ทราย เจริญปุระ | บันทึกวันที่แพ้-ชนะ “ซึมเศร้า”

ตอนที่แม่ฉันเข้ารักษาในโรงพยาบาลศรีธัญญาจนใกล้จะได้กำหนดกลับ ฉันก็เห็นคุณพยาบาลถือหนังสือมาเล่มหนึ่ง

จริงๆ มันควรถูกเรียกว่าสมุดมากกว่า เพราะมีทั้งส่วนที่ให้อ่านและใช้เขียน

เป็นสมุดเล่มบางๆ ที่เอาไว้ให้ผู้ป่วยได้อ่าน ได้คิดตาม ได้หาคำตอบให้กับตัวเอง ว่ารักษาไปเพื่ออะไร ทำไมถึงต้องมารับการรักษา ควรรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร

“แต่คุณแม่คุณทรายน่าจะมีปัญหาเรื่องการใช้คำกับการเขียน ใช้ถามคำถามกับทำจิตบำบัดสม่ำเสมอก็ได้นะคะ” คุณพยาบาลบอกฉัน

สุดท้ายก็ไม่ได้รับหนังสือเล่มนั้นมา เพราะอาการของแม่ฉัน (แน่นอน, รวมถึงการให้ความร่วมมือของแม่ที่เป็นศูนย์) ไม่เอื้อต่อการทำแบบฝึกหัดนั้น

จนเมื่อเดือนที่แล้ว ฉันได้มีโอกาสไปร่วมเสวนากับวงวิชาชีพของพยาบาลจิตเวช วิทยากรท่านหนึ่งเป็นผู้ที่ได้เข้าร่วมกับศูนย์ลิฟวิ่ง และหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาแนะนำ

อธิบายอย่างคร่าวๆ ที่สุด, ศูนย์ลิฟวิ่งหรือชื่อไทยว่า “สมาคมเสริมสร้างชีวิต” ต้องการเปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องการคืนสู่สุขภาวะได้มาพัฒนาตนเองด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เพื่อยืนหยัดอย่างมีคุณค่าในสังคม โดยใช้หลักการคืนสู่สุขภาวะและให้บริการโดยเพื่อนร่วมทาง (Peer Supporters) เป็นหลัก

ตัวฉันเองไม่เคยใช้บริการหรือเข้าไปที่ลิฟวิ่งด้วยตัวเอง แต่แทบทุกครั้งที่ไปเสวนางานใดๆ เกี่ยวกับโรคจิตเวช ก็จะได้เห็นศูนย์ลิฟวิ่งมาร่วมงานด้วยแทบทุกครั้ง ตั้งโต๊ะเล็กๆ แจกแผ่นพับและมีงานฝีมืองานประดิษฐ์จากที่นั่นมาวางไว้ให้ช่วยสมทบทุน

พอเห็นหนังสือเล่มนี้ในมือวิทยากร ฉันจึงตื่นเต้นมาก แล้วก็ขอซื้อ แต่ได้รับน้ำใจจากวิทยากรยกให้ฉันเลย

“คุณทรายลองเอาไปทำดูนะคะ”

“ด้วยประสบการณ์ในการเป็นผู้อยู่กับปัญหาสุขภาพจิตของเครก ลูอิส ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ปีแล้วปีเล่าที่ต้องดำเนินชีวิตลองผิดลองถูก เรียนรู้แต่ละบทเรียนด้วยความเจ็บปวด ในระหว่างทางเครกไม่ได้ปล่อยให้แต่ละเหตุการณ์ทั้งร้ายและดีผ่านไปอย่างสูญเปล่า เขาได้เฝ้าสังเกต บางครั้งก็ทำการทดลอง และได้บทสรุปในการจัดการความคิด ทัศนคติ และลงมือทำเพื่อออกจากปัญหาและอุปสรรค””

สิ่งที่ฉันใช้สำรวจตัวเองเวลาโดนจู่โจมจากโรคนั้นก็คือความคิดของตัวเอง

เสียงกระซิบกระซาบอันชั่วร้าย ดูถูกดูแคลน เหยียดหยามย่ำยีเกิดซ้ำในหัว สมจริงเกินกว่าจะเมินเฉย เพราะมันเป็นเสียงของฉันเอง

มันเป็นเสียงที่ดับไม่ได้ หรี่ลงก็ไม่ได้ และต้องยอมปล่อยให้มันกรอกข้อมูลนั้นเข้าสมองและหัวใจไปเรื่อยๆ จนมันเหนื่อยล้าหมดแรงไปเอง

ซึ่งเอาจริงๆ มันก็คงไม่ได้เหนื่อยหน่ายอะไร แต่แค่หมดรอบการแสดงของมัน มันก็หายเข้าหลังฉากไปเท่านั้น

ถ้าจะถามว่าความคิดเหล่านั้นมีเรื่องอะไรบ้าง มันก็ประกอบไปด้วยความสงสัยในตัวเอง การเหยียดหยัน การถอดใจ การตั้งคำถามว่าทำไปเพื่ออะไร แกมันได้แค่นี้ล่ะ อย่าพยายามต่อไปอีกเลย

มันก็เป็นคำถามธรรมดาๆ ใช่ว่าฉันจะรู้สึกไปคนเดียว แต่ในวันแย่ๆ รู้ทั้งรู้ว่าไอ้ที่ถามอยู่นี่ กดหัวฉันอยู่นี่มันคือโรคถาม ฉันก็ยังไม่รู้จะเอาตัวรอด ไม่รู้จะตะเกียกตะกายออกจากหล่มนั้นได้อย่างไร ได้แต่ปล่อยตัวจมไปเรื่อยๆ รอเวลากินยา แล้วก็นอน

เพื่อที่ลืมตาขึ้นจะเป็นวันพรุ่งนี้

วันใหม่

แล้วเสียงพวกนั้นจะเงียบไป

เพื่อจะกลับมาอีกครั้งและอีกครั้ง และอีกครั้ง

“บ่อยครั้งเป็นเรื่องยากที่ต้องอดทนในข่วงที่อยู่ในกระบวนการคืนสู่สุขภาวะ ความท้อแท้ผิดหวังและอยุติธรรมในชีวิตสามารถบดขยี้คนคนหนึ่งลงได้ เราทุ่มเทมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่บางครั้ง รู้สึกราวกับว่าการหายดีและการมีชีวิตที่ดีไม่สามารถเป็นไปได้””

ในวันที่ดี, ฉันตอบตัวเองได้เสมอ ว่าชีวิตเราก็เท่านี้ ประกอบไปด้วยวันที่ร้าย วันที่ดี ความทรงจำและความฝัน

เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้คงอยู่ตลอดไป และเรื่องที่ไม่เกิดก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีวันเกิดขึ้น

มันเรียบง่าย และฉันเชื่อว่าทุกคนก็คิดอะไรแบบนี้ได้

แต่สำหรับบางคนหรือบางวันที่เหนื่อยล้า คำถามหรือคำตอบเหล่านี้ดูจะหลีกหนีไปแสนไกล ไกลจนคิดไม่ออก ไกลจนไม่เข้าใจว่าคนอื่นคว้าจับมันมาได้ยังไง

ผู้ป่วยหลายคน (รวมถึงฉันด้วย) มักจะพูดถึงความตายให้คนอื่นได้ตกอกตกใจอยู่เรื่อยๆ ไปจนบางคนมองว่ามันคือการเรียกร้องความสนใจ แต่ที่จริงแล้วฉัน (ซึ่งฉันคิดว่าผู้ป่วยหลายคนก็เช่นกัน) มองมันเป็นแค่คำตอบหนึ่งท่ามกลางหลายทางเลือก เราเหมือนสัมผัสกับมันได้ง่ายและใกล้ตัวใกล้ตากว่าคนทั่วไป ความเจ็บปวด การกรีดแขนกรีดขานั่งดูเลือด การสัก การเจาะ ล้วนเป็นเส้นทางไปสู่ความเจ็บปวดที่ทดแทนความตาย มันมีไว้เตือนว่าเรายังเป็นเรา ยังอยู่บนโลกใบนี้ และทุกความเศร้านั้นเราไม่ได้คิดไปเอง

มันมีอยู่จริงเท่ากับวันที่ดี

ที่น่าจะอยู่ตรงไหนสักที่ระหว่างเส้นทางชีวิต

คําถามในเล่มนั้นไม่ยาก มันถามเรื่องทั่วๆ ไป ความคาดหวัง บอกว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ ความเข้มแข็ง ความไม่เสถียรของชีวิต และการตระหนักรู้ในตนเอง

ฉันหยิบขึ้นมาอ่านแล้ว แต่ก็ยังทำไม่ได้

ใจนั้นอยากจะไปซื้อมาอีกซักโหล เพื่อเอาไว้ทำข้อมูลความรู้สึกในแต่ละเดือน

หรือจริงๆ เอาแค่ในแต่ละอาทิตย์ ก็เอามาเปรียบกันได้แล้วว่ามันมีความต่างขนาดไหนระหว่างฉันในวันที่ดี กับฉันในวันที่พ่ายแพ้แก่โรค

ฉันไม่ค่อยเขียนอะไรแบบนี้บ่อยนัก

มันดูเกลื่อนกลาด เลื่อนลอย และเป็นคำสัญญาแบบที่ถ้ามีใครสักคนให้กับเรา เราก็พร้อมจะไม่เชื่อ

แต่ใช่, ฉันเชื่อว่าฉันจะอยู่ได้

ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหายจากโรคซึมเศร้า

และไม่ได้หมายความว่าจะยอมแพ้แก่มัน

ถ้ามันหมายถึงต้องกินยาไปทั้งชีวิตและไปลุ้นเอากับโรคแทรกโรคซ้อนต่างๆ ที่จะโถมเข้ามาในวันที่สังขารฉันอ่อนแอกว่านี้ก็เอาเถอะ

ฉันยังมีพื้นที่ให้สักอีกเยอะบนตัว

ยังมีคนที่ไม่ได้เจอ

ยังมีอะไรให้ผิดหวังอีกเยอะ

นี่ไม่ใช่วันสุดท้าย

ฉันตอบคำถามกับหนังสือเล่มนี้ได้เช่นนั้น

“วันที่ดีกว่า” สมุดบันทึกเพื่อคืนสู่สุขภาวะ (Better Days) เขียนโดย Craig Lewis แปลโดย นีรนุช คุณากร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสมาคมเสริมสร้างชีวิต กุมภาพันธ์, 2562 (สนใจสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ 06-4258-9358)

“ข้อความจากในหนังสือ

ฉันเพิ่มบางคำถามจากในหนังสือมาให้ เพื่อเป็นแนวทางของคำถามที่น่าคิดต่อ แม้จะไม่ใช่ผู้ป่วยค่ะ