ขยับโรดแม็ป “ประยุทธ์ 2” โผรัฐมนตรี วุ่นอีกรอบ ถึงคิวชาติพัฒนา 3 เสียง ทวง “สัญญาสุภาพบุรุษ”

เลือกตั้ง 24 มีนาคม ผ่านเข้าสู่ช่วงครบ 100 วัน

อังคารที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถามคืบหน้าการจัดตั้ง ครม.ที่ล่าช้ากว่าทุกยุคทุกสมัย ว่าอยู่ระหว่างเรียกบุคคลที่มีรายชื่อมากรอกประวัติตามกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ

แต่ที่สื่อหยิบจับเป็นประเด็นพาดหัว อยู่ตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับ อาจมีบางชื่อไม่เป็นไปตามโผที่แต่ละพรรคเสนอมา

จากการประมวลรายชื่อโผสุดท้าย ไม่ท้ายสุด ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆ พบมีการแบ่งโควต้าเป็นของ คสช.กับพรรคพลังประชารัฐ 19 ตำแหน่ง ของพรรคร่วมรัฐบาลหลัก 4 พรรค ประชาธิปัตย์ 7 ภูมิใจไทย 7 ชาติไทยพัฒนา 2 และรวมพลังประชาชาติไทย 1

ลงตัวตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่การตรวจสอบคุณสมบัติยังไม่เสร็จสิ้น ยังไม่มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รายชื่อมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้

แม้ไม่ระบุวันที่แน่นอนว่าจะนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เมื่อใด แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่ากลางเดือนกรกฎาคมทุกอย่างจะเรียบร้อย ได้รัฐบาลใหม่แน่นอน

พล.อ.ประยุทธ์ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน เป็นการเริ่มต้นจัดทำรายชื่อคณะรัฐมนตรีอย่างจริงจัง หลังเกิดฝุ่นตลบมาก่อนหน้า

โดยมีรายงานข่าวว่ารายชื่อรัฐมนตรีที่ส่งถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องถูกนำมาพิจารณาอีกหลายตลบ

เนื่องจากบางคนไม่ผ่านเกณฑ์ด้านภาพลักษณ์ ต้องเปลี่ยนใส่ชื่อญาติพี่น้องเข้ามารับช่วงแทน บางคนตรวจสอบปูมหลังพบมีคดีความยังเคลียร์ไม่จบ เป็นต้น ล่าสุดข่าวจากวงในระบุมี 3 รายชื่อไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ

ต้องตีกลับพรรคต้นสังกัด ส่งชื่อใหม่มาแทน

แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียหน้า พล.อ.ประยุทธ์จึงออกมาชี้แจงว่า การคัดชื่อบางคนออกเป็นเพราะมีการเสนอชื่อมาเกินโควต้า 40 ตำแหน่ง จึงต้องตัดออกให้เหลือแต่ 36 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ไม่ใช่เรื่องของการขาดคุณสมบัติแต่อย่างใด

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แสดงความมั่นใจว่า คนที่พรรคส่งชื่อเป็นรัฐมนตรีทุกคนมีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน และไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าจะมีการส่งกลับมาแก้ไขเปลี่ยนแปลง

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันพรรคพิจารณากลั่นกรองรัฐมนตรีอย่างดี ถึงกระนั้นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายขึ้นกับดุลพินิจและอำนาจของนายกฯ ในการพิจารณานำขึ้นทูลเกล้าฯ

สำหรับ 2 ว่าที่รัฐมนตรีภูมิใจไทย ตกเป็นข่าวอาจมีปัญหาคุณสมบัติคือ นายวีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล กับ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ น้องสาวของนายชาดา ไทยเศรษฐ์

นอกจากตรวจสอบคุณสมบัติตามขั้นตอนพื้นฐาน ภูมิใจไทยใช้วิธีให้ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีทุกคน รับรองคุณสมบัติของตัวเองและเรื่องคดีความต่างๆ เพราะหากมีอะไรนอกเหนือจากนี้จนทำให้ชื่อหลุดไป จะได้ไม่ต้องมาโทษพรรค

ขณะที่โผเดิมยังไม่สะเด็ดน้ำ ก็เกิดปัญหาขึ้นใหม่

เมื่อกลุ่มพรรคเล็กอย่างชาติพัฒนาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พลังท้องถิ่นไทของนายชัชวาลล์ คงอุดม และรักษ์ผืนป่าประเทศไทยของนายดำรงค์ พิเดช ไม่ได้รับจัดสรรโควต้ารัฐมนตรี

สาเหตุของปัญหาคือ พรรคเหล่านี้ถึงมีแค่ 2-3 เสียงแต่ก็ประกาศจุดยืนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม ว่าพร้อมจับมือร่วมกับพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ

ผิดกับประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยที่ตัดสินใจมาเข้าร่วมภายหลัง แต่กลับหยิบชิ้นปลามัน ได้เก้าอี้กระทรวงเกรดเอไปครอง

โดยเฉพาะชาติพัฒนา ช่วงจัดโผรอบแรกมีข่าวนายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคจะได้เป็น รมช.อุตสาหกรรม โดยนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา ผอ.พรรคนำชื่อพร้อมประวัตินายเทวัญมามอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน

ช่วงประสาน 5 พรรคขนาดเล็กร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน แกนนำพลังประชารัฐพูดคุยกับนายสุวัจน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนาว่า

ขอให้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลก่อน ส่วนตำแหน่งทางการเมืองจะดูแลให้

 

กระทั่งสถานการณ์เข้าสู่โค้งสุดท้าย

ปรากฏว่าทั้งชื่อนายเทวัญ ลิปตพัลลภ และโควต้ารัฐบาลของพรรคชาติพัฒนาหลุดหายไป

เป็นเหตุให้นายดล เหตระกูล เลขาฯ พรรคชาติพัฒนา ออกมาให้สัมภาษณ์ทักท้วงว่า งานที่พรรคจะได้รับมอบหมายในการเข้าร่วมรัฐบาลอยู่ระหว่างรอคําตอบจากพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นข้อตกลงในการเชิญเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่จะจัดสรรรัฐมนตรี 1 ตําแหน่ง

พรรคชาติพัฒนาทํางานการเมืองด้วยความเป็น “สุภาพบุรุษ” รักษาคำพูดและข้อตกลงที่มีต่อกันกับพลังประชารัฐทุกเรื่อง

ให้ความร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลทุกขั้นตอน นับแต่โหวตเลือกประธานสภา โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แถลงร่วมจัดตั้งรัฐบาล เข้าร่วมประชุมวิปรัฐบาลและการลงมติในสภา

“ผมไม่ทราบที่มาข่าวที่ว่าตําแหน่งรัฐมนตรีเต็มแล้ว ไม่สามารถจัดสรรให้ได้ แต่ในข้อเท็จจริงเราไม่ได้เป็นพรรคมาทีหลัง หรือมาเติมเสถียรภาพรัฐบาลหลังจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่เราเป็นพรรคพันธมิตรที่มีความจริงใจต่อกันในการร่วมก่อตั้งรัฐบาลมาตั้งแต่เริ่มต้น

และได้รับจัดสรรตําแหน่งรัฐมนตรีมาก่อนตามข้อตกลง ด้วยสัญญาสุภาพบุรุษที่มีต่อกัน จึงเชื่อมั่นพลังประชารัฐว่าจะรักษาข้อตกลง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อภาพลักษณ์และการสร้างความเชื่อมั่นให้การเมืองไทย

อีกทั้งเป็นการตอกย้ำความมั่นใจในเสถียรภาพรัฐบาล แม้จะมีเสียงปริ่มน้ำ แต่ด้วยความจริงใจในการรักษาข้อตกลงต่อกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะเป็นนั่งร้านค้ำยันที่แข็งแรงให้รัฐบาลได้

จึงมีความเชื่อมั่นในความเป็นผู้นํา ความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้า โดยพรรคชาติพัฒนาทำหนังสือเสนอชื่อบุคคลของพรรคในตำแหน่งรัฐมนตรีให้นายกฯ พิจารณาเรียบร้อยแล้ว” นายดลกล่าว

ตามด้วย น.ส.เยาวภา บุรพลชัย โฆษกพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ชาติพัฒนาไม่ได้เรียกร้องหรือสร้างเงื่อนไขที่จะกระทบการจัดตั้งรัฐบาล พรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำแก้ไขปัญหาบ้านเมือง

การเมืองถ้ายึดถือการเคารพกฎกติกาข้อตกลงและสปิริตร่วมกันแบบนักกีฬา ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย ไม่มีปัญหา มีข้อตกลงอะไรกันก็อยากให้ช่วยกันรักษาเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีว่าการเมืองไทยเชื่อถือได้

เป็นอีกปัจจัยส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับประเทศ

 

การมีข้อตกลงในระดับผู้ใหญ่ของทั้ง 2 พรรคที่จะมอบรัฐมนตรีให้พรรคชาติพัฒนา 1 ตำแหน่ง นอกจากอยู่บนพื้นฐานความเป็นพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาล ยังเป็นไปตามตัวเลขคณิตศาสตร์ทางการเมืองด้วย

รัฐบาลมี 254 เสียง ครม. 36 คน เฉลี่ยประมาณ 7 เสียงต่อ 1 รัฐมนตรี

ประชาธิปัตย์มี 53 เสียง ภูมิใจไทย 51 เสียง หารด้วย 7 ได้ไปพรรคละ 7 รัฐมนตรี ก็ถูกต้องเหมาะสม พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง หาร 7 ก็จะได้ 1 รัฐมนตรี บวกกับเศษอีก 3 ก็ปัดเศษเพิ่มให้ ทำให้ได้รัฐมนตรีช่วยเพิ่มอีก 1 รวมเป็น 2 ตำแหน่ง

ทำให้เห็นชัดเจนว่า 3 เสียงก็ได้รับปัดเศษให้ได้รัฐมนตรี ถือเป็นมาตรฐานการคำนวณจัดสรร และเป็นน้ำใจไมตรีที่พรรคแกนนำมีต่อพรรคขนาดเล็กที่มาช่วยจัดตั้งรัฐบาลให้ราบรื่นเรียบร้อย

ดังนั้น หากพิจารณาในส่วนพรรคชาติพัฒนาซึ่งมี 3 เสียง ก็ควรต้องได้รับพิจารณาเพื่อความทัดเทียมและเป็นธรรม ประกอบกับข้อตกลงที่มีต่อกัน ยิ่งเชื่อมั่นว่าพรรคชาติพัฒนาจะได้รับ 1 รัฐมนตรี ตามที่ผู้ใหญ่ 2 พรรคพูดคุยกันไว้

การออกมาทวงสัญญาสุภาพบุรุษของนายดลและ น.ส.เยาวภา ส่งผลให้แกนนำพลังประชารัฐรีบติดต่อมายังแกนนำชาติพัฒนาเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจว่า พยายามจะเกลี่ยเก้าอี้ให้ตามข้อตกลงเดิมคือ 1 รมช.

แต่ก็ติดขัดปัญหาที่ว่า ถ้าให้ชาติพัฒนาแล้ว จะตอบคำถามพรรคพลังท้องถิ่นไทซึ่งมี ส.ส. 3 เสียงเช่นกันอย่างไร เพราะพลังประชารัฐตอบปฏิเสธที่จะจัดสรรรัฐมนตรีให้กับพลังท้องถิ่นไทไปแล้ว และพรรคพลังท้องถิ่นไทก็ไม่ได้โวยวายอะไร

แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นผู้ตัดสินใจ

ซึ่งต้องจับตากระแสข่าวพลังประชารัฐจะยอมเฉือนโควต้าตัวเองให้กับชาติพัฒนา ว่าเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน หากเป็นอย่างนั้นก็ต้องคิดต่อด้วยว่า แล้วจะอธิบายกับพรรคพลังท้องถิ่นไทอย่างไร ที่สำคัญภายในพลังประชารัฐเองจะยอมหรือไม่

ด้วยความเจนจัดทางการเมือง พรรคชาติพัฒนาย่อมรู้ดีว่า ส.ส. 3 เสียงของตัวเองนั้นมีค่าขนาดไหนในเมื่อพรรครัฐบาลมีเสียง ส.ส.ในสภาล่าง เกินฝ่ายค้านแค่ 8 เสียง

จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ต้องรอดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงฝีมือจัดสรรปันส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีให้ลงตัว เป็นที่พอใจของพรรคร่วมได้ด้วยวิธีไหน อย่างไร

เพื่อทันทีที่สามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้เสร็จเรียบร้อย