ไม่มีใคร อยากเห็น เราเด่นเกิน

สังคมจับตามองวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา

วันสุดท้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ยื่นคำให้การ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องให้ศาลวินิจฉัยคุณสมบัติต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามมาตรา 98(3) ห้ามผู้ถือหุ้นสื่อหรือเป็นเจ้าของกิจการสื่อสารมวลชนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และเป็นผลให้ระหว่างการพิจารณาคดี นายธนาธรถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

ปรากฏว่า นายธนาธรไม่ได้ไปศาลเอง

แต่ได้ส่งนายวรวุฒิ บุตรมาตร ฝ่ายกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ นำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของนายธนาธร จำนวน 3 ลัง ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแทน

นายธนาธรแจ้งผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“…ธนาธรออนทัวร์ยุโรป-อเมริกา ตลอดเดือนที่ผ่านมา ผมเดินสายไปพบปะประชาชนในหลายจังหวัด ตั้งแต่เหนือจรดใต้ รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะจากคนในพื้นที่ และเตรียมทีมสำหรับการลงเลือกตั้งท้องถิ่น ส่วนของสัปดาห์นี้ผมจะเดินทางไปต่างประเทศบ้าง อันเนื่องจากผม อาจารย์ต้น วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ปรึกษานโยบายของพรรคอนาคตใหม่ และคุณช่อ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ได้รับเชิญไปบรรยายสาธารณะที่ London School of Economics and Political Science หนึ่งในสถาบันที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ในหัวข้อ “มองอนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” เราเลยถือโอกาสนี้ไปพบปะพูดคุยกับกระทรวงต่างประเทศ นักการเมือง และองค์กรระหว่างประเทศในยุโรปและอเมริกาด้วยในคราวเดียว

นับตั้งแต่จบการเลือกตั้ง บรรดาบุคคลในแวดวงระหว่างประเทศที่เราเคยพบปะล้วนสอบถามมาด้วยความกังวลถึงสถานการณ์การเมืองและเสถียรภาพของไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ (ซึ่งก็คือรัฐบาลเดิม) การเดินทางครั้งนี้ เราหวังว่าจะได้พูดคุยชี้แจงให้นานาประเทศได้เข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยและแนวโน้มในอนาคตได้อย่างชัดเจนขึ้น…” นายธนาธรระบุในเฟซบุ๊ก

อย่างไรก็ตาม

น่าสังเกตว่า พรรคอนาคตใหม่ได้ให้นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ออกมาแถลงข่าวเพิ่มเติมด้วย

นอกจากชี้แจงประเด็นการต่อสู้คดีของนายธนาธร

เช่น

1) นายธนาธรได้ให้ทีมกฎหมายได้ยื่นเอกสารชี้แจงกว่า 70 หน้า เอกสารประกอบการชี้แจง 50 รายการ 200 หน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญ

2) ได้ขอให้ศาลนัดไต่สวนพยานบุคคลเพิ่มเติม เบื้องต้นตัวละครที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นมี 5 คน ถ้าศาลให้ไต่สวนจะยื่นเพิ่มอีก

3) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งพิจารณาโดยเปิดเผย

4) เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณี 32 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ไม่ต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ จึงคิดว่าเป็นแนวบรรทัดฐาน จึงขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ของนายธนาธรเป็นการชั่วคราวด้วย

5) หากลองเทียบเคียงคดีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เป็นคดีใกล้เคียงกัน

มีการยื่นเอกสารชี้แจงครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561

หลังจากนั้น 23 วัน ศาลกำหนดวันนัดไต่สวนพยานวันที่ 25 กันยายน 2561 และอ่านคำวินิจฉัยนายดอนวันที่ 31 ตุลาคม 2561

ดังนั้น หากศาลอนุญาตให้ไต่สวนพยานบุคคลในคดีของนายธนาธรประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคม

ศาลจะเริ่มไต่สวนสิ้นเดือนสิงหาคม และอ่านคำวินิจฉัยสิ้นเดือนกันยายนนี้ เมื่อเทียบเคียงกันจึงเป็นไปไม่ได้ที่คดีจะจบภายในวันสองวัน อย่างน้อยที่สุดคดีนายธนาธรอ่านคำวินิจฉัยช่วงปลายเดือนกันยายนนี้

“นายธนาธรไม่ได้กังวลใจอะไร ผมรู้จักเขาดี เขาเป็นมนุษย์แห่งการทลายข้อจำกัด ไม่มีอะไรเป็นข้อจำกัดของนายธนาธรได้” นายปิยบุตรระบุ

แต่ก็ยังตอกย้ำให้สาธารณชนเข้าใจไปในทางเดียวกันคือ

การวินิจฉัยคดีนี้ รวมถึงการเปิดให้ไต่สวนพยานบุคคล

ต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน

ต้องเปิดให้คู่ความโต้แย้งอย่างเต็มที่

และต้องเดินตามแนวทางที่ผ่านมาในอดีต

ด้วยความหวังว่า นายธนาธรจะได้รับความเที่ยงธรรม

นอกจากประเด็นเรื่องการต่อสู้คดีหุ้นข้างต้นแล้ว

น่าสังเกตว่า นายปิยบุตรได้จงใจกล่าวถึงประเด็นละเอียดอ่อน ที่ว่อนอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียตอนนี้ด้วย

ประเด็นหนึ่งที่ร้อนในเฟซบุ๊กของ “สื่อ” และกลุ่มบุคคล ที่มีจุดยืนต่อต้านนายธนาธร

เป็นกรณีนายธนาธรเดินทางไปต่างประเทศนั่นเอง

โดยมีผู้นำภาพงานเลี้ยงของคนในพรรคอนาคตใหม่มาเผยแพร่พร้อมข้อความว่า

“…ภาพที่กินหรูดูดีหัวละ 600 ตามภาพที่เป็นข่าวไม่ใช่งานเลี้ยงสังสรรค์ทั่วไป

แต่คืองานเลี้ยงส่งเตรียมเดินทางไกลไปแล้วไปลับ

หลังยื่นเอกสารให้ศาลในคดีโอนหุ้นวันจันทร์นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการผ่อนผัน และเตรียมเดินสายต่างประเทศในวันรุ่งขึ้น

ก่อนศาลมีคำวินิจฉัยปลายเดือนนี้ นอกจากคุณสมบัติในการสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว

อาจตามมาด้วยการดำเนินคดีอาญาฐานปลอมแปลงเอกสาร มี คุกกกก

หากศาลเห็นว่าหลักฐานการโอนหุ้นที่ยื่นให้ศาลระบุว่าโอนหุ้นเสร็จสิ้นตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.62 เป็นการปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ อาจพาดพิงถึงผู้มีบารมีนอกพรรคด้วย หากโยงถึงรับประกันมีแจ่มจันทร์

เคยประกาศอย่างโอหัง ปากกล้าขาสั่น มีหลักฐานพร้อมหักล้างเอกสารของทางราชการ ที่ยืนยันโอนหุ้นหลังสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ … ถึงเวลาขอเผ่นก่อนเว้ยยยยยยยเฮ้ยยย…

งานนี้ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ไม่มีฟื้นนน…”

ยิ่งกว่านั้น

เคียงคู่ไปกับประเด็นหนีออกนอกประเทศที่จงใจ “ปล่อย” ออกมาแล้ว

กลุ่มโซเชียลยังปลุกกระแสที่ไม่แตกต่างจากกรณีโฟร์ซีซั่นส์ ที่อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงถูกป้ายสี

เมื่อมีการระบุว่า

“…(มี)ข้อมูลในไลน์ที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างคนในพรรคกับคนนอกพรรคที่สอบถามถึงข่าวที่สะพัดเรื่องเจ้าอาวาสกินไก่วัด มีข้อเท็จจริงอย่างไร…ข้อความที่สนทนากันยืนยันไม่ใช่เฟคนิวส์ จากข้อความที่คุยกันในไลน์ บอกให้เห็นถึง ส.ส.ในพรรคส่วนหนึ่งเริ่มอึดอัดกับพฤติกรรมของ หน.พรรค และลูกพรรคนาม… ที่ถูกตั้งข้อสังเกตมีพฤติกรรมจาบจ้วงดูหมิ่นสถาบันในช่วงที่ผ่านมา…”

พร้อมทั้งมีการนำเสนอซีรี่ส์เรื่อง “ในมุ้ง” เฉียดบุคคลที่ 3 ไป เฉียดบุคคลที่ 3 มาอย่างเมามัน

แต่เมื่ออ่านโดยรวมแล้ว ก็พอจะสื่อได้ว่าหมายถึงใคร

ถือเป็นการเล่นเกมใต้คีย์บอร์ดอย่างไม่อ้อมค้อม

สะท้อนถึงการเป็นฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการบ่อนทำลายอีกฝ่ายชัดเจน

กรณีดังกล่าว นายปิยบุตรได้ชี้แจงแทนในวันแถลงข่าวดังกล่าว ว่า

“ผมขอยืนยันว่า เมื่อนายธนาธรปฏิบัติภารกิจเสร็จจะเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยอย่างแน่นอน” นายปิยบุตรระบุ

และว่า

ได้ไปตรวจตารางการทำงานของนายธนาธร พบว่าในครึ่งเดือนหลังของเดือนกรกฎาคมนั้นนายธนาธรจะตะลุยภาคอีสาน ไล่ไปตั้งแต่ จ.อุดรธานี อุบลราชธานี และไปทางตอนเหนือของภาค

ดังนั้น ยืนยันว่ากลับมาแน่นอน

“ส่วนข่าวลือต่างๆ ที่เต้าขึ้นมา ควรจะยุติได้แล้ว” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ระบุ

พร้อมกับย้ำว่า นายธนาธรไปเยี่ยมครอบครัวที่ต่างประเทศ ก่อนที่จะไปปฏิบัติภารกิจกับเพื่อนร่วมพรรค

ซึ่งนายธนาธรก็เปิดเผยอย่างชัดเจนว่า คือ

อาจารย์ต้น วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ปรึกษานโยบายของพรรคอนาคตใหม่ และคุณช่อ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค

และทุกกิจกรรม เป็นกิจกรรมสาธารณะ มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก

มิใช่การปิดลับใดๆ

ขณะที่โฆษกหญิง พรรคอนาคตใหม่ ผู้ร้อนแรง น.ส.พรรณิการ์ วานิช เธอก็ได้แจ้งผ่านโซเชียลอย่างเปิดเผยเช่นกันถึงภารกิจไปเยือนต่างประเทศร่วมกับนายธนาธร

จึงไม่ใช่อะไรที่ต้องเป็นความลับ

แต่กระนั้น เธอก็ต้องโต้คลื่นแรงกรณี “สวมชุด” เข้าใส่ประชุมสภา ที่เธอใช้ชุดแฟชั่น ชุดพื้นถิ่น เข้าไปเขย่า “ขนบ” การแต่งตัวของผู้แทนราษฎร

ซึ่งปรากฏว่า สร้างความสั่นสะเทือนอย่างสูง

ที่เป็นรูปธรรมก็คือ นายวิเชียร ชวลิต ประธานกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎร บอกว่า ต้องนำเรื่องการแต่งกายไปเป็นประเด็นสำคัญ ในการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภา

ให้เกิดความชัดเจน ไม่ต้องถกเถียงกันอีก ทาง กมธ.จะเสนอต่อที่ประชุมสภาให้ออกระเบียบเรื่องเครื่องแต่งกาย ส.ส. จะได้มีความชัดเจนอย่างเป็นทางการว่าชุดใดแต่งได้หรือไม่ได้ โดยยึดหลักกาลเทศะและการเคารพสถานที่ เพราะหากไม่กำหนดระเบียบการแต่งกายให้ชัดเจน ทุกคนก็จะแต่งกายตามสบาย เอาแฟชั่นเลิศหรูมาอวดกัน คงต้องหารือในที่ประชุมสภาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร

ซึ่งนี่ย่อมเป็นผลสะเทือนจากการแต่งตัวของ “ช่อ” อย่างไม่ต้องสงสัย

และเช่นเดียวกัน “ภายนอกสภา” ก็ดุเดือดไม่แพ้กัน

ประเด็นนี้เป็นเรื่องร้อนในโซเชียลมีเดียทั้งเห็นด้วยแบบสุดขั้วและไม่เห็นด้วยแบบสุดขั้ว

ซึ่งภาวะสุดขั้วนี้เอง ที่นำไปสู่ปรากฏการณฺ์อันน่าห่วงใย

เมื่อมีผู้ใช้ชื่ออินสตาแกรม หรือไอจี ว่า a_adisorn โพสต์ข้อความปลุกกระแสความรุนแรง ว่า #ดักตบอีช่อช่อง Arrival…และมีส่วนขยายกำกับไว้ว่า “วิธีเอาชนะความเกลียดแบบอยู่หมัด ให้มึงคนเดียว” พร้อมกับติดแฮชแท็ก… #อีช่อหนักแผ่นดิน #อีช่อคอสั้น #อีช่อคางทูม #อนาคตใหม่กับพวกมึงกูไม่เอา

จากนั้นก็กลายเป็นเรื่องของศึก “คีย์บอร์ด” ในโลกออนไลน์ที่ห้ำหั่นกันของตัวแทนระหว่างสองฝั่ง ทั้งที่สนับสนุนและต่อต้าน

และสนั่นวงการยิ่งขึ้นเมื่อนักร้อง ดารา ออกมาร่วมวงด้วย เช่น “tataamitayoung” ซึ่งเป็นบัญชีของนักร้องสาวชื่อดังยุค 90 “ทาทา ยัง” หรือฉายาสาวน้อยมหัศจรรย์ แสดงความคิดเห็นในไอจีของเธอว่า “รบกวนด้วยค่ะ!”

ส่วน “อีฟ-พุทธิดา ศิระฉายา” ได้โพสต์ในอินสตาแกรม (ไอจี) a_adisorn ว่า “ไม่น่ารอด”

จนทำให้ทาทาและอีฟกลายเป็นดาราที่ถูกชาวเน็ตวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม กรณีที่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับคนที่เห็นต่าง

จนทั้งสองต้องรีบออกมาขอโทษ ก่อนที่จะบานปลายหนักกว่านี้

สะท้อนให้เห็นกรณีของ “ช่อ” ร้อนแรงเพียงใด

อันเป็นการตอกย้ำว่า บทบาททางการเมืองอันโดดเด่นยิ่งของพรรคอนาคตใหม่

ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การต่อต้านการสืบทอดอำนาจ การบุกการเมืองส่วนท้องถิ่น การตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ฯลฯ นำโดยนายธนาธร นายปิยบุตร และ น.ส.พรรณิการ์ นั้น

ได้กลายเป็นเป้าหมายแห่งการสนับสนุน และทำลาย ของคนในสังคม

การสนับสนุน คงไม่เป็นอะไรมาก เพราะเป็นเรื่อง “บวก”

แต่ในเรื่องการทำลายนั่นสิ คือประเด็นที่ต้องร่วมพิจารณา

การไม่ชอบพรรคอนาคตใหม่ ทั้งแนวทางหรือตัวบุคคลเป็นสิ่งที่ “ยอมรับได้” หากอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล และความเป็นประชาธิปไตย

แต่การงัดเอาสิ่งที่อยู่ใต้คีย์บอร์ดมาทำลายล้างกันอย่างรุนแรง สกปรก ละเมิดต่อศีลธรรม และไม่คำนึงแนวทางประชาธิปไตย

ย่อมไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์แน่นอน