มนัส สัตยารักษ์ | “วัวหายแล้วล้อมคอก?” – อุดมสุข… ตำรวจขวัญเสีย ชาวบ้านเสียขวัญ

ดูคลิปข่าววินจักรยานยนต์ซอยอุดมสุข (ท้องที่ สน.บางนา) ปิดถนนยกพวกตะลุมบอนกันเอง ตายไป 2 คน บาดเจ็บต่างหาก แล้วสงสารประเทศไทย สงสารประชาชนผู้รับเคราะห์ และสงสารตำรวจ

สงสารประเทศไทยประเทศที่มีนักโทษล้นคุก ติดอันดับ 6 โลก และติดอันดับ 3 เอเชีย กลายเป็นเมืองอาชญากรรม ทั้งๆ ที่เป็นประเทศเล็กมีประชากรเพียง 70 ล้านคน

สงสารประชาชนผู้ประกอบอาชีพขี่จักรยานยนต์รับจ้างที่ต้องอยู่ในฐานะเป็น “ผู้ร้าย” แย่งกันทำมาหากินและอยู่ใต้อิทธิพลของมาเฟีย

สงสารประชาชนชาวบ้านที่ต้องใช้บริการจักรยานยนต์รับจ้าง ต้องเสี่ยงอยู่กลางการทะเลาะวิวาท

และสงสารผู้หญิงท้อง 4 เดือนที่สามีถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ

สุดท้าย สงสารตำรวจ 2 ถึง 4 คนแรกในที่เกิดเหตุ สงสารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ดูเหมือนจะ “บ่มิไก๊” ไปตามความต้องการของนักปฏิรูป 2557

ย้อนกลับไปอ่านจดหมายเหตุ “64 โรงพักของกรมพระนครบาล” สมัยรัชกาลที่ 5

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหารฯ ซึ่งว่าราชการกรมพระนครบาล เราพบว่าการทำงานราชการในสมัยนั้นมีโครงสร้าง รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดองค์กรและการกำหนดหน้าที่แต่ละโรงพักไว้อย่างชัดเจน

ยกตัวอย่าง เช่น “โรงพักที่ 16 ตั้งที่สามแยกถนนเจริญกรุง วาง “คนตระเวน” ยามละ 2 คน 3 ผลัดเป็น 6 คน ตามบริเวณต่างๆ 15 จุด…” รวมทั้งโรงพักมีนาย 5 คน คนตระเวน 93 คน และนั่งยาม 3 คน เป็น 96 คน รวมทั้งสิ้น 101 คน!

ทั้งๆ ที่ในยุคนั้น (พ.ศ.2533) ยังไม่มีคนที่พร้อมจะตะลุมบอนกัน (ด้วยมือเปล่า) ต่างกับในปี พ.ศ.นี้ ที่มีวินจักรยานยนต์ 2 วิน ที่พร้อมจะยกพวกตะลุมบอนกันด้วยอาวุธปืน มีดหรือไม้กลางถนน และไม่ใช่พร้อมเฉพาะในซอยอุดมสุขเท่านั้น แต่พร้อมกันเกือบทุกซอยในประเทศไทย

ภาพรุนแรงประเภทตบตี ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงฆ่ากัน คุ้นตาคนไทยมาค่อนข้างนานแล้ว ฉากตบกันของชนชั้นเซเลบในละครทีวี ด้วยสาเหตุที่แสนงี่เง่า บางทีก็ตบเพื่อจะได้มีฉากจูบตามมา แล้วก็มีวลี “ตบจูบ” เป็นวัฒนธรรมบันเทิงของคนไทยไป

เนื่องจากฉากตบขายได้มาตั้งแต่ครั้งภาพยนตร์เรื่อง “บ้านทรายทอง” หรือ “พจมาน สว่างวงศ์” ดังนั้น ในนาทีโฆษณาทางทีวี เจ้าของละครจึงเลือกหยิบเอาเฉพาะฉากตบมาทำโฆษณา

เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้ดูโฆษณาที่ว่า ในเวลาเพียงนาทีเดียวมีฉากผู้หญิงตบผู้หญิง 4 ครั้ง ผู้ชายตบตอบโต้ที่ถูกผู้หญิงตบ 1 ครั้ง แน่นอนโฆษณาเพียง 1 นาทีย่อมไม่มีบริบท ฉากตบจึงกลายเป็น “วัฒนธรรม” ไปโดยไม่ตั้งใจ เยาวชนเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย

สถานการณ์คนต่างขั้วทำร้ายกันกลางถนน เหตุการณ์คนลอบทำร้ายนักเคลื่อนไหวในมุมที่กล้องวงจรปิดไม่มีหรือไม่ทำงาน ก็เป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดา

ตลอด 5 ปีมีภาพนายกรัฐมนตรีอารมณ์เสีย เล่นผิดบท ตะคอกใส่ประชาชนที่มาร้องเรียน เขวี้ยงของใส่ผู้สื่อข่าวและคนที่มาฟังการแถลงข่าว ภาพนายกรัฐมนตรีตวาดและขับไล่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบที่ทำเนียบรัฐบาล… ฯลฯ

ล้วนเป็นภาพที่ชนชั้นนำเป็นผู้กระทำ แล้วทำไมเยาวชนและประชาชนในระดับล่างจะทำบ้างไม่ได้

เป็นที่น่าสังเกตว่าสื่อโซเชียลไม่ถล่มโจมตีตำรวจในกรณีฆ่ากันตายในซอยอุดมสุข ถ้าจะให้วิเคราะห์กันก็น่าจะได้คำตอบ 2 ประการ

ประการแรก พวกเขาคงเห็นใจตำรวจเมื่อได้เห็นช็อตแรกมีตำรวจรถวิทยุแค่ 2 นายอยู่ในที่เกิดเหตุ ขณะที่ 2 กลุ่มของจักรยานยนต์รับจ้างกว่า 30 คนกำลังไล่ทำร้ายกันอย่างบ้าคลั่งโดยมีอาวุธทั้งมีด ไม้ และปืน

ตำรวจนายหนึ่งถลาออกไปกลางถนน โบกมือห้ามโดยไม่มีผู้ใดให้ความสนใจ ส่วนอีกนายหนึ่งเก้กังอยู่ครู่เดียวก็ถอยกลับไปใช้รถเป็นที่กำบัง

สักครู่มีตำรวจสายตรวจจักรยานยนต์ 2 นายพรวดพราดเข้ามายังที่เกิดเหตุ ตำรวจรถวิทยุ 2 นายผวาออกไปสมทบ แต่แล้วทั้ง 4 คนก็ค่อยๆ ถอยออกมาเมื่อไม่มีใครสนใจจะปฏิบัติตามคำสั่ง

ส่วนอีกข้อหนึ่งนั้นน่าจะวิเคราะห์ได้ว่า ภัยจากความบ้าคลั่งในขณะที่กฎหมายและตำรวจ “บ่มิไก๊” นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเอามาถากถางกันแล้ว…มันเป็นภัยใกล้ตัวต่างหาก!!

มาตรการต่างๆ ของ ผบ.ตร. ผบช.น. ตลอดจนผู้ว่าราชการ กทม. ล้วนเป็นงานในลักษณะทบทวนและเร่งรัด เข้มงวดมาตรการเก่า ไม่มีอะไรใหม่

รองโฆษก ตร.แถลงตามสูตรว่า ผบ.ตร.สั่งเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ทั้งการตรวจค้น จับกุมอาวุธสงคราม ยาเสพติด บุคคลตามหมายจับและสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

จัดระเบียบ อบรม ให้ความรู้ข้อกฎหมาย การบริการขนส่งสาธารณะ การแก้ปัญหาวินเถื่อน การวิ่งทับเส้นทาง รวมไปถึงผู้มีอิทธิพลที่เข้ามาแทรกแซง ตลอดจนการเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน กระทำความผิด โดยกำหนดให้ผู้ขับขี่รถมีเสื้อวิน บัตรประจำตัว และรถรับจ้างทุกคันจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกัน ห้ามเรียกค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด และห้ามใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มารับจ้างโดยเด็ดขาด

พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น. ประชุมนายตำรวจนครบาล 150 นายแล้วแถลงตามสูตรทำนองเดียวกับรองโฆษก ตร. เพียงแต่ไม่มีประโยคว่า “สอดรับนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยได้สั่งการไปยังกองบัญชาการทุกภาคส่วน” และไม่มีคำว่า “การบูรณาการร่วมกันของกรมการขนส่ง ทหาร ฝ่ายปกครอง” เท่านั้นแหละ

ซึ่งสรุปแล้วก็คือ “มาตรการวัวหายแล้วล้อมคอก” นั่นเอง

การจัดตั้งองค์กร กำหนดหน้าที่ของโรงพักและบุคลากร “คนตระเวน” ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านคงคำนึงถึงทัศนคติ “ตำรวจลดโอกาสก่ออาชญากรรม”

จาก พ.ศ.2433 ถึง พ.ศ.2557 เป็นเวลา 124 ปี คนพวกหนึ่งคิดปฏิรูปองค์กรตำรวจโดยมองข้ามทัศนคติดังกล่าว

นึกถึงบทความใน “กาแฟโบราณ” เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2559 เขียนทวงคืน “โรงพักสามแยก” ซึ่งถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ 2500 ยึดไปทำธนาคารที่ตัวเองเป็นประธานกรรมการ โดยเราหวังว่าจะได้เพิ่มกำลังตำรวจเพื่อกระจายไปให้ทั่วเมือง เป็นกิจกรรมที่น่าลงทุน เงินเดือน ส.ว. 1 คน เอาไปจ้าง “คนตระเวน” ได้ถึง 10 คน

ลดการฆ่ากันกลางถนน ลดจำนวนนักโทษที่ล้นคุก และลดอันดับ “เมืองแห่งอาชญากรรม”