด้านยาเสพติด และการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม งานสืบสวน รวมทั้งงานด้านความมั่นคงต่างๆ อย่างเป็นประจำทุกสัปดาห์

อดีตนักบินชี้แจงเพิ่มเติมว่า เฮลิคอปเตอร์มีที่นั่งผู้โดยสารน้อย ต้องลงเติมน้ำมันบ่อยและตลอดเวลา ไม่สามารถบินฝ่าไปในบางสภาพอากาศ ภารกิจของตำรวจระดับสูงบางกรณีรอตารางเวลาการบินปกติไม่ได้ และตำรวจไม่สามารถไปขอเที่ยวบินจากสายการบินพาณิชย์

ฟังดูก็พอจะเข้าใจเหตุผลที่ สตช.ต้องมีเครื่องบินเจ็ตไว้สักเครื่อง

แต่ภารกิจไปแจกโฉนดที่ลพบุรีของรองนายกรัฐมนตรีหนนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่าจำเป็นจะต้องใช้เจ็ตหรือไม่ มันเหมือนกับเดินทางไปด้วยรถเก๋งธรรมดาก็น่าจะพอเพียง ไม่จำเป็นต้องใช้รถสปอร์ตความเร็วสูงราคาแพงแต่อย่างใด

ฟังดูแล้วคล้ายเป็นเรื่อง ผบ.ตร.ต้องการเอาใจรองนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ เป็นเจ้านายที่ลูกน้องต้องเอาใจเป็นพิเศษ มิฉะนั้นจะลำบาก…ประมาณนั้น

ในส่วนที่นายศรีสุวรรณร้องเรียนก็เป็นลักษณะปกติประจำตัวของเขาอยู่แล้ว มีอะไรไม่ชอบมาพากลเขาเป็นต้องร้องเรียนอยู่แล้ว แปลกใจอยู่นิดเดียวก็ตรงที่มาร้องเรียนเรื่องเครื่องบินเจ็ตตำรวจเอาหลังจากมีภาพข่าว สตช.ใช้รับรองบิ๊กป้อม

หลายคนอาจจะลงความเห็นว่านายศรีสุวรรณมี “อคติ” ต่อบิ๊กป้อม

ตรงจุดนี้จึงอยากจะให้ความเป็นธรรมกับนายศรีสุวรรณสักเล็กน้อย ด้วยว่าเครื่องบินเจ็ตลำนี้ซื้อขายกันในยุค คสช.ครองเมือง ซึ่งเป็นยุคที่น่าจะเรียกว่า “Happy shopping”

เห็นชัดว่าคนของรัฐบาลใช้เงินงบประมาณแผ่นดินอย่างไม่มีวินัยและไร้ประสิทธิภาพ ในเวลา 5 ปีต้องกู้หนี้ถึง 2 ล้านล้านบาท (2,000,000 ล้านบาท) ซื้อกันในยุคที่บิ๊กป้อมคุม สตช. บิ๊กป้อมที่อื้อฉาวด้วยนาฬิกายืมเพื่อน

กล่าวอย่างภาษาบ้านๆ ก็คือ เป็นการคอร์รัปชั่นโดยเอาเงินจากภาษีของประชาชนไปละเลงอย่างสุรุ่ยสุร่ายและฟุ่มเฟือยนั่นเอง

ไม่เพียงแต่นายศรีสุวรรณที่มองในแง่ลบ หลายต่อหลายคนต่างมองคนของรัฐไปในทางไม่เป็นมงคลแบบนั้นทั้งสิ้น

โดยเฉพาะบิ๊กป้อมที่มีภาพรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้เหมาเครื่องบินพาณิชย์ของการบินไทย 20.9 ล้านบาท พาคณะ 38 คนไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกาที่ฮาวายและกินอาหารราคาแพงมากบนเครื่องบิน

แม้ สตง.จะตรวจสอบแล้วไม่เป็นเรื่องทุจริต แต่ก็ยังทำให้นายศรีสุวรรณที่ยึดติด ยังเข้าใจว่า สตช.ซื้อเจ็ตเพื่อรับรองบิ๊กป้อมคนมือเติบอยู่นั่นเอง

นายศรีสุวรรณมีข้อมูลว่า สตช.ซื้อเครื่องบินเจ็ตลำนี้ในราคา 1,145,286,800 บาท ซึ่งเขายืนยันว่าแพงกว่าปกติที่ควรจะซื้อได้ในราคาเพียงประมาณ 898,500,000 บาท (ส่วนต่าง 246 ล้านบาทเศษ) จึงเป็นหน้าที่ของ สตง.ที่จะต้องตรวจสอบและนำมารายงานต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้พบว่าแพงกว่าที่ควร แต่ความเสียหายก็ยังน้อยกว่าครั้งที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซื้อเครื่องโรลส์-รอยซ์ ตามแผนวิสาหกิจปี 2548/2549 -2552/2553 ในวงเงิน 96.355 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสูญเปล่า ขณะนี้ขายทอดตลาดก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากใครเลย

หรือที่เห็นกันชัดๆ ก็ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสมราคากว่าเรือเหาะหรือบอลลูนตรวจการณ์ของกองทัพบก ราคา 350 ล้านบาท ที่จัดซื้อมาในสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. ที่ปลดประจำการฐานหมดอายุ