ต่างประเทศ : ความทุกข์ของหญิง “ยาซิดี” บนทางแยกระหว่าง “ลูก” กับ “บ้านเกิด”

หลังจากที่มีหญิงสาวและเด็กสาวชาวยาซิดีหลายสิบคนถูกกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ลักพาตัวไปจากเมืองซินจาร์ของอิรัก เมื่อปี 2014 หญิงสาวและเด็กสาวเหล่านี้ ก็ถูกข่มขืน ขาย และจับแต่งงานกับพวกนักรบญิฮาด

ตอนนี้หญิงสาวและเด็กสาวเหล่านี้ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสรภาพแล้ว หากแต่ปัญหายังไม่จบ เพราะแม้ว่าเธอเหล่านี้จะอยากกลับบ้านมากแค่ไหน หากแต่ลูกๆ ที่เกิดจากนักรบไอเอส กลับไม่เป็นที่ยอมรับของชาวยาซิดี

พวกเธอจึงจำเป็นต้องหาทางเลือกระหว่างการได้อยู่กับลูก หรือจะกลับบ้านเกิดโดยไม่มีลูก

 

เอเอฟพีได้รายงานเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวและเด็กสาวเหล่านี้ไว้ พร้อมกับยกกรณีตัวอย่างของจีฮัน คาสเซม สตรีชาวยาซิดีในอิรัก หนึ่งในหญิงสาวที่ถูกลักพาตัวไปครั้งนั้นและได้รับอิสรภาพแล้ว แต่กำลังตกอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วน เพราะเธอกลับไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า จะเลือกที่จะอยู่กับลูก หรือเลือกที่จะกลับบ้านเกิด

เป็นเพราะว่า ลูกๆ ของเธอนั้นเกิดจากผู้ชายที่เป็นพวกนักรบญิฮาดของกลุ่มไอเอส ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของคนในชุมชนยาซิดี

จีฮันเล่าว่า เธอไม่สามารถพาลูกๆ กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดได้ เพราะเด็กเหล่านั้นเป็นพวกดาเอช (ชื่อเรียกไอเอสของชาวยาซิดี)

จีฮันซึ่งถูกลักพาตัวไปตอน 13 ขวบ และถูกบังคับให้แต่งงานกับนักรบไอเอสชาวตูนิเซียตอน 15 ขวบ ก่อนที่จะพากันหนีออกมาจากฐานที่หลบซ่อนของไอเอสในเมืองบักฮูซของซีเรียพร้อมกับลูกๆ

เมื่อกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งปฏิบัติการโจมตีไอเอสในซีเรียพบ และรู้ว่าเธอเป็นชาวยาซิดี ก็ได้ให้เธอกับลูกๆ คือลูกชายวัย 2 ขวบ ลูกสาววัย 1 ขวบ และลูกน้อยวัย 4 เดือนอีกคนหนึ่งไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซีเรีย พร้อมๆ กับหญิงคนอื่นๆ

ซามาน พี่ชายของจีฮันบอกว่า เขาอยากให้น้องสาวกลับบ้าน แต่ไม่ต้องการลูกๆ ของเธอ

หลังจากช่วงเวลาที่หาทางออกไม่ได้ผ่านไปหลายวัน ที่สุดแล้วจีฮันก็ตัดสินใจได้ว่า เธอจะยอมทิ้งลูกน้อยไว้กับเจ้าหน้าที่ขององค์กรชาวเคิร์ดในซีเรีย เพื่อแลกกับสิ่งที่เธอเรียว่า “ครอบครัวจริงๆ”

จีฮันพร่ำพรรณนาว่า ลูกๆ ของเธอยังเด็ก อยากอยู่กับแม่ เธอก็อยากอยู่กับลูกๆ แต่ลูกๆ เป็นลูกของดาเอช

ก่อนจะบอกว่า เธอไม่มีรูปของลูกๆ เก็บไว้เลย เพราะไม่อยากจะจดจำ แม้ในช่วงวันแรกๆ จะยากเย็นแสนเข็ญที่จะลืมลูกๆ แต่ก็ค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เธอก็ลืมลูกๆ ได้

 

เป็นเวลาหลายร้อยปี ที่ชาวยาซิดีที่แต่งงานกับคนนอกชนเผ่า หรือแม้แต่จะเป็นการถูกบังคับให้แต่ง ก็จะกลายเป็น “คนนอก” ไปในทันที

หญิงสาวที่ถูกไอเอสลักพาตัวไปเมื่อปี 2014 ก็เสี่ยงที่จะเผชิญกับโชคชะตาเดียวกัน หากแต่บาบา ชีค ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวยาซิดีบอกว่า ผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไอเอส ควรได้รับการยกย่องเชิดชูจากชุมชน

หากแต่ความเห็นใจเหล่านั้น ไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังลูกๆ ของหญิงสาวเหล่านั้น

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สภาจิตวิญญาณสูงสุด ของชาวยาซิดีได้ประกาศข้อบังคับที่คลุมเครือออกมา ระบุถึงความยินดีต้อนรับลูกๆ ของผู้รอดชีวิต ที่เป็นเหมือนความหวังในการยอมรับเด็กที่เกิดจากแม่ที่เป็นยาซิดี และพ่อที่เป็นไอเอส

หากแต่การตอบโต้อย่างป่าเถื่อนจากพวกหัวอนุรักษนิยมในยาซิดี ออกมาบอกให้สภาประกาศใหม่อีกรอบหนึ่งว่า “ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ยาซิดีต้อนรับเฉพาะเด็กๆ ที่เกิดจากพ่อและแม่ที่เป็นยาซิดี”

 

ตาลับ มูรัด นักเคลื่อนไหวชาวยาซิดี มองว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะกลายเป็นภัยคุกคามต่อชุมชนชาวยาซิดี เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงในบทบัญญัติทางศาสนา ก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นด้วย คราวนี้ทุกอย่างก็จะล้มเหลว และนำไปสู่การล่มสลายของยาซิดีในที่สุด

ขณะอาลี เคเดอร์ ตัวแทนของสภา เปิดเผยกับเอเอฟพีว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องของการเถียงหัวชนฝาว่าไม่เอาเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเหตุผล อย่างแรกคือ ตามกฎหมายอิรัก เด็กคนใดก็ตามที่พ่อหายสาบสูญไป จะต้องลงทะเบียนว่าเป็น “มุสลิม” โดยอัตโนมัติ ก็จะไม่ใช่ชาวยาซิดีในทันที

ในขณะที่เรื่องของทางจิตใจ เคเดอร์บอกว่า สังคมชาวยาซิดียังคงมีบาดแผลเกี่ยวกับการที่ชาวยาซิดีถูกลักพาตัวไป แล้วจะให้ยอมรับเด็กที่เกิดจากคนที่ลักพาตัวไปมาเลี้ยง ก็เป็นเรื่องลำบากใจ และทุกวันนี้ก็ยังมีหญิงสาวและเด็กสาวชาวยาซิดีอีกหลายพันคนที่ตกอยู่ในมือของพวกไอเอส

แต่ไม่มีใครถามถึงเธอเหล่านั้นเลย ถามแต่เรื่องของเด็กๆ ที่มองเห็นอยู่ตรงหน้า

 

ปัจจุบันแม่ชาวยาซิดีส่วนใหญ่ทิ้งลูกๆ ที่เกิดจากไอเอสเอาไว้ที่ “ยาซิดีเฮาส์” ซึ่งเป็นเซฟเฮาส์สำหรับเด็กๆ ในประเทศซีเรีย

แต่ก็มีบางคนที่พาลูกน้อยที่เกิดกับพวกไอเอสกลับไปยังบ้านเกิดที่อิรัก แต่ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

มีสาวนางหนึ่งยืนยันกับครอบครัวชาวยาซิดีของเธอว่า จะเลี้ยงลูกน้อยที่เกิดจากนักรบไอเอสที่หายตัวไป แต่ทุกอย่างก็ต้องจบลง เมื่อพบว่าเธอไม่สามารถออกเอกสารประจำตัวให้แก่ลูกชายของเธอได้ เนื่องจาก “ไม่มีพ่อ”

สำหรับชาวยาซิดีแล้ว เหตุการณ์ลักพาตัวเมื่อปี 2014 ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งที่ 74 ของชนเผ่ายาซิดี ที่มีประวัติศาสตร์อยู่บนโลกนี้ยาวนานถึง 4,000 ปี

และความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะยังมีชาวยาซิดี ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก อีกหลายร้อยคนที่ยังคงสูญหาย

แม้ว่ารัฐเคาะลีฟะฮ์ของกลุ่มไอเอสจะล่มสลายไปแล้วในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หากแต่คนเหล่านี้ก็ยังไม่ได้กลับบ้านเกิดของตัวเอง

จึงกลายเป็นความเจ็บปวดที่ฝังลึกอยู่ในใจ ยากเกินกว่าจะลืมและรับได้ หากต้องเลี้ยงเด็กที่เกิดจากคนที่มาทำร้ายคนในชุมชนเดียวกัน