ต่างประเทศ : “ย่านกังนัม” ถิ่นเซเลบสู่ความอื้อฉาวสะท้อนสังคมผู้ชายเป็นใหญ่

เขตกังนัม เป็น 1 ใน 25 เขตของกรุงโซลที่มีชื่อว่าเป็นย่านที่มีมาตรฐานความเป็นอยู่ในระดับสูง ผู้คนส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้สูงที่มีกำลังจ่ายแลกกับราคาที่พักอาศัยราคาแพงลิ่ว จนถูกนำไปเปรียบเทียบกับย่าน “เบเวอร์ลี่ฮิลส์” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

เขตที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของกรุงโซลแห่งนี้ ในเวลากลางวันเป็นแหล่งศูนย์รวมร้านค้ารวมไปถึงเป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างชาติ

ขณะที่ชีวิตหลังพระอาทิตย์ตกดินเป็นแหล่งแสงสี สัญลักษณ์ของแฟชั่นและความรุ่งเรือง ดึงดูดนักท่องราตรีที่ต้องการสัมผัสชีวิตแบบ “เซเลบ”

ทว่าภาพเมืองที่ดูสงบสุขสวยงามแห่งนี้กลับมีเบื้องหลังอันดำมืดซ่อนอยู่

 

เหรียญอีกด้านของเขตกังนัม ถูกตีแผ่ออกหลังจากหนุ่ม “ซึงรี” หรือชื่อจริงว่า “อี ซึง ฮยุน” สมาชิกวง “บิ๊กแบง” วงเคป๊อปชื่อดัง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเพื่อสอบสวนคดี จัดเตรียมโสเภณีนับสิบคนสำหรับบริการทางเพศให้นักธุรกิจและลูกค้าเศรษฐีของไนต์คลับ “เบิร์นนิงซัน” ซึ่งนักร้องดังมีหุ้นส่วนอยู่

นอกจากซึงรีซึ่งประกาศอำลาวงการเพื่อต่อสู้คดี ยังมีดาราดัง นักร้อง-นักแต่งเพลงอีกหลายรายที่มีส่วนพัวพันกับกรณีดังกล่าวหลังมีการเปิดโปงแชตลับที่ยอมรับว่าถ่ายคลิปขณะมีเพศสัมพันธ์กับเหยื่อ

ลุกลามไปถึง “ยาง ฮยอน ซอก” ประธานค่ายวายจี ต้นสังกัดของวงบิ๊กแบง ค่ายผู้ผลิตเพลง “กังนัมสไตล์” อันเลื่องลือ ก็ออกมาประกาศลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน

ลอร่า บิกเกอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำกรุงโซล ฉายภาพย่านกังนัมอันดำมืดให้เห็นชัดขึ้นอีกครั้งในรายงานฉบับยาว เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา

แสดงให้เห็นวงจรอุตสาหกรรมเน่าเฟะที่สะท้อนสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ในเกาหลีใต้ได้อย่างชัดเจน

 

บิกเกอร์เก็บข้อมูลจากทั้งลูกค้านักท่องเที่ยวในพื้นที่ หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ รวมถึงนักเคลื่อนไหวที่พยายามตัดวงจรอุบาทว์ดังกล่าว

พบข้อมูลว่า ย่านกังนัมซึ่งเวลากลางคืนสามารถดูดเงินนักท่องราตรีบางรายได้คืนละถึง 17,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 500,000 บาท นั้นเป็นย่านสถานบันเทิงซึ่งมีเบื้องหลังเป็นการค้าบริการทางเพศอยู่อย่างกว้างขวาง

ฉากหน้าของผับที่เปิดเพลง ขายเหล้าและเต้นกันสนุกสุดเหวี่ยง เบื้องหลังก็เป็นบริการทางเพศสำหรับลูกค้าระดับ “วีไอพี” หรือ “วีวีไอพี” ที่พร้อมจ่ายเงินก้อนโตแลกกับประสบการณ์ที่เป็นอาชญากรรมคุกคามทางเพศอย่างรุนแรง

ในสถานบันเทิงจะมีพนักงานที่เรียกกันว่า “เอ็มดี” ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการ “เหยื่อ” ที่เป็นหญิงสาวหน้าตาดีมาตอบสนองความต้องการทางเพศ

เหยื่อที่เป็นผู้หญิงมีทั้งที่ถูกแม่เล้าพ่อเล้าหลอกมาทำงานในสถานบันเทิง รวมไปถึงลูกค้าสาวที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ จะถูกล็อกเป้าหมายจาก “เอ็มดี” เชิญชวนให้ร่วมวงดื่มกับลูกค้าของตน และเครื่องดื่มดังกล่าวก็เป็นเครื่องดื่มที่มียากล่อมประสาทที่ทำให้หมดสติผสมอยู่

เหยื่อบางรายถูกล่วงละเมิดทางเพศที่โรงแรมใกล้เคียงโดยที่ไม่สามารถจำอะไรได้เมื่อตื่นมาในตอนเช้า ก่อนจะมาพบคลิปของตัวเองถูกล่วงละเมิดทางเพศในภายหลัง

ขณะที่บางรายตื่นขึ้นมาขณะถูกข่มขืน ทว่าเมื่อไปแจ้งความก็ตรวจไม่พบหลักฐานการวางยา

ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาก็ยืนยันว่าเป็นการสมยอม ต้องสู้คดีกันยาวนาน

 

บิกเกอร์ระบุว่า ยาเสพติดที่ถูกนำมาผสมเครื่องดื่มและนำมาใช้ล่อลวงเหยื่อหญิงสาวเชื่อว่าเป็นสารเสพติดที่มีชื่อว่า “จีเอชบี” หรือแกมมา-ไฮดรอซีบิวไทเรต ยากล่อมประสาทที่สลายตัวจากร่างกายภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

เอ็มดีได้ส่วนแบ่งจากสาวๆ ในความดูแล 13-15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สาวๆ เหล่านี้บางรายมีรายได้มากถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 600,000 บาทต่อเดือน รายได้ในระดับที่ดึงดูดหญิงสาวที่หวังรวยทางลัดเข้าสู่วงจรมืดดำนี้ได้ไม่หยุดหย่อน

บิกเกอร์ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากจู วอน กิว บาทหลวงที่ผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรงทางเพศในกังนัม ระบุว่าตนเคยแฝงตัวเป็นคนขับรถเข้าไปสืบเรื่องราวของหญิงสาวที่ถูกล่อลวงเข้าไปสู่วงจรค้ามนุษย์ดังกล่าว และพบความจริงว่า บรรดาพ่อเล้าแม่เล้าในกังนัมจะหลอกล่อด้วยคำสัญญาว่าจะส่งเข้าสู่วงการบันเทิงเมื่อทำงานในสถานบันเทิง 2 หรือ 3 ปี รวมถึงสัญญาว่าจะส่งไปทำศัลยกรรมพลาสติกเพิ่มความสวยให้

จู วอน กิว ระบุว่าเด็กหญิงที่พบว่าถูกลวงเข้าสู่ธุรกิจค้ากามมีอายุน้อยที่สุดเพียง 13 ปีเท่านั้น

 

เรื่องอื้อฉาวทั้งหมดสะท้อนสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ของสังคมเกาหลีใต้ได้ค่อนข้างชัดเจน เมื่อเหล่าผู้ใช้บริการสถานบริการในกังนัมมองตนเองเป็น “นักล่า” ขณะที่ผู้หญิงนั้นเป็นเพียง “เหยื่อ”

ข่าวสะท้อนสังคมลักษณะที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2018 เมื่อชาวเกาหลีใต้นับพันคนเดินขบวนประท้วงกรณีเกิดปรากฏการณ์ซ่อนกล้องแอบถ่ายหญิงสาวก่อนถูกนำไปใช้หาประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างกว้างขวาง

ขณะที่ชิน จี เย สมาชิกพรรคกรีนในเกาหลีใต้ระบุในวันสตรีสากลเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า การค้าประเวณี ล่วงละเมิดทางเพศรุนแรง ลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานนับสิบปีแล้ว และเรื่องอื้อฉาวล่าสุดก็สร้างความโกรธแค้นกับสังคมเมื่อได้เห็นว่าตำรวจกระตือรือร้นที่จะทำหน้าที่ก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนดัง สะท้อนในอีกแง่เช่นกันว่าเสียงของเหยื่อนั้นถูกละเลยมาเป็นเวลายาวนาน

หลังการเปิดโปงกรณี “อื้อฉาวเบิร์นนิงซัน” ผ่านไป 3 เดือน เวลานี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยไปแล้วจำนวน 354 ราย ในจำนวนนี้ 87 รายถูกจับข้อหาจัดหาบริการทางเพศ แอบถ่ายการมีเพศสัมพันธ์และข่มขืน ในจำนวนนี้มีหญิงสาว 20 รายที่ถูกวางยา

จากกรณีดังกล่าวแม้รัฐบาลจะดำเนินการอย่างจริงจัง โดยมีคำสั่งให้สอบสวนคดีดังกล่าวอย่างละเอียดจากประธานาธิบดีมุน แจ อิน นำไปสู่การปลดผู้บัญชาการตำรวจเขตกังนัมออกจากตำแหน่งไปแล้ว

แต่แน่นอนว่ารอยแผลในใจของเหยื่อผู้ถูกกระทำ รวมถึงวัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกในสังคมชาวเกาหลีใต้คงจะไม่จางหายไปในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน