คนมองหนัง : อ่าน “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ”

คนมองหนัง

ในฐานะคนที่อ่านนิยายรางวัลซีไรต์เรื่อง “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ไม่จบเล่ม

ผมกลับพบว่าตัวเองรู้สึกเพลิดเพลินและสนุกสนานกับ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” นิยายเล่มที่สองของ “วีรพร นิติประภา”

จนสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้จบภายในเวลาอันรวดเร็ว (และต้องเข้านอนตอนเช้าถึงสองวันติด)

การทดลองเล่นกับภาษาอย่างมีเอกลักษณ์ของวีรพร ยังคงเป็น “ลักษณะเด่น” ของนิยายเรื่องล่าสุด

ทว่า ปัจจัยที่ช่วยดึงดูดผมให้อยู่กับ “พุทธศักราชอัสดงฯ” ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เห็นจะเป็นรายละเอียดของเรื่องราวซึ่งมีฉากหลังคือบริบททางการเมืองไทย จากยุค 2475 มาถึงสงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็น ตลอดจนการประกอบสร้างชีวประวัติของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ที่มิได้ดำเนินตามแนวทางว่าด้วยชีวิตรุ่งเรือง-ร่วงโรยของ “เจ้าสัว” ดังที่เรามักคุ้นชินกัน

โดยสรุป ผมรู้สึกว่าวีรพรประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี กับเป้าหมายที่เธอต้องการจะให้นิยายเรื่องนี้เป็น

หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า ผู้เขียนสามารถจัดการงานเขียนของตนเองได้อย่างอยู่มือ

อย่างไรก็ตาม ในฐานะหนังสือนิยายเล่มหนึ่ง ผู้อ่านเช่นผมย่อมมีทั้งจุดที่รู้สึกชื่นชอบและเกิดคำถามบางประการต่อ “พุทธศักราชอัสดงฯ”

 

ขอเริ่มจากจุดที่ชอบก่อน

โครงเรื่องอันสลับซับซ้อน มีเหลี่ยมมุมยอกย้อนมากมาย ซึ่งถูกนำเสนอผ่านหลากหลายชีวิตของเหล่าตัวละครนั้น ส่งผลให้นิยายเล่มนี้อ่านสนุกแน่ๆ

แต่จุดที่ผมชอบมากจริงๆ กลับเป็นรายละเอียดปลีกย่อย 2-3 ประเด็น ซึ่งทำหน้าที่ “ประกอบ” เรื่องราวในภาพใหญ่

อาทิ วิธีการสร้างตัวละคร “ทหารเรือ” หนึ่งในตัวเอกของเรื่อง ซึ่งมีความแปลกแหวกแนวอยู่ไม่น้อย

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ภาพแทนกระแสหลักของ “ทหารเรือ” ในผลงานวัฒนธรรมร่วมสมัยยุคหลัง มักจะมีอยู่สองแบบเท่านั้น หนึ่งคือ “ลูกเสด็จเตี่ย” สองคือ “ทหารที่มีแนวโน้มจะอยู่ข้างระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด”

อย่างไรก็ดี นิยายเล่มนี้กลับสร้างภาพลักษณ์ของทหารเรือให้แตกต่างจากภาพเหมารวมสองชนิดข้างต้นได้อย่างน่าสนใจ

ส่วนจะเป็นอย่างไร ต้องไปลองหาอ่านกันเอาเอง (ใบ้ได้นิดหน่อยว่า “ทหารเรือ” ในนิยายของวีรพร อาจชวนให้หลายคนนึกถึงตัวละคร “วาสุเทพ” ใน “บัลลังก์เมฆ” อยู่พอสมควร แต่ชะตากรรมของตัวละครใน “พุทธศักราชอัสดงฯ” นั้น ถูกผลักดันให้ไปสุดทางมากกว่า)

นอกจากนี้ ผมยังชอบตัวละครเล็กๆ ตามรายทาง อย่าง “บ๊วยใบ้” และ “ตาเนียร” ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ปมปัญหา และความลึกลับส่วนบุคคล

การดำรงอยู่ของ “บ๊วยใบ้” อาจชักจูงให้คนอ่านย้อนรำลึกถึงอิทธิพลที่ “นิยายจีนกำลังภายใน” (เคย) มีต่อสังคมไทย ส่วนเรื่องราวของ “ตาเนียร” ก็มีกลิ่นอายคล้ายๆ นิยายคลาสสิคเรื่อง “คำพิพากษา”

โดยเรื่องเล่าว่าด้วย “คนเล็กๆ” เหล่านี้ ต่างมี “จุดร่วม” ที่ช่วยขับเน้นให้เห็นถึงสถานะอันพร่าเลือนกำกวมของ “เรื่องเล่า-ความทรงจำ” ที่อย่างไรเสีย ก็มิใช่ “ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์”

ในมุมมองของผม “พุทธศักราชอัสดงฯ” แทบไม่มี “จุดอ่อน” หรือ “ข้อด้อย” หนักหนาสาหัสใดๆ อันส่งผลต่อคุณภาพโดยรวมของตัวนิยาย

อย่างไรก็ตาม หลังอ่านหนังสือจบ กลับมีคำถามจำนวนไม่น้อยผุดพรายขึ้นในความคิดของผม

คำถามเหล่านั้นมิได้บ่งชี้ถึง “จุดบกพร่อง” ในงานของวีรพร

แต่เพราะตระหนักว่านิยายเล่มนี้ผ่านกระบวนการคิดใคร่ครวญมาเป็นอย่างดี กระทั่งเรื่องราวสามารถดำเนินไปได้อย่างเข้มข้นและ “ลงล็อก” ต่างๆ ตามความปรารถนาของผู้เขียน

ดังนั้น ผมจึงอยากลองตั้งคำถามเล่นๆ เพื่อชี้ชวนให้เห็นภาพรางๆ ว่า หากเรื่องราวใน “พุทธศักราชอัสดงฯ” มีอาการเกเรหลุดหลงออกไปจาก “แบบแผนระบบระเบียบ” ที่วีรพรจัดวางเอาไว้โดยละเอียด

“ทางเลือกอื่นๆ” ของนิยาย อาจมุ่งหน้าไปยังจุดไหนได้บ้าง?

(โดยที่ตัวผมเองก็ไม่ทราบคำตอบแน่ชัด)

 

ผมคิดคำถามเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของ “พุทธศักราชอัสดงฯ” ได้คร่าวๆ ประมาณ 5 ข้อ

หนึ่ง ถ้าบริบททางประวัติศาสตร์ระดับยิบย่อยต่างๆ ที่ปรากฏในแต่ละบทตอนถูกละวางไปเสียบ้าง หรือดำรงอยู่อย่างเบาบางกว่านี้ เรื่องราวภายในนิยายจะพลิกผันไปมากน้อยเพียงไหน? และเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร?

ผมไม่ปฏิเสธถึงความจำเป็นของบริบท/ฉากหลังทางการเมืองระดับมหภาคที่ปกคลุมนิยายเรื่องนี้อยู่ แต่ผมยังรู้สึกว่าเกร็ดข้อมูลทางประวัติศาสตร์การเมืองอีกมากมายหลายประการ ที่ถูกใส่เข้ามาในหนังสือเป็นระยะๆ อาจส่งผลให้ “ความเป็นนิยาย” ของ “พุทธศักราชอัสดงฯ” ค่อยๆ อ่อนจางลง เพราะ “ความเป็นการเมือง” ที่ถูกขับเน้นออกมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

อาจตั้งคำถามได้ว่าถ้านิยายเล่มนี้มี “ความเป็นการเมือง” น้อยลงกว่านี้ มันจะยังสนุกเหมือนเดิมไหม? หรือเรื่องราวของมันจะกลับกลายเปลี่ยนแปลงรูปไปสู่สภาวะเช่นใด?

สอง ถ้าตัวละครหลักทุกคนไม่ได้ดิ่งจมลงสู่โศกนาฏกรรมอย่างถ้วนหน้า (นี่อาจเป็นอัตลักษณ์สำคัญในงานเขียนของวีรพร) “พุทธศักราชอัสดงฯ” จะกลายเป็นนิยายแบบไหน? เรื่องราวของมันจะยังทรงพลังอยู่หรือไม่?

ในทางกลับกัน อาจตั้งคำถามได้ว่าชะตากรรมของ “เรื่องแต่ง” ที่สอดคล้องเลียนล้อไปกับ “เรื่องจริงของประเทศ” มันมืดหม่นและปราศจากความหวังขนาดนั้นเลยหรือ?

สาม ถ้าสายสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร/สถานการณ์ทั้งหมดในนิยาย มีลักษณะแหว่งวิ่นขาดห้วงเสียบ้าง ไม่ใช่สมบูรณ์แบบหมดจด ดังที่ตีพิมพ์ออกมา

คนอ่านซึ่งต้องปะติดปะต่อเรื่องราวเอาเองด้วยความงุนงงสงสัยที่เพิ่มขึ้น จะชอบนิยายเรื่องนี้มากหรือน้อยกว่าเดิม?

สี่ ถ้า “พุทธศักราชอัสดงฯ” ไม่ได้ปิดฉากจบลงอย่างที่ผู้เขียนเลือกให้มันจบ ผลลัพธ์สุดท้ายของนิยายควรจะคลี่คลายไปอย่างไรดี?

เพราะไปๆ มาๆ ผมกลับไม่ค่อยชอบบทสรุปปิดท้ายของนิยายเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากมันไปพ้องกับงานเขียนอื่นๆ อีกหลายเรื่อง แถมยัง “ไม่ใหม่” อีกต่างหาก

ห้า ถ้านิยายหมกมุ่นกับเรื่อง “ไม่เป็นเรื่อง” ให้หนักกว่านี้ โทนเนื้อหาที่เข้มข้น ตึงเครียด จริงจัง จะได้รับผลกระทบแค่ไหน?

จุดหนึ่งในช่วงต้นๆ ของ “พุทธศักราชอัสดงฯ” ที่ผมชอบมาก คือ การกล่าวถึง “เม็ดกระ” ที่ปกคลุมผิวหนังของตัวละครอย่างมากมายดังราวกับ “ทางช้างเผือก”

น่าเสียดายที่ประเด็นเล็กๆ ทำนองนี้ ค่อยๆ ถูกลดทอนความสำคัญลง เมื่อเรื่องราวในนิยายเดินหน้าไปเรื่อยๆ คล้ายๆ กับการลาจากอย่างดื้อๆ ของตัวละคร “บ๊วยใบ้” นั่นแหละ

 

เคียงคู่กับคำถามข้างต้น ผมยังเห็นว่าเรื่องราวของ “พุทธศักราชอัสดงฯ” อาจเดินทางไปได้ไกลมากๆ หากมันสามารถก้าวข้ามจาก “กรอบความคิด” อย่างน้อยสองประการ

กรอบแรก คือ “ความเป็นชาติไทย” เพราะสุดท้ายนิยายก็ทั้งตั้งคำถามและหมกมุ่นอยู่กับชะตากรรมภายในประเทศไทยเป็นหลัก ซึ่งอันที่จริง นี่คงเป็นความตั้งใจสำคัญของผู้เขียน

แต่ในฐานะผู้อ่าน ผมรู้สึกเสียดายที่เนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “จีนแผ่นดินใหญ่” ซึ่งวีรพรสร้างสรรค์เรื่องราวเอาไว้ได้น่าสนใจมากๆ กลับมีอิทธิพลต่อภาพรวมของนิยายไม่เยอะเท่าที่ควร

เช่นเดียวกับเนื้อหาในส่วนที่เชื่อมโยงกระจัดกระจายไปไกลถึงไต้หวันหรือญี่ปุ่น ที่ถูกกล่าวถึงเพียงผิวผ่าน ก่อนจะปิดฉากลงอย่างรวบรัดตัดตอน

กรอบความคิดชนิดที่สอง ซึ่ง “พุทธศักราชอัสดงฯ” เพียงแค่ยั่วล้อแต่ไม่กล้าฝ่าออกไป (นี่คงเป็นความประสงค์ของผู้เขียนเช่นกัน) ก็คือ ข้อห้ามเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องร่วมสายเลือด หรือกระทั่งระหว่างสมาชิกในครอบครัว

ข้อนี้ต้องไปอ่านรายละเอียดกันเอาเอง

 

แม้บทความชิ้นนี้จะพยายามตั้งคำถามหรือตั้งข้อสังเกตถึงเพดานต่างๆ ของ “พุทธศักราชอัสดงฯ”

แต่ในความเป็นจริง คำถามและข้อสังเกตทั้งหลายอาจสะท้อนให้เห็นถึง “ศักยภาพ” ของนิยายและคนเขียนคือวีรพร ที่ส่งมอบพลังมาสู่คนอ่าน จนสามารถครุ่นคิดขยายความเกี่ยวกับตัวผลงานไปได้อย่างไม่รู้จบ

โดยปกติ พื้นที่คอลัมน์นี้จะไม่เขียนถึง “หนังสือ” บ่อยนัก

ทว่า เมื่อได้อ่าน “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” จบลง

ผมพลันรู้สึกว่าตนเองมิอาจไม่เขียนถึงหนังสือนิยายเล่มนี้

 

คลิกสั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่!