นิ้วกลม : ภาษาของโรงพยาบาล

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

เมื่อรู้ว่าไม่ได้กลับบ้านในเร็ววันนี้แน่ๆ เธอจึงเอ่ยปากขอตุ๊กตาตัวโปรด “อยากเอามาลูบเล่น” เธอว่า

ผมพยักหน้ารับ “เอาหมอนข้างมาด้วย อยากกอด” ผมพยักหน้ารับ “เอาหมอนมาด้วย” ผมหยุดพยักหน้า

ถามกลับว่าจะเอามาทำไม หมอนขอโรงพยาบาลเอาก็ได้ เธอให้เหตุผลว่า “ชอบปลอกหมอนที่บ้าน เพราะมันมีลูกไม้เอาไว้ลูบเล่น”

ตอนหอบหิ้วหมอน หมอนข้าง ตุ๊กตา ขึ้นลิฟต์แล้วเดินมาในโรงพยาบาล ผู้คนมองกันว่าไอ้นี่ขโมยของหรือกำลังย้ายบ้านกันแน่

แต่นี่แหละครับ อำนาจของผู้ป่วยที่มีต่อญาติมิตร ในภาวะที่อ่อนแอที่สุด พวกเขาจะมีอำนาจมากที่สุด อยากได้อะไรก็มักจะไม่มีใคร (กล้า) ขัดใจ

ผมเองก็มาพักอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลด้วยหลายคืน จึงถือโอกาส “อ่าน” โรงพยาบาล เพราะสถาปัตยกรรมทุกชนิดมักมีอะไรให้เราอ่านเสมอ

จึงถือหนังสือ The Language of Houses : How Buildings Speak to Us ของ Alison Lurie ติดมือมานอนอ่านด้วย

 

ทันทีที่เข้ามาในโรงพยาบาล ความรู้สึกของเราจะเปลี่ยนไปในทันที

ความสะอาดของโรงพยาบาลเป็นความสะอาดที่มีอำนาจ

ถ้าเราเป็นคนป่วย เราจะรู้สึกสองอย่าง หนึ่งคืออุ่นใจที่ได้มาอยู่ในอ้อมกอดของการรักษา

แต่อีกความรู้สึกหนึ่งคือ เราจะรู้สึกป่วยมากขึ้น เพราะนี่คือสถานที่สำหรับ “ผู้ป่วย” จริงๆ เราป่วยได้เต็มที่

ในหนังสือเล่าว่า ยุคก่อนศตวรรษที่ 19 ไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาล (ก็ชัวร์สิ แต่หมายถึงคนป่วยก็ไม่อยากไป) พวกคนมีฐานะถ้าป่วยก็จะเชิญหมอไปที่บ้าน เพราะโรงพยาบาลเป็นสถานที่ของคนไม่มีตังค์ ก็กลัวจะติดเชื้อโน่นนี่กัน เพราะการจัดการต่างๆ ยังไม่ดี

โรงพยาบาลในยุคก่อนจะเชื่อมโยงกับศาสนา มีอารมณ์ทำบุญทำทานอยู่ในนั้นด้วย พวกนักจาริกแสวงบุญที่เจ็บป่วย คนติดเชื้อทั้งหลาย ก็มาพักรักษากันได้ แต่การรักษายังไม่ดีนัก บางคนก็คิดเสียว่าที่นี่เป็นสถานที่สุดท้ายก่อนเดินทางไปสวรรค์

โรงพยาบาลยุคก่อนศตวรรษที่ 19 จึงเป็นสถานที่พักฟื้น (หรือไม่ฟื้น) ของคนยากจนเสียมากกว่าสถานรักษาพยาบาลของคนทุกชนชั้น

มาถึงศตวรรษที่ 19 เลยมา 20 บรรดาชนชั้นกลางและคนรวยเริ่มเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับโรงพยาบาล พร้อมๆ กับโรงพยาบาลก็เริ่มปรับปรุงให้ทันสมัย สะอาด บริการดี เพราะรู้แล้วว่า เฮ้ย เราเก็บตังค์ทำธุรกิจได้เหมือนกันนี่หว่า

โรงพยาบาลยุคนั้นแบ่งประเภทผู้ป่วยหลายประเภท แบ่งผู้หญิง-ผู้ชาย เด็ก-ผู้ใหญ่ แบ่งตามศาสนาและความเชื่อ แบ่งตามประเภทของโรคหรือเชื้อโรค

สถาปัตยกรรมแบบโรงพยาบาลยุคใหม่ก็เริ่มๆ ก่อสร้างขึ้นในยุคนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเน้นตึกสีขาวแสดงถึงความสะอาดสะอ้าน สุขอนามัยดี จากโรงพักฟื้น เริ่มมีคนเปรียบเปรยว่า โรงพยาบาลเหมือนเป็นอู่ซ่อมมนุษย์ (ล้อกับอู่ซ่อมรถ) ที่เข้ามาซ่อมแซมก่อนที่จะออกไปโลดแล่นต่อบนถนนชีวิต

 

โดยฟังก์ชั่นและการออกแบบ โรงพยาบาลมักมีความเยือกเย็น เป็นระเบียบ ส่วนที่เงียบก็เงียบมาก ส่วนที่พลุกพล่านวุ่นวายก็ดูน่าตกใจ อย่างแผนกฉุกเฉิน เป็นต้น

เมื่อเข้ามาในสถาปัตยกรรมแห่งโรงพยาบาล ความรู้สึกเราจะเปลี่ยนไปทันที เราจะต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนและไวยากรณ์ของสถานที่แห่งนี้

เราจะรู้สึกเป็นคนที่ “ต้องได้รับการดูแล”

และแน่นอน ทันทีที่เปลี่ยนชุดของโรงพยาบาลห่มร่าง ต่อให้ป่วยมากป่วยน้อย คุณก็จะดูป่วยมากทันที

ตัวจะเหี่ยวๆ ห้อยๆ แรงน้อย สีตุ่นๆ ของชุดจะทำให้หน้าหม่นหมองลงโดยอัตโนมัติ ชุดผู้ป่วยจึงถูกแซวบ่อยๆ ว่าต่อให้ไม่ป่วยใส่แล้วก็เหมือนป่วย

แต่ที่ลึกไปกว่านั้น ชุดผู้ป่วยมักมีลักษณะหลวมโพรกเหมือนชุดเด็ก เหมือนไม่ใช่ชุดของเรา นั่นทำให้เรารู้สึกไม่เป็นตัวเอง

ในสถานที่แปลกหน้า กับคนแปลกหน้า ชุดแปลกหน้า เราจะรู้สึกเหมือนกำลังถูกจับขึ้นยานต่างดาวเพื่อทำการทดลอง

มากไปกว่านั้น ชุดผู้ป่วยมักมีลักษณะ “ง่ายต่อการถอด” สร้างความรู้สึกว่า ร่างกายเรากำลังจะถูกตรวจโดยใครก็ไม่รู้ตลอดเวลา

ความกลัว ความกังวล ความอ่อนแอ และความหวัง ทำให้เรากลับไปเป็นเด็กน้อยอีกครั้ง เราไม่กล้าขยับไปไหนมากในโรงพยาบาล ผู้ป่วยมีพื้นที่ประจำคือในห้องพัก ถ้าเดินออกมาจะเริ่มรู้สึกก้ำกึ่ง ไม่แน่ใจว่าฉันควรเดินออกมาไหม บางครั้งก็จะถูกบอกให้กลับเข้าไปในห้อง

ร่างกายของเราในโรงพยาบาลจึงมิใช่ร่างกายที่เราคุ้นเคย เรารู้สึกกับมันต่างออกไป บางห้วงเวลาก็รู้สึกคล้ายไม่ใช่ของเรา เพราะเราทำอะไรกับมันได้ไม่เต็มที่ ขณะที่มีบางคนพร้อมที่จะทำอะไรบางอย่างกับร่างกายนี้

 

ข้อเขียนในหนังสือไปไกลถึงขั้นเปรียบเปรยว่า ชุดผู้ป่วยในโรงพยาบาลมีความคล้ายคลึงกับชุดนักโทษ นั่นคือถอดเอาตัวตนของทุกคนออกไป กลายเป็นคนไร้อัตลักษณ์

แถมห้องในโรงพยาบาลก็คล้ายคลึงคือแบ่งเป็นหน่วยเล็กๆ เข้าไปแล้วก็อยู่ในนั้นจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ออกมา ไม่ง่ายเลยถ้าคุณคิดจะหนี

แถมในบางความรู้สึก คุณอาจรู้สึกว่าคุณไม่ได้เป็นคนปกติ

บางโรคอาจทำให้คุณถูกมองด้วยสายตาที่ดูถูกเหยียดหยาม คุณไม่ได้เป็นสมาชิกเต็มตัวในสังคมนี้

แน่นอนว่านี่เป็นการเปรียบเทียบแบบสุดโต่งพอสมควร แต่ก็มีแง่มุมที่น่าสนใจ และนำมาคิดต่อได้ในการออกแบบโรงพยาบาล รวมถึงออกแบบความรู้สึกของผู้คนในโรงพยาบาล

อ่านแล้วผมคิดว่า สิ่งที่หายไปเมื่อเราเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลก็คืออำนาจในการควบคุมตัวเอง ด้วยสถาปัตยกรรมและการจัดการทำให้เรารู้สึกสูญสิ้นอำนาจในการควบคุม

หมอมักชมคนไข้ที่เชื่อฟังว่าน่ารัก เป็นคนไข้ที่ดี

และเอ็ดคนไข้ที่ไม่เชื่อฟัง ถามเยอะ หรือเถียงว่าเป็นคนไข้ที่ยาก หรือเยอะ

 

ด้วยสถาปัตยกรรมที่ห่อหุ้มร่างกาย รวมถึงเสื้อผ้าซึ่งห่อหุ้มผิวหนัง ผมจึงค่อยๆ เข้าใจว่า เหตุใดคนใกล้ตัวของผมจึงเรียกร้องตุ๊กตาตัวโปรด หมอนข้าง และหมอนที่เธอนอนอยู่ทุกคืน

เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถหยิบยื่นความรู้สึก “พื้นที่ของฉัน” ให้กับเธอได้

เธอใช้สิ่งของนุ่มๆ อันคุ้นเคยเหล่านี้สร้าง “สถาปัตยกรรม” ที่เป็นเหมือน “รังเล็กๆ” ขึ้นมาในสถานที่แปลกหน้าอย่างโรงพยาบาล เธอรู้สึกมีอำนาจในรังนั้น เธอค้นพบตัวตนและอัตลักษณ์ของเธออีกครั้ง ห้องนี้ย่อมแตกต่างไปจากห้องผู้ป่วยอื่นๆ ที่หน้าตาเหมือนกันไปหมด

ความรู้สึกเช่นนี้มีผลต่อจิตใจ เธอรู้สึกสบายใจ เป็นตัวของตัวเอง และเข้มแข็งขึ้น

กระทั่งเมื่อคุณหมอหรือพยาบาลเดินเข้ามาในห้อง เมื่อเห็นหมอนหน้าตาแปลกเต็มเตียง และตุ๊กตาหมีผิวเนียนตัวนั้น หมอและพยาบาลยังรู้สึกด้วยซ้ำว่าเหมือนเดินเข้ามาในพื้นที่ของผู้ป่วย ในห้องนอนของผู้ป่วย มิใช่เดินเข้ามาในห้องทดลองหรือห้องเรียนที่มีร่างกายหนึ่งให้รักษาหรือศึกษา

เราสร้างสถาปัตยกรรมเล็กๆ ของเราเสมอ ไม่ว่าเราไปอยู่ที่ไหน

มนุษย์ต้องการ “รัง”

เรารู้สึกปลอดภัยในสถานที่นั้น

ผมรู้สึกเหมือนพ่อนกที่บินไปคาบกิ่งไม้เล็กๆ มาประกอบกันขึ้นเป็นรัง

สร้างสถานที่ปลอดภัยในสถานที่แปลกหน้า