มุกดา สุวรรณชาติ : พปชร. และ ปชป. ชิงคะแนน 5 ล้าน…บนแพแป๊ะ

มุกดา สุวรรณชาติ

มีคนวิจารณ์ว่ารัฐนาวาของนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเรือเหล็ก

แต่บางคนก็ว่ามีลักษณะเป็นแพที่เอาไม้ท่อนใหญ่ท่อนเล็กมาต่อกัน จะสามารถใช้โดยสารล่องไปตามกระแสน้ำได้ไกลแค่ไหนไม่รู้

ถ้าประสบปัญหาระหว่างทาง แพจะแตกหรือไม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ

แต่ถ้าวิเคราะห์ตามสถานการณ์ที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้ การเดินทางไปได้ไกลแค่ไหน ชี้ขาดที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

 

คะแนน 8.4 ล้านของพลังประชารัฐ
มาจากไหน

พรรคพลังประชารัฐถือกำเนิดมาระยะเวลาที่สั้นมาก เรียกได้ว่ามีอายุแค่ปีเดียว สภาพความมั่นคงแข็งแรงของพรรค และการได้คะแนนอันดับ 1 จากการเลือกตั้งครั้งแรก ทั้งๆ ที่เป็นพรรคใหม่ซึ่งไม่เคยมีฐานเสียงเลย การทำคะแนนได้สูงที่สุดถึง 8.4 ล้าน น่าจะมาจาก 4 ปัจจัย

1. ฐานอำนาจ คสช. ที่เป็นรัฐบาลชั่วคราว (5 ปี) ทำให้ร่าง รธน.ได้เอง ตั้ง ส.ว.ได้เอง 250 คน กุมกลไกอำนาจรัฐซึ่งสนองนโยบายต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สามารถกระจายงบประมาณจำนวนมากตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สร้างโครงการลด แลก แจก แถมช่วยคนจนได้หลายครั้ง

2. มีนักการเมืองที่ย้ายค่ายจากพรรคเก่าๆ ลงมาดูแลพื้นที่ทั่วประเทศ จากนั้นก็ไประดมกำลังมาจากกลุ่มการเมืองต่างๆ ในทุกระดับ ไม่เพียงแค่ระดับนักการเมืองหรือ ส.ส.ที่เป็นคนเด่นคนดัง นักการเมืองสอบตก นักการเมืองท้องถิ่นและแม้แต่หัวคะแนน ก็เอาเข้ามาในสังกัดเพื่อเสริมกำลังอย่างเต็มที่ ด้วยเป็นพรรคที่มีเสบียง อาวุธ ในการต่อสู้ได้อย่างเหลือเฟือ จึงสามารถดึงมวลชนติดตามนักการเมืองเข้ามาสนับสนุนได้พอควร

3. การเสนอนโยบายพรรคพลังประชารัฐที่อาจทำให้ประชาชนสนใจ เห็นประโยชน์ ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้ เร็วหรือช้า ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่ได้หาเสียงและสัญญากับสังคมไว้ มีดังนี้

ด้านเกษตร ประกันราคาสินค้าเกษตรต่างๆ เช่น ข้าวเจ้า 12,000 ต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทต่อตัน และยางพารา 65 บาทต่อกิโลกรัม

ด้านแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้น 20,000 บาท อาชีวศึกษา 18,000 บาทต่อเดือน

ด้านคนจน ผู้ด้อยโอกาส สานต่อบัตรคนจน โดยเพิ่มสิทธิผู้รับบัตรคนจน ครอบคลุมมากขึ้น แจกค่าน้ำ 100 บาทต่อเดือน ค่าไฟฟ้า 230 บาทต่อเดือน เงินซื้อสินค้า 500 บาทต่อเดือน

ด้านผู้สูงอายุ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือน ขยายเวลาเกษียณอายุราชการเป็น 63 ปี

ด้านครอบครัว ทำโครงการมารดาประชารัฐ ตั้งท้องรับเงิน 3,000 บาทต่อเดือน ค่าคลอด 10,000 บาท ค่าดูแลลูก 2,000 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 6 ปี

จะทำได้จริง หรือจะเป็นแบบ เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน

4. การเมืองที่ต้องเลือกข้าง…ทำให้ พปชร.ได้คะแนนเพิ่ม

ปัจจัย 1-3 ประการ ทำให้ พปชร.แม้เริ่มนับหนึ่ง (แต่นับก่อนพรรคเก่า) ก็มีอิทธิพลต่อคนจนมากโดยเฉพาะพื้นที่นอกเมือง แต่ชนชั้นกลางในเมือง ปัจจัยชี้ขาดคือการเมือง โดยเฉพาะช่วงใกล้เลือกตั้ง เมื่อเกมการเมืองตกอยู่ในสภาพต้องเลือกข้าง กลุ่มที่เป็นโรคกลัวทักษิณ จึงตัดสินใจสนับสนุนให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อผ่านระบบการเลือกตั้ง โดยเทคะแนนให้ พปชร. พวกคัดค้านไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจ ก็เทไปให้เพื่อไทยและอนาคตใหม่

ปัจจัยแวดล้อมทำให้การเทคะแนนเป็นไปอย่างมีเหตุผล เพราะ พปชร.ได้เสนอนโยบายที่จะให้ประโยชน์กับประชาชน โดยไม่กลัวว่าจะเป็นการเลียนแบบทักษิณ

หลังการเลือกตั้งมีการทำ Poll สำรวจพบว่า คะแนนเสียง พปชร.มาจาก ปชป.เกือบ 80% อยากรู้ว่าจริงหรือไม่ ต้องตามไปดูคะแนน ปชป.

 

พรรค ปชป.ขาลง
คะแนนหายไปมากกว่า 7.5 ล้าน

วิเคราะห์จากคะแนนของประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งได้ถึง 11.4 ล้านคะแนน มาถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีนาคม 2562 เหลือคะแนนนิยมทั้งประเทศ 3.9 ล้านคะแนน (รวมที่ควรจะได้เพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใหม่ที่เพิ่งมาลงคะแนนประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งถ้าดูจากผลสำรวจก็จะพบว่า ปชป.ได้ไป 3% เท่านั้น ประมาณ 1.5 แสน)

แสดงว่าคะแนนที่หายไปมากกว่า 11.4-3.9 ล้าน = มากกว่า 7.5 ล้านคะแนน…ทำไมมากขนาดนี้

ทีมวิเคราะห์มองว่า กระแสต้านการสืบทอดอำนาจ เป็นกระแสหลักในช่วงหาเสียง คะแนนของอนาคตใหม่จึงพุ่งแรงมาก สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งยังไม่มีวี่แววว่าพลังประชารัฐจะได้คะแนนมากมาย แต่เมื่อการหาเสียงและการต่อสู้ทางการเมืองเริ่มขึ้น จนถึง 2 เดือนก่อนเลือกตั้ง เกมการเมืองขยายตัวออกไป สุดท้ายตกอยู่ในสภาพต้องเลือกข้าง แต่คะแนนของ ปชป.ค่อยๆ แผ่วลงตลอด หัวหน้าพรรคจึงตัดสินใจพลิกสถานการณ์ โดยแถลงจุดยืนทางการเมืองที่ต้านการสืบทอดอำนาจ โดยหวังจะตีคะแนนคืน

11 มีนาคม 2562 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. แถลงข่าวถึงจุดยืนทางการเมือง ภายหลังจากที่ได้ประกาศว่า จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ตนเห็นว่า มี 5 ประเด็นหลักที่จะชี้แจงต่อประชาชน ถึงจุดยืนของพรรค คือ

1. จุดยืนนี้ไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัว แต่เป็นการพูดในฐานะหัวหน้าพรรคและเป็นอุดมการณ์พรรคที่ยึดมั่นมา 70 ปีแล้ว เพราะเรื่องนี้ในที่สุดต้องมีมติพรรค แต่ตามข้อบังคับของพรรค มตินี้จะเกิดไม่ได้ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้ง

2. เป็นการย้ำอุดมการณ์ของพรรค เพราะพรรคต้องการทำงานการเมืองแบบตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้เลือกตั้งมีสิทธิ์ได้รับทราบจุดยืนของแต่ละพรรคอย่างชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง

3. ยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนมี 3 ทางเลือกซึ่งมีจุดยืนและแนวคิดที่ต่างกันอย่างชัดเจน

4. ปชป.ยืนยันว่าจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล และต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานอุดมการณ์ของพรรค

5. สำหรับคำถามว่า หลังการเลือกตั้ง ถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ กลัวว่าบ้านเมืองจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีกหรือไม่นั้น ตนเห็นว่า สถานการณ์ในประเทศกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกฝ่ายได้เรียนรู้แล้ว

 

ผลของการไม่มีจุดยืนที่แน่นอน

ประชาชนเชื่อและไม่เชื่อคุณอภิสิทธิ์ ดังนั้น 3.9 ล้านยังเลือก ปชป. แต่ 7.5 ล้านก็ตัดสินใจไม่เลือก

จากผลสำรวจการลงคะแนนหลังการเลือกตั้ง พบว่าผู้ที่ลงให้พลังประชารัฐเกือบ 80% คือผู้ที่เปลี่ยนใจมาจากประชาธิปัตย์ อีก 20% มีความตั้งใจ จะลงคะแนนให้พลังประชารัฐอยู่แล้ว แสดงว่าคะแนนเสียงของพลังประชารัฐได้มาจากฐาน ปชป.มีมากถึง 6.6 ล้านคน ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขคะแนนที่หายไปของ ปชป.ที่มากถึง 7.5 ล้าน แสดงว่ามีความเป็นไปได้จริง

ส่วนอีกประมาณ 1 ล้านคะแนนของ ปชป.น่าจะกระจายไปอยู่กับพรรคอื่น เช่น พรรคสุเทพ พรรคเสรีรวมไทย ฯลฯ และมีบางคนทำใจไม่ได้ จึงไม่ใช้สิทธิ์เลือก หรือทำบัตรเสีย

ส่วนเหตุผลทางการเมืองนั้น คุณจาตุรนต์ ฉายแสง วิเคราะห์ว่า

“12 ปีมานี้ มีการบอยคอตการเลือกตั้ง ขัดขวางการเลือกตั้ง สนับสนุนและแก้ต่างให้กับการรัฐประหาร พรรค ปชป.ได้ปลูกฝังให้ผู้สนับสนุนตนเองจำนวนมากนิยมชมชอบระบอบเผด็จการอย่างลึกซึ้ง จนคุ้นชินเป็นปกติธรรมดาไปแล้ว”

ทีมวิเคราะห์มองว่า ประชาชนปรับตัวไม่ทันกับเกมของ ปชป. เขาตามพรรคมานาน แต่พวกเขามีเพียง 1 เสียง ไม่สามารถเล่นการเมืองสองทาง หรือเหยียบเรือสองแคมได้แบบพรรค ซึ่งทั้งอยากจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วย ถ้าไม่ได้ก็จะร่วมรัฐบาล แต่นักการเมืองด้วยกันดูออกว่า การพูดของหัวหน้าพรรคแบบนี้ ถ้าพลาดท่า หัวหน้าพรรคก็ต้องลาออก แต่พรรคก็จะไปร่วมรัฐบาลอยู่ดี เวลาไปร่วมก็อ้างเพื่อประเทศชาติ อ้างเพื่อให้ระบบสภาไปต่อได้ อ้างมติพรรค

แต่ฟังจากคำแถลงคุณอภิสิทธิ์ แสดงว่านี่เป็นมติพรรค ที่อ้างกันนักหนาตอนต่อรองแบ่งกระทรวงนั้น ขัดต่อ “อุดมการณ์พรรคที่ยึดมั่นมา 70 ปี”

และขัดกับสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน แบบที่คุณอภิสิทธิ์พูดไว้เมื่อ 11 มีนาคม

“พรรคต้องการทำงานการเมืองแบบตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้เลือกตั้งมีสิทธิ์ได้รับทราบจุดยืนของแต่ละพรรคอย่างชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง ไม่ใช่เข้าใจไปแบบหนึ่ง แต่พอได้รับเลือกตั้งแล้วกลับไม่ทำตามที่ประชาชนเข้าใจ และถ้าการประกาศครั้งนี้จะทำให้เสียคะแนนตนก็ยินดี เพราะมันคือความเป็นธรรมกับการเลือกตั้ง”

ผลก็คือ เสียคะแนนไปตอนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 7.5 ล้าน และเมื่อเข้าร่วมรัฐบาลก็โดนด่าซ้ำ

ก่อนหน้านี้ 1-2 ปี นักวิเคราะห์การเมืองทุกค่ายเดาถูกว่า ปชป.จะเดินเกมแบบแทงทั้งสูงและต่ำ เดาได้แม้กระทั่งคำพูดตอนเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งน่าจะมีผลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อย่าว่าแต่ประชาชนเลย เด็กๆ ในพรรคก็ยังรับไม่ได้

 

ผลต่อสถานการณ์ในอนาคต

คะแนนที่ไปอยู่กับ พปชร. 6.6 ล้าน ถ้า พปชร.มีผลงานบ้าง และมีระบบอุปถัมภ์ สนับสนุน คาดว่า หลังตั้งรัฐบาล 6 เดือน 1 ใน 4 ของผู้ย้ายการสนับสนุน คือประมาณ 1.6 ล้านน่าจะไปแบบถาวร ปชป.มีโอกาสชิงเสียงคืนในการเลือกตั้งครั้งหน้า ประมาณ 5 ล้านคะแนน ในระยะ 1 ปี

แต่ถ้ารัฐบาลอยู่ถึง 2 ปี ก็จะยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก การดำรงอยู่ในอำนาจรัฐย่อมมีความได้เปรียบในการที่จะเลือกให้ประโยชน์และบริการประชาชน จะเห็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุจะนิยมสวัสดิการและประโยชน์ที่รัฐบาลให้มีผลให้เกิดความนิยม ในช่วงก่อนเลือกตั้ง

ยิ่งอยู่นาน พปชร.จะจัดการระบบการจัดตั้งคะแนนเสียงในท้องถิ่นได้อย่างเป็นระบบและไม่มีปัญหาใดๆ มีความเป็นไปได้ว่า จะสามารถชนะได้คะแนนอยู่ในระดับ 100 กว่าเสียงในสมัยหน้าอีกครั้ง

แต่ที่จะเป็นปัญหาคือ พรรค ปชป.ถ้าคะแนนเสียง 5 ล้านเสียงไม่ย้ายกลับมา ต้องลำบากแน่ เพราะคะแนนเสียงของประชาชนอีกฝั่งหนึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามทางอุดมการณ์การเมืองซึ่งไม่ย้ายมาอยู่กับพรรค ปชป.

นี่จะกลายเป็นความขัดแย้ง บนแพ…แป๊ะ…เพราะกัปตันที่บังคับให้แพลอยไปข้างหน้า คือนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์แห่งพลังประชารัฐ…นายกรัฐมนตรี

ส่วนพรรค ปชป.ก็มี..ประธานสภา ชวน หลีกภัย มาช่วยค้ำถ่อ ผลักดันแพไปข้างหน้า ถือเป็นเรี่ยวแรงที่สำคัญ แต่คะแนนเสียง 5 ล้าน ก็เป็นสิ่งที่ทั้งสองพรรคมุ่งหวังและมันไม่ใช่เรื่องที่จะแบ่งกันง่ายๆ

โมเดลการปกครองใต้ รธน. 2560 แม้หวังจะเป็นแบบยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่สภาพแวดล้อมทางการเมืองยังต่างกัน ที่สำคัญคือ นายกฯ ป๋าเปรม ไม่มีพรรคของตัวเองที่ต้องไปแข่ง หรือขัดแย้งกับคนอื่น แต่นายกฯ ลุงตู่ ไม่ใช่นายกฯ คนกลาง เพราะมี พปชร.ซึ่งเต็มไปด้วยแกนระดับเซียนเขี้ยวลากดิน จะเห็นว่าเพียงแค่ตั้งรัฐบาลครั้งแรกก็มีปัญหาแล้ว การฟอร์มรัฐบาลจึงนานที่สุด และเสียงก็ปริ่มน้ำจริงๆ

แต่ ปชป.ก็มือเก่าทั้งนั้น ถ้าจะเรียกคะแนนคืน คงได้เห็นบทบาทวีรบุรุษประชาธิปไตยแน่ๆ