วิรัตน์ แสงทองคำ : ธุรกิจเก่า เข้าสู่ยุคใหม่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เบียร์สิงห์กับตระกูลภิรมย์ภักดี ตำนานธุรกิจไทยยังคงอยู่อย่างมั่นคง ทว่าหลายคนคงไม่รู้ว่าช่วงใกล้ๆ ขยับขยายเหลือเกิน

เรื่องราวเปิดฉากจากเบียร์ไทย ด้วยตำนานบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ธุรกิจครอบครัว ตระกูลเก่า-ภิรมย์ภักดี เจ้าของ “เบียร์สิงห์” อยู่ในธุรกิจอย่างโฟกัสมาตั้งแต่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 แม้ว่าเผชิญกระแสลมเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ แต่สามารถผูกขาดมานานกว่า 60 ปี

หากย้อนไปช่วงปี 2525-2530 ลองหาอ่านข่าวย้อนหลังในช่วงนั้น บางปีกรมสรรพากรรายงานรายชื่อผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาสูงที่สุดในประเทศไทย จะพบว่าคนในตระกูลภิรมย์ภักดีอยู่ในลิสต์หลายคน

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เกิดขึ้นในสมัยอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อรัฐบาลเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์ในปี 2534

กับการปรากฏขึ้น-เบียร์ช้าง

 

เบียร์สิงห์จากยุคผูกขาดตลอด 60 ปีแรก ต้องมาเผชิญสถานการณ์สั่นไหวอย่างรุนแรงในช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2538-2540 เบียร์สิงห์ต้องสูญเสียฐานะผู้นำตลาด ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคการแข่งขันและต่อสู้อันเข้มข้นกับเบียร์ช้าง จากประสบการณ์การผูกขาดด้วยตนเอง สู่ประสบการณ์ใหม่ การเผชิญกับธุรกิจในโมเดลตกค้างจากการผูกขาดสุรา แผนการเชิงรุกของเบียร์ช้าง ด้วยระบบการขายพ่วง

“ทว่า “สิงห์” สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เป็นบทพิสูจน์ว่าธุรกิจที่มาจากการ “ผูกขาด” อย่างยาวนานสามารถปรับตัวได้ …2538 เริ่มการก่อสร้างโรงเบียร์ที่ขอนแก่น ซึ่งใช้เวลานาน 2 ปี และสามารถผลิตเบียร์ได้ถึง 2 แสนล้านลิตรต่อปี …2541 เบียร์ลีโอ เบียร์ใหม่ล่าสุดออกสู่ตลาดในเดือนมิถุนายน… 2545 จัดระเบียบเครือข่ายการกระจายสินค้าใหม่สร้างเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายและผู้รับเหมารายย่อยรวมกว่า 12,000 รายทั่วประเทศ เชื่อว่าภาพลำดับเหตุการณ์ข้างต้น คือความพยายามและความเคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะก้าว เพื่อเข้าสู่การแข่งขันทางธุรกิจอีกระดับหนึ่ง ไม่ช้าไม่นานพิสูจน์ได้ว่าแผนการดังกล่าวได้ผล เบียร์ลีโอสร้างตลาดใหม่ กลายเป็นผู้นำตลาดในฐานะแบรนด์ที่มียอดขายมากที่สุดในประเทศ บางช่วงบางเวลา บางตัวเลข ระบุว่ามีส่วนแบ่งตลาดเบียร์ไทยโดยรวมมากกว่าเบียร์สิงห์กับเบียร์ช้างรวมกัน”

ผมเองเคยให้ภาพจุดเปลี่ยนนั้นไว้เมื่อไม่นานมานี้

มีการคาดการณ์กันว่าตลาดเบียร์ในประเทศไทยปัจจุบันมีมูลค่าราวๆ 2 แสนล้านบาท เบียร์ไทยภายใต้โครงสร้างการต่อสู้ระหว่างเครือข่าย “สิงห์” กับ “ช้าง” ครองส่วนแบ่งมากที่สุดถึง 90% หากเป็นเช่นนั้น เชื่อได้ว่ารายได้ของบุญรอดบริวเวอรี่ อันเนื่องมาจากส่วนใหญ่จากธุรกิจเบียร์ ต้องมากกว่า 1 แสนล้านบาทในแต่ละปี

ขณะที่ภาพชิ้นส่วนเล็กๆ ปรากฏ คนในตระกูลภิรมย์ภักดีบางคนลงทุนสร้างอาณาจักรธุรกิจตนเองกันบ้างตามสมควร

แต่ภาพที่ชัดเจน ภาพซึ่งยังไม่มีใครวาดอย่างจริงจังมาก่อน อาจกล่าวอย่างกว้างๆ บุญรอดบริวเวอรี่กับธุรกิจเบียร์ (ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับคนในตระกูลบางคนซึ่งได้รับผลกระทบบ้างบางระดับ) ไม่อยู่ในวงจรแห่งวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540

 

วงจรซึ่งเปิดฉากด้วยรัฐสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินจำนวนมาก เริ่มด้วยบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ถึง 58 แห่ง ถือเป็นภาวะล่มสลายที่รวดเร็วและรุนแรง ภาวะล่มสลายส่งผลกระทบกว้างและลึกกว่าครั้งใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับตระกูลธุรกิจเก่าทรงอิทธิพลกับธุรกิจการเงิน ว่าไปแล้วตระกูลเหล่านั้นตั้งหลักได้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเช่นเดียวกับตระกูลภิรมย์ภักดี

ในที่สุดก็มากระทบถึงแกนกลางสังคมธุรกิจไทย การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของระบบธนาคารพาณิชย์ ถือว่าส่งผลกระทบเชิงทำลายของรากฐานธุรกิจเดิมอย่างรุนแรง

เริ่มต้นจากกับธนาคารขนาดกลางและเล็ก แต่ผลกระทบครอบคลุมและเกี่ยวข้องเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิมจำนวนมาก

บริษัทไทยดั้งเดิม อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี กิจการเกี่ยวข้องกับสถาบันสำคัญของประเทศตลอดมาก็ต้องเผชิญปัญหาไม่น้อยเช่นกัน

หากนับไปแล้ว ธุรกิจไทย ธุรกิจครอบครัวซึ่งก่อตั้งมานาน จะเข้าใกล้ศตวรรษแล้ว ก็เห็นมีแต่บุญรอดบริวเวอรี่กับตระกูลภิรมย์ภักดีเท่านั้นยังคงเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่อยู่อย่างมั่นคง อยู่กับธุรกิจดั้งเดิมและขยายตัวอย่างช้าๆ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจ ผ่านมาเกือบศตวรรษ เพิ่งจะขยับขยายอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้

 

หากพิจารณาข้อมูลที่เปิดเผย (http://www.boonrawd.co.th) จังหวะก้าวสำคัญเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เป็นจังหวะอย่างกระชับกระชั้นทีเดียว

ปี 2556 ช่วงคาบเกี่ยวสังคมไทยกำลังเผชิญความผันแปรทางการเมืองอย่างมากช่วงหนึ่ง

“เพื่อการขยายตลาดในต่างประเทศ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จับมือกับทีมฟุตบอลระดับโลกเริ่มต้นด้วยทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และต่อมาแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เชลซีฟุตบอลคลับ และเลสเตอร์ซิตี้ นอกจากนี้ บริษัทได้จับมือกับรถแข่งสูตรหนึ่งและทีมรถแข่งระดับโลกอย่างเรดบูลและเฟอร์รารี่ด้วย” ข้อมูลของบุญรอดบริวเวอรี่ ได้เปิดแผนเชิงรุกในตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง

เพียงปีถัดมา (2557) ในช่วงเวลาฉลองครบรอบ 8 ทศวรรษบุญรอดบริวเวอรี่ กับช่วงเวลาสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยการรัฐประหารอีกครั้ง (22 พฤษภาคม 2557) ได้มาซึ่งรัฐบาลทหาร จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อาจสะท้อนถึงความมั่นใจหรือจังหวะเวลาที่ควร

“ก่อตั้งบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็นการขยายธุรกิจเข้าไปสู่ด้านอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ได้เริ่มขยายธุรกิจไปทางด้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ และธุรกิจพลังงานด้วยเช่นกัน” (อ้างแล้ว http://www.boonrawd.co.th)

หากตรวจสอบช่วงเวลาอย่างเจาะจง พบว่า บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อกิจการซึ่งจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า Backdoor Listing และทำการซื้อขายหุ้นตามปกติอีกครั้ง เมื่อ 26 กันยายน 2557

เนื่องจากบุญรอดบริวเวอรี่ไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น และดูเหมือนไม่พยายามจะนำเข้าตลาดหุ้นแต่ไหนแต่ไรมา เรื่องราวและข้อมูลที่จำเป็นจึงไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเท่าที่ควร

แม้ว่าบางส่วนมีการลงทุนในบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นบ้าง ก็ไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงถึงบุญรอดบริเวอรี่โดยตรง เช่น เป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญฝ่ายไทยในบริษัทฝาจีบ (ก่อตั้งปี 2511 เข้าตลาดหุ้นปี 2520) ร่วมทุนกับ Toyo Seikan Group แห่งญี่ปุ่น เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายฝาสำหรับปิดผนึกภาชนะประเภทขวด

เมื่อเร็วๆ นี้ มีอีกกรณี (เข้าตลาดหุ้น 2561) บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาหาร และยา ถือหุ้นฝ่ายบริษัทบางกอกกล๊าส เชื่อกันว่าบุญรอดบริวเวอรี่ถือหุ้นข้างมาก ด้วยผู้บริหารคนสำคัญเป็นรุ่นที่ 4 ของตระกูลภิรมย์ภักดี

เท่าที่พิจารณา มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับธุรกิจเบียร์บ้าง “คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วในประเทศไทยจะเติบโตขึ้นเป็น 84.5 พันล้านบาท และมีการใช้บรรจุภัณฑ์จำนวนทั้งสิ้น 11,826 ล้านหน่วยในปี 2565 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 3.2 และร้อยละ 3.3 เมื่อคิดตามมูลค่าและจำนวนตามลำดับ โดยการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วยังคงเป็นการเติบโตจากการบริโภคเครื่องดื่มไม่ผสมและผสมแอลกอฮอล์เป็นหลัก)” จากรายงานประจำปี 2561 บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน)

ทว่าปรากฏการณ์สิงห์ เอสเตท ทำให้มุมมองเกี่ยวกับกลุ่มบุญรอดบริเวอรี่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท เดินแผนเชิงรุกอย่างมากๆ ถือเป็นหนึ่งในกิจการซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดำเนินแผนการลงทุน ซื้อกิจการเพื่อขยายสินทรัพย์อย่างรวดเร็ว อย่างมากที่สุดกรณีหนึ่ง พิจารณาเฉพาะสินทรัพย์เติบโตกว่า 5 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561) จากระดับ 11,288 ล้านบาทเป็น 58,930 ล้านบาท (อ้างอิงจากข้อมูลนำเสนอ Analyst meeting 1Q2019 22nd May 2019) อันที่จริงรายได้ก็เพิ่มขึ้นมากทีเดียว ทว่าเป็นการเพิ่มจากฐานในระดับที่ต่ำมาก (เพียง 370 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 7,539 ล้านบาทในปี 2561)

สิงห์ เอสเตท เป็นมหากาพย์ใหม่ของบุญรอดบริวเวอรี่อย่างแท้จริง ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรีอย่างเต็มที่ เป็นธุรกิจซึ่งอ่อนไหวกับสถานการณ์อย่างมากด้วย

นับเป็นเครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่รายใหม่อย่างแท้จริง

มีทั้งธุรกิจอาคารสำนักงานพื้นที่กว่า 125,000 ตารางเมตร ที่พักอาศัยมากกว่า 20 โครงการ มูลค่าการลงทุนเกือบๆ 45,000 ล้านบาท กับธุรกิจโรงแรมเกือบๆ 40 แห่ง มีจำนวนห้องมากกว่า 45,000 ห้อง

ยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงรุกข้างต้นมาจากแผนการลงทุนและการเข้าซื้อกิจการ ทั้งจากกิจการดั้งเดิมของคนตระกูลภิรมย์ภักดี ลงทุนใหม่ เข้าถือหุ้นข้างมากในกิจการอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ตลาดหุ้น (ถือเป็น Backdoor Listing อีกกรณีหนึ่ง) ร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลกอย่าง Hongkong Land (ในเครือข่าย Jardine Matheson อย่างที่อรรถาธิบายในเรื่อง “เบียร์ช้างกับสตาร์บัคส์” เมื่อเร็วๆ นี้)

ที่น่าสนใจมากๆ ร่วมทุนกับนักธุรกิจไทยเชื้อสายอินเดีย (ในนาม FICO) ซื้อกิจการโรงแรมในสกอตแลนด์ถึง 29 แห่ง (ปี 2559) ด้วยเงินลงทุน (เฉพาะฝ่ายสิงห์) 156 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือเกือบๆ 5,000 ล้านบาท) ไปจนถึงลงทุนในเครือข่ายโรงแรมระดับโลก (ปี 2561) Outrigger (เครือข่ายโรงแรมกำเนิดบนเกาะฮาวาย ขยายตัวมาหมู่เกาะแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย) ด้วยเงินถึง 236 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 7,000 ล้านบาท)

ภาพของ “สิงห์” เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ