(สมมุติ) นิทรรศการที่ใช้สิ่งสมมุติสำรวจสถานะของความเป็นจริง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
นิทรรศการ (Assumption) ( สมมุติ )

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ในตอนนี้ขอเล่าเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะอีกนิทรรศการหนึ่งที่เราได้ไปดูในพื้นที่ละแวกเดียวกับนิทรรศการในตอนที่แล้ว

อันที่จริงพื้นที่ที่ว่าก็เป็นโครงการที่แยกออกมาจากหอศิลป์เดียวกันนั่นแหละนะ

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า (Assumption) หรือ (สมมุติ)

นิทรรศการแสดงเดี่ยวของ ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ ที่ประกอบด้วยผลงานศิลปะที่หยิบเอาสิ่งของที่เราพบเห็นได้รอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงาน

โดยเปลี่ยนสถานะเดิมของสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นสถานภาพหรือความหมายใหม่ ด้วยกระบวนการทางศิลปะ เพื่อตั้งคำถามต่อการแปรเปลี่ยนบริบทของวัตถุหรือข้อความ

และสำรวจความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นรอบตัว

เริ่มด้วยผลงานชุดแรกในนิทรรศการอย่าง Gift Wrapping Paper (2010-2011) ที่ดูเผินๆ เหมือนกับศิลปินหยิบเอากระดาษห่อของขวัญที่เราเห็นกันจนเกร่อในวันปีใหม่หรือเทศกาลต่างๆ มาใส่กรอบแขวนบนผนังห้องแสดงงาน ทำนองเดียวกับงานศิลปะแบบเรดี้เมด (Readymade)

Gift Wrapping Paper(2010 – 2011)

แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ ก็พบว่ามันเป็นภาพที่ศิลปินวาดเลียนแบบจากกระดาษห่อของขวัญอีกทีต่างหาก

“กระดาษห่อของขวัญเป็นวัสดุที่มีหน้าที่ในการห่อบรรจุภัณฑ์ เปลี่ยนของที่อยู่ข้างในให้กลายเป็นสิ่งพิเศษ สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้รับ ในขณะเดียวกันมันก็เป็นวัตถุที่มีราคาถูก เป็นสิ่งพิมพ์ราคาแผ่นละไม่กี่บาท ผมซื้อกระดาษห่อของขวัญเหล่านี้มา แล้วคัดลอกมันขึ้นมาใหม่ให้กลายเป็นภาพวาดในขนาดเท่าจริง ด้วยเทคนิคการวาดภาพแบบเหมือนจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

Gift Wrapping Paper (Flowers on A Blue Background) (2010
)

กระบวนการเลียนแบบวัตถุที่ถูกผลิตในระบบอุตสาหกรรมขึ้นใหม่จากการวาดด้วยมือของศุภพงศ์ เป็นเหมือนการตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างคุณค่าของงานศิลปะอย่างงานจิตรกรรม กับสิ่งพิมพ์ราคาถูก

Gift Wrapping Paper (Mini Hearts) (2011)

นอกจากนี้ เขายังยกระดับสิ่งของด้อยค่าอย่างกระดาษห่อของขวัญ ที่ปกติใช้ห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์หรือสิ่งของ เพื่อสร้างวาระอันพิเศษและความตื่นเต้นน่าค้นหา แต่ตัวมันเองมักกลับถูกฉีกทิ้งไปอย่างไร้ค่า โดยศิลปินนำมันมาสร้างขึ้นใหม่ด้วยมืออย่างประณีต และใส่กรอบแขวนไว้บนผนังหอศิลป์

ให้กลายเป็นงานศิลปะที่ดูเปี่ยมคุณค่าไปได้

หรือในผลงานชุดที่สองอย่าง I Am a Bad Comedian, So I Try To Be a Good Painter (2018) ภาพวาดข้อความภาษาอังกฤษสีดำบนพื้นสีเหลืองสองภาพ แขวนอยู่บนผนังห้องแสดงงานคนละฝั่ง

I Am a Bad Comedian, So I Try To Be a Good Painter (2018
)

ข้อความในภาพบนผนังด้านซ้าย มีใจความว่า THIS IS A PAINTING ส่วนข้อความในภาพบนผนังด้านขวา มีใจความว่า THIS IS A SIGN ราวกับกำลังประกาศกับผู้ชมว่า ตัวมันเองคือ “งานจิตรกรรม” และ “ป้ายสัญลักษณ์” อยู่ทนโท่ แต่ในขณะเดียวกัน ข้างใต้ข้อความในทั้งสองภาพก็มีรูปลูกศรสีดำหันชี้ไปยังอีกข้อความหนึ่ง

I Am a Bad Comedian, So I Try To Be a Good Painter (2018)

จนทำให้ผู้ชมอย่างเราอดสับสนไม่ได้ว่า ตกลงแล้วภาพไหนเป็นงานจิตรกรรม ภาพไหนเป็นป้ายสัญลักษณ์กันแน่?

“งานชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่จัดแสดงขึ้นในช่วงที่ผมเรียนที่ The Glasgow School of Art ที่สกอตแลนด์ จริงๆ ตอนที่แสดงครั้งแรก สองภาพนี้ถูกแขวนเคียงกัน ลูกศรบนภาพ THIS IS A PAINTING และ THIS IS A SIGN ชี้กลับไปกลับมาเป็นเหมือนการสร้างบทสนทนาระหว่างสองภาพ อาจจะเป็นการตั้งคำถามว่าภาพไหนคือจิตรกรรม? ภาพไหนคือป้ายสัญลักษณ์? หรือลูกศรกำลังชี้ออกไปที่อื่นนอกภาพหรือเปล่า? ผลงานชุดนี้ยังเคยถูกแสดงในพื้นที่สาธารณะ โดยถูกนำไปติดตรงพื้นที่ที่มีป้ายจริงๆ ด้วย, ที่ผมเลือกใช้สีเหลืองและดำในภาพวาดชุดนี้ เพราะผมคิดถึงป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ อย่างป้ายคำเตือนในโรงงาน หรือป้ายจราจรตามท้องถนน”

I Am a Bad Comedian, So I Try To Be a Good Painter (2018)

“ด้วยความที่เคยถูกแสดงมาก่อนหน้านี้แล้ว ในงานแสดงครั้งนี้ผมเลยคิดว่า ถ้าเราเชื่อมภาพทั้งสองเข้ากับพื้นที่แสดงงาน ด้วยการแขวนมันบนผนังคนละด้าน ให้ผู้ชมได้มองกลับไปกลับมา และเพื่อให้ลูกศรชี้ออกไปยังพื้นที่ด้วย ก็อาจจะสร้างความเชื่อมโยงใหม่ๆ ในระหว่างการดูงานได้”

ผลงานชุดนี้ของศุภพงศ์ นอกจากจะเป็นการเล่นสนุกและตั้งคำถามกับความเป็นภาพแทนความเป็นจริง (Representation) ของงานจิตรกรรม และการสื่อความหมายด้วยภาษาและสัญลักษณ์ของป้ายแล้ว

การเปิดพื้นที่ว่างระหว่างสองภาพ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมเล่นสนุกกับตัวงาน ด้วยการยืนให้ลูกศรชี้ให้ตัวเองกลายเป็น “จิตรกรรม” และ “สัญลักษณ์” ได้ด้วยเช่นกัน

ตามมาด้วยผลงานชุดสุดท้ายที่มีชื่อเหมือนนิทรรศการครั้งนี้ อย่าง Assumption (สมมุติ) (2019)

Assumption (สมมุติ) (2019)

เฟรมผ้าใบทาสีสันสดใสจำนวน 12 ภาพ เขียนด้วยตัวอักษรสีสันละมุนตา ภาพละคำ

นำไปประกอบและติดตั้งเข้าด้วยกันจนกลายเป็นภาพยาวสองแถว จำนวน 1 ภาพ

ถ้อยคำบนภาพถูกรวมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นประโยคข้อความ 2 ประโยค แบ่งเป็นแถวบนและแถวล่าง อ่านได้ใจความว่า IF THIS IS A BIRD (ถ้าสิ่งนี้คือนก) และ IF THIS IS A BIRDCAGE (ถ้าสิ่งนี้คือกรงนก)

แต่ละข้อความมีเครื่องหมายลูกศรชี้ไปยังอีกข้อความหนึ่ง เมื่อดูเผินๆ ข้อความทั้งสองแถวเหมือนเป็นการเขียนอธิบายตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน เครื่องหมายลูกศรที่อยู่ท้ายข้อความแต่ละแถวก็ชี้ไปยังอีกข้อความ เหมือนเป็นการอธิบายข้อความตรงกันข้าม

ทำให้ทิศทางของการอ่านข้อความและเครื่องหมายทั้งสองแถว อาจสร้างวงจรในการดูและการอ่านที่วนเวียนไปมา

และสร้างความย้อนแย้ง สับสน วกวน ของความหมายของข้อความทั้งสองนี้ด้วย

“งานชุดนี้ผมใช้คำว่า Bird (นก) กับ Bird Cage (กรงนก) ซึ่งอันที่จริงในภาพไม่มีนกหรือกรงนกปรากกฏให้เห็น แต่ตัวหนังสือคำว่า “นก” และ “กรงนก” ในภาพ อาจจะสามารถทำให้ผู้ชมจินตนาการภาพของนกและกรงนกขึ้นมาก็เป็นได้”

“แต่ในขณะเดียวกัน ข้างหน้าทั้งสองข้อความมีคำว่า IF (ถ้า) ซึ่งทำให้ข้อความทั้งสองประโยคอาจกลายเป็นเรื่องสมมุติ ทำให้ผู้ชมอาจจะไม่แน่ใจและเกิดความสงสัยว่าภาพนี้หมายความว่าอะไรกันแน่?”

“ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าเรามอง นกและกรงนกในฐานะสัญลักษณ์ที่อาจจะสะท้อนถึงความหมายบางอย่างที่ตรงข้ามกัน เช่น “อิสรภาพ” กับ “พันธนาการ” หรือ “สิ่งมีชีวิต” กับ “สิ่งไม่มีชีวิต” หรืออาจถูกตีความเป็นสิ่งอื่นๆ ตามประสบการณ์ของผู้ชมแต่ละคน”

“ส่วนสีของผลงานชุดนี้ ผมเลือกใช้สีที่ดูเหมือนกับสีของผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมากๆ ในระบบอุตสาหกรรม อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือสิ่งพิมพ์สำหรับเด็ก ซึ่งภาพวาดทั้ง 12 ภาพนี้ก็ดูคล้ายกับบัตรคำศัพท์ หรือบัตรเกมส์ที่ใช้สอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆ ด้วยเหมือนกัน, อีกอย่าง การใช้สีสันเช่นนี้อาจทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาพ กับตัวอักษร หรือการดู และ การอ่าน, ส่วนการติดตั้งผลงานนี้ตรงมุมห้อง ทำให้มันมีลักษณะคล้ายตัวแอล (L) และมีมุมมองของความลึกมากกว่าระนาบสองมิติแบบงานจิตรกรรมทั่วๆ ไป”

“ท้ายที่สุด เมื่อเราแยกงานทั้ง 12 ชิ้นนี้ออกจากกันเมื่อไหร่ ประโยคทั้งสองก็จะหายไปในทันที ทำให้ความหมายของข้อความทั้งสองประโยคในผลงานศิลปะชุดนี้ อาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เป็นเพียงสมมุติฐานที่ผมสร้างขึ้นมาเท่านั้น”

“ที่ผมตั้งชื่องานนิทรรศการครั้งนี้ให้อยู่ในวงเล็บ เพราะผมเคยอ่านในพจนานุกรมว่า วงเล็บคือการขยายความข้อความข้างหน้า ที่เราจะอ่านหรือไม่อ่านก็ได้ โดยไม่ทำให้ความหมายของข้อความที่ขยายเสียไป ผมอยากให้งานในนิทรรศการนี้เป็นแค่การอธิบายขยายความถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องสมมุติ สมมุติว่ามันเป็นจิตรกรรม สมมุติว่ามันเป็นนก เป็นกรงนก หรือเป็นอะไรก็ได้ ด้วยการกำหนดของภาษา ด้วยการใช้สื่อสัญลักษณ์ ที่เปลี่ยนสิ่งหนึ่งให้เป็นอีกสิ่งหนึ่งไปได้”

ถึงแม้เนื้อหาของงานชุดนี้อาจเป็นอะไรที่ฟังดูซีเรียสจริงจัง และลุ่มลึกชวนให้ต้องตีความ

แต่การเลือกใช้สีสันสดใส ละมุนละไม ก็ทำให้งานที่เห็นดูเปี่ยมเสน่ห์น่ารัก และดูได้เพลินๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรมากได้เหมือนกัน เหมือนกับที่ใครบางคนบอกว่า “ทุกอย่างดูซอฟต์ลงเมื่อเป็นสีพาสเทล” นั่นแหละ

แต่ถ้าดูแล้วคิดต่อได้ด้วย ก็ถือเป็นประโยชน์แก่สติปัญญาของผู้ชมอย่างเราๆ ไปได้ด้วยเช่นกัน

นิทรรศการ (Assumption) (สมมุติ) จัดแสดงที่ Gallery VER Project Room ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม พ.ศ.2562, เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น.

สอบถามข้อมูลได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือโทร. 0-2103-4067

ขอบคุณภาพจาก Gallery VER Project Room