สมหมาย ปาริจฉัตต์ : Open Class พัฒนาครู-นักเรียนยุคใหม่ (6)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวที 4 คุณป้ามหาภัยสะท้อนมุมมองที่มีต่อ 3 นวัตกรรมการศึกษา ในการประชุมวิชาการ “นวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่อง สู่การประกันคุณภาพเพื่อโรงเรียน” ช่วงเช้าวันแรกปิดลงอย่างสวยงาม

โปรแกรมต่อไป ช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่ม เปิดห้องย่อยให้เลือกเข้าตามถนัดและความสนใจ

ทุกห้องมีกรณีศึกษาจากโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่อง 3 แห่ง เป็นประเด็นเพื่อแลกเปลี่ยน

มีผู้ทรงคุณวุฒิกระจายกันเข้kร่วมสะท้อนคิด

กลุ่มแรกเป็นผู้ร่วมโครงการนวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่อง 9 ห้อง

หัวข้อ 1 Q Goal กับนวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่อง

หัวข้อ 2 การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพด้วยกระบวนการ Q Plc และ Q Info

หัวข้อ 3 ระบบพี่เลี้ยง Coaching ในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนโดย Q Coach

หัวข้อ 4 นวัตกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามโรงเรียน Q Network

หัวข้อ 5 เส้นทาง sQip สู่การประกันคุณภาพและ SAR โดย Q Coach

หัวข้อ 6 กระบวนการจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ Open Class / PLC / LS

หัวข้อ 7 ระบบดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึง (Teachers Students Engagement)

หัวข้อ 8 การพัฒนาครูโดยใช้กระบวนการ PLC / LS และ Log Book

หัวข้อ 9 การบริหารโรงเรียนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

กลุ่มสอง 4 ห้องเป็นโรงเรียนในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ห้องแรก หัวข้อหลักการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญา ห้องที่ 2 การสอบแบบประณีตเพื่อบ่มเพาะคุณธรรม ห้องที่ 3 ทักษะสำคัญสู่การทำหน้าที่กระบวนกรเพื่อการเรียนรู้ ห้องที่ 4 การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อพัฒนาทักษะแห่งอนาคต

แต่ละห้อง ครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่พบในระหว่างร่วมทำโครงการ เพื่อสรุปประเด็นไปนำเสนอในเวทีใหญ่วันรุ่งขึ้น

แต่ละห้องมีทั้งเรื่องราวและเรื่องเล่า หลากหลายประเด็น จนเก็บมารายงานไม่หมด

 

ผมเลยเลือกบทเรียนของห้อง 6 หัวข้อ “การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ Open Class / PLC / LS” มาเล่าสู่กันฟัง เพราะเห็นว่าน่าสนใจ ชอบ ว่างั้นเถอะ

ครูลลิตา ตั้งอิสราวุฒิกุล โรงเรียนบ้านแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พูดถึงวิธีการเรียนรู้แบบเปิด ทำให้นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ มีเหตุผล กระบวนการมี 4 ขั้นตอน 1.การเรียนรู้ปลายเปิด 2.เรียนรู้ตนเอง 3.อภิปรายของนักเรียน 4.สรุปเชื่อมโยงแนวคิดของนักเรียน

“Open Class เปิดชั้นเรียนให้ผู้ที่สนใจเข้ามาพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียน เริ่มจาก 1.การวางแผน จัดทำแผนจัดการเรียนรู้ร่วมกัน อาจใช้การสร้างสถานการณ์ปัญหา เพื่อให้นักเรียนเห็นปัญหาและเลือกใช้สื่อโลกจริง และสื่อกึ่งรูปธรรมเพื่อเชื่อมโยงสู่เนื้อหาการสอน และคาดการณ์แนวคิดของนักเรียนต่อปัญหาที่นักเรียนเจอ 2.การสังเกตชั้นเรียนเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่ ถ้าไม่ เกิดจากสาเหตุใด เพื่อเพิ่มกระบวนการและสะท้อนผล 3.การพัฒนาครูและชุมชนให้มีการออกแบบร่วมกันทำให้เกิดกระบวนการ PLC ทุกวันพุธ ดูว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ การสร้างกลุ่มครูโดยที่ครูในกลุ่มไม่ได้อยู่ในสาระศึกษาเดียวกัน เป็นการพัฒนาครูเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา”

เธอย้ำ

 

ผอ.ณชัย เขมนิพัทธ์ อดีต ผอ.โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อ “Open Class เป็นการเปิดให้ครูโรงเรียนอื่นเข้ามาดูการเรียนการสอนและช่วยสะท้อนคิด เป็นขั้นตอนที่ 2 ของ LS

PLC เป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม เป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ LS เป็นเครื่องมือช่วยให้เกิด PLC การทำกระบวนการนี้มีความท้าทายเรื่องการจัดการเวลา อาจจะไม่สามารถจัดการสอนได้ทุกวิชา แต่มีทางแก้คือทำเป็นคลิป หรือใช้เครือข่ายในการสอน”

ติดตามด้วย ครูยุพิน สุขแก้ว และครูมลธิรา ขุนสันเที๋ยะ โรงเรียนชุมชนบ้านบางเสร่ จ.ชลบุรี เล่าถึงกระบวนการที่โรงเรียนดำเนินการ กลุ่ม PLC ทุกวันอังคารหลังเลิกเรียน แบ่งเป็น 6 กลุ่ม

1. ครูปฐมวัย

2. ครู ป.1-ป.3

3. ครูภาษาต่างประเทศ

4. ครูวิทยาศาสตร์

5. ครูคณิตศาสตร์

6. ครูศิลปะ กลุ่มการอาชีพ ปรับให้ครูทุกกลุ่มสาระมาร่วม

มีการออกแบบการเรียนการสอน โดยกลุ่มจะเป็นผู้ช่วย ก่อนนำไปสอนและมีการสังเกตการสอนในห้องเรียน พบปัญหาว่าเด็กๆ ห้องข้างเคียงไม่มีครูดูแลจึงปรับเป็นการอัดคลิปการสอน มีเครือข่าย 5 โรงเรียนเข้าร่วมแบบหมุนเวียน โดยทางโรงเรียนที่จะเปิดห้องเรียนจะแจ้งว่าจะเปิดห้องเรียนในรายวิชาไหน เพื่อให้เครือข่ายโรงเรียนเข้าร่วม

“ผลการดำเนินงานนักเรียนมีความสุข มีกิจกรรมแบบ Active Learning ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น คะแนน Onet สูงขึ้นทุกกลุ่มสาระ ครูได้รับการพัฒนา เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน 100% มีเครือข่ายภายใน ภายนอกโรงเรียน ไม่ต้องทำงานคนเดียว ทำให้แผนการสอนมีคุณภาพ โรงเรียนเป็นที่ยอมรับของชุมชน ผู้ปกครองให้ความร่วมมือมากขึ้น โรงเรียนได้รับงบประมาณหลังใหม่ 18 ห้องเรียน ชุมชนเข้ามาร่วมบริจาคเครื่องอำนวยความสะดวก”

“การเปิดห้องเรียนเริ่มจากออกแบบการเรียนรู้ โรงเรียนมีครูอายุราชการเยอะ ผู้อำนวยการจึงให้เปิดรับ เพราะการเปิดห้องเรียน ทำให้การทำงานมีเพื่อนร่วมงาน สามารถใช้เทคโนโลยีได้เพิ่มขึ้น ครูทำ PLC ให้ห้องเรียนเป็นการหาความต้องการของนักเรียน ออกแบบการเรียนร่วมกัน และเด็กร่วมประเมินทั้งประเมินตนเอง และประเมินเพื่อน ไม่เขินอายต่อการบอกเครือข่ายที่เข้ามาเรียนรู้กับโรงเรียน”

คุณครูเล่าด้วยความภาคภูมิใจ

 

ก่อนถึงคิว รศ.ดร.ไมตรี อินทรประสิทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็น “Open Class หัวใจอยู่ที่ครูเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ในระหว่างการแก้ไขปัญหาของตนเองนักเรียนกำลังมีการเรียนรู้ร่วม ดังนั้น ทักษะในศตวรรษที่ 21 คือการเรียนรู้เพื่อการแก้ปัญหาให้ตนเอง และต้องคิดจนตระหนักว่าตนเองมีแนวคิดนั้นอย่างไร”

“ครูต้องออกแบบการสอน เนื้อหาคือกระบวนการคิดของนักเรียน แนวคิดที่นักเรียนใช้แก้ปัญหา ชั้นเรียนต้องสร้างให้เด็กคิดด้วยตนเอง ครูต้องเปิดโอกาส ครูในระบบญี่ปุ่นมีการช่วยเหลือชี้แนะหรือนิเทศการทำงานตลอดเวลา ครูมีวิธีการวางแผนการสอนโดยคาดการณ์แนวคิดของนักเรียน ร่วมกันออกแบบสถานการณ์ สื่อ แบบประเมิน เครื่องมือในการวัด คำถามเพื่อจะดูการแก้ปัญหาด้วยตัวเด็ก และมีประเด็นวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนดังกล่าว”

“การใช้วิธีการแบบเปิด ควบคู่กับการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ในทุกสัปดาห์ เป็นวงจรรายสัปดาห์ของการศึกษาชั้นเรียน”

ครูไมตรีถ่ายทอดประสบการณ์จากแดนอาทิตย์อุทัย

 

ก่อนปิดท้าย แนวการสอนแบบใหม่ที่เรียกว่าวิธีการแบบเปิด Open Approach มีขั้นตอนตามลำดับ

1. นำเสนอปัญหาปลายเปิด

2. นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการแก้ปัญหา

3. อภิปรายและเปรียบเทียบร่วมกันทั้งชั้นเรียน

4. สรุปโดยเชื่อมโยงแนวคิดที่เกิดขึ้นของนักเรียน

เวทีห้อง 6 ปิดลงด้วยความอิ่มเอมทางปัญญา และความท้าทายเพื่อนำสู่การปฏิบัติจริงกันต่อไป