เกษียร เตชะพีระ | อันเนื่องมาแต่ชาติ…ยอดรัก (2)

เกษียร เตชะพีระ

3)ปัจเจกบุคคลแห่งศาสนาพลเมือง

ในหนังสือ “สัญญาประชาคม : หลักแห่งสิทธิทางการเมือง” (Du contraet social : Principes du droit politique, ค.ศ.1762) ของ ฌอง-ฌากส์ รุสโซ (ค.ศ.1712-1778) นักปรัชญาประชาธิปไตยชาวนครเจนีวา ตอนที่ 4, บทที่ 8 ชื่อบทว่า “ศาสนาพลเมือง” (De la religion civile) รุสโซแบ่งศาสนาออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ ศาสนาของมนุษย์, ศาสนาของพลเมือง และศาสนาของพระ (la region de l”homme et celle du citoyen & la religion du pr?tre)

เขาขยายความ “ศาสนาพลเมือง” ว่า :

“ดังนั้น จึงมีคำประกาศศรัทธาของพลเมือง ซึ่งรัฏฐาธิปัตย์เป็นผู้กำหนดมาตราต่างๆ ไม่เชิงเป็นคำสอนทางศาสนาเสียทีเดียว แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกของสังคม ซึ่งถ้าไม่มีแล้วก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นพลเมืองที่ดีหรือเป็นคนในบังคับที่ซื่อสัตย์ แม้จะไม่สามารถบังคับให้ทุกคนเชื่อได้ แต่สามารถเนรเทศผู้ที่ไม่เชื่อมันออกจากรัฐได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเขาผู้นั้นขาดศรัทธา แต่เป็นเพราะเขาขัดต่อหลักทางสังคม เพราะเขาไม่สามารถชมชอบกฎหมายและความยุติธรรมอย่างจริงใจ ไม่สามารถสละชีวิตเพื่อทำหน้าที่เมื่อถึงคราวจำเป็น และถ้าใครก็ตาม หลังจากได้ยอมรับหลักการทางสังคมนี้แล้วแต่กลับประพฤติตนเหมือนไม่เชื่อ ก็ขอให้เขาถูกลงโทษประหารชีวิต เพราะเขาทำอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด นั่นคือพูดเท็จต่อหน้ากฎหมาย

“หลักคำสอนทางศาสนาต้องง่าย มีน้อย แสดงไว้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องมีคำอธิบายหรือความเห็น การดำรงอยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทรงอำนาจ ทรงปัญญา ทรงคุณงามความดี ทรงเห็นการณ์ไกล และทรงดูแลสรรพสิ่ง ชีวิตที่จะมาถึง ความสุขของคนดี การลงทัณฑ์ต่อคนเลว ความศักดิ์สิทธิ์ของสัญญาประชาคมและกฎหมาย นี่คือหลักคำสอนในด้านบวก ส่วนคำสอนในแง่ลบนั้น ข้าพเจ้าขอจำกัดไว้เพียงประการเดียว ก็คือความไม่ยอมรับความต่างทางความเชื่อหรือศาสนา มันเป็นส่วนหนึ่งในความเชื่อที่คับแคบซึ่งเราได้ปฏิเสธแล้ว” (วิภาดา กิตติโกวิท แปล, น.230-231)

ผมเห็นว่าโดยแก่นแท้แล้ว “ศาสนาพลเมือง” (civil religion) ของรุสโซนี้แหละคือชาตินิยมที่เน้นเพ่งเล็งเข้ามาที่การประพฤติปฏิบัติตัวของคนภายในชาติ (ในทำนองเดียวกับ “หน้าที่พลเมือง”, “เอกลักษณ์แห่งชาติ” หรือ “ความเป็นไทย” นั่นเอง) และเป็นฐานที่มาแห่งแนวคิด civil religion ของ Robert N. Bellah ซึ่งบันดาลใจโครงการวิจัยเรื่องธรรมวิทยาแห่งพลเมืองของ ศาสตราจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ และคณะ ซึ่งทยอยตีพิมพ์ออกมาใน พ.ศ.2555 เช่นงานเรื่อง บทวิพากษ์ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองของประกาศกร่วมสมัย : เกษียร เตชะพีระ, ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ของศุภมิตร ปิติพัฒน์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นต้น

ประเด็นสำคัญที่ผมใคร่นำเสนอในหัวข้อนี้ก็คือ ปัจเจกบุคคลที่จะรักชาติแบบชาตินิยมดังที่ อ.นิธิกล่าวถึงได้ น่าจะเป็นปัจเจกบุคคลแบบประชาธิปไตย (individual ? la democracy) หาใช่ปัจเจกบุคคลแบบเสรีนิยม (individual ? la liberalism) ไม่

บุคลิกลักษณะที่แตกต่างของปัจเจกบุคคล 2 แบบนี้ได้ถูกประมวลนำเสนอไว้ในงานของนอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ (ค.ศ.1909-2004) นักปรัชญาการเมืองแนวสังคมนิยมเสรีชาวอิตาลีเรื่องเสรีนิยมกับประชาธิปไตย, บทที่ 9 ปัจเจกนิยมกับอินทรียนิยม หน้า 54-60

บ๊อบบิโอยังชี้ให้เห็นต่อมาว่าในประวัติศาสตร์กู้ชาติอิตาลี มันสะท้อนออกในความแตกต่างระหว่างแนวคิดเสรีนิยมแบบประโยชน์นิยมของคามิลโล เบนโซ เคานต์แห่งคาวัวร์ (ค.ศ.1810-1868 นายกรัฐมนตรีคนแรกของราชอาณาจักรเอกภาพอิตาลี) กับแนวคิดชาตินิยมแบบประชานิยม-ประชาธิปไตยที่ปฏิวัติของจิอูเซ็ปเป มาสซินี (ค.ศ.1805-1872 หัวหอกขบวนการกู้ชาติอิตาลีเป็นเอกภาพ)

(บ๊อบบิโอ, เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี)

ส่วนในบริบทไทยร่วมสมัย ผมคิดว่ามันสะท้อนออกในความแตกต่างระหว่างการสาธกบุคลิกปัจเจกบุคคลแบบเสรีนิยมของอาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา กับปัจเจกบุคคลพลเมืองประชาธิปไตยของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ดังข้อความด้านล่างนี้ :

“คุณอย่าคิดอะไรมาก ประเทศนี้ไม่ใช่ของคุณ อยู่ๆ ไปเถอะ คิดซะว่าเช่าเค้า ทำงานหาเงิน ใช้ชีวิตให้มันมีความสุขไป สิ้นเดือนรับตังค์ แดกข้าว อยากไปเที่ยวไหนก็ไป ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก อยู่ ๆ ไปเหอะ” (คำพูดของธเนศเกี่ยวกับการเมืองไทย อ้างจากข้อความในโพสต์ Facebook ของ ศาสดา ธนาบริรักษ์, October 20, 2014)

ในทางกลับกัน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวถึงปัจเจกบุคคลพลเมืองแบบประชาธิปไตยและความสัมพันธ์ระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยไว้ในปาฐกถา “เจตนารมณ์ 14 ตุลาฯ” ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ 2516 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2556 ว่า :

“สุดท้ายนี้ ผมขออนุญาตยืนยันซ้ำว่าปรัชญาประชาธิปไตยนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่เห็นว่าสมาชิกของสังคมทุกผู้ทุกนามล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงมีเจตนารมณ์ที่มุ่งคัดค้านการเอารัดเอาเปรียบ การครอบงำทางความคิด และการกดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบ เพื่อให้อุดมคติแห่งความเสมอภาคปรากฏเป็นจริง

“อย่างไรก็ตาม แค่ต่อต้านการกดขี่อย่างเดียวยังไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอสำหรับการสร้างระบอบประชาธิปไตย

“เพราะฉะนั้น ปรัชญาเดียวกันนี้จึงส่งเสริมให้ ประชาชนในฐานะรวมหมู่เป็นเจ้าของอำนาจในการปกครองตนเอง ขณะที่ประชาชนในฐานะปัจเจกมีสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตและการแสดงออกทางการเมือง

“กล่าวโดยสรุปรวมความคือ ประชาธิปไตยเป็นแนวคิดที่ทั้งปลดปล่อยและรวมพลังไปพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้จุดหมายและวิธีการของประชาธิปไตยจึงแยกออกจากกันไม่ได้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวจึงจะเข้าถึงจุดหมายของเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม สังคมประชาธิปไตยไม่ใช่สังคมตัวใครตัวมัน หากเป็นสังคมที่อิสรภาพของบุคคลถูกนำมาเชื่อมร้อยด้วยพันธกิจที่มีต่อส่วนรวม”

และอีกตอนหนึ่งว่า :

“ถ้าเรายอมรับว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นงานสร้างระบอบ และการขยายพลังประชาธิปไตยหมายถึงการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่า เราก็คงต้องยอมรับว่าบรรยากาศที่ห้อมล้อมระบอบการเมืองจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากบรรยากาศเสรีนิยม

“อันที่จริงเสรีนิยมกับประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกันในทางปรัชญา แต่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันจึงจะเกิดผลดี

“เสรีภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิดและมีความแตกต่างทางด้านผลประโยชน์ แต่เสรีนิยมอย่างเดียวก็ไม่อาจรวมพลังผู้คนหรือยึดโยงสังคมไว้ได้ กระทั่งหมิ่นเหม่ต่อสภาวะแตกกระจายตัวใครตัวมัน

“ส่วนประชาธิปไตยนั้นมีจุดแข็งอยู่ที่กระบวนการสร้างฉันทามติและการรวมพลังของคนจำนวนมากเพื่อบรรลุเป้าหมายของส่วนรวม แต่ก็มีจุดอ่อนอยู่ที่ความแข็งกระด้างในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนส่วนใหญ่กับปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มประชาชนที่เป็นเสียงข้างน้อย กระทั่งบางครั้งอาจจะลื่นไถลไปถึงขั้นลิดรอนสิทธิ์หรือล่วงเกินประชาชนได้

“ด้วยเหตุดังนี้ วิวัฒนาการของประชาธิปไตยในโลกที่เจริญแล้วจึงดำเนินควบคู่มากับลัทธิเสรีนิยมทางการเมืองมาโดยตลอด และในเรื่องนี้ ผมคิดว่าประเทศไทยก็คงต้องเดินหนทางเดียวกัน”

ผมเข้าใจว่าปัจเจกบุคคลที่จะรักชาติแบบชาตินิยมดังที่อาจารย์นิธิกล่าวถึงได้ น่าจะมีบุคลิกทางการเมืองเป็นปัจเจกบุคคลแบบประชาธิปไตยอย่างที่อาจารย์เสกสรรค์บรรยาย มากกว่าเป็นปัจเจกบุคคลแบบเสรีนิยมอย่างที่อาจารย์ธเนศสาธก หรือนัยหนึ่งเป็นพลเมืองชาวอิตาลีในอุดมคติของมาสซินี มากกว่าเป็นพลเมืองชาวอิตาลีในความเข้าใจของคาวัวร์นั่นเอง

ดังแผนภูมิที่ผมทำขึ้นเพื่อประมวลข้อสรุปของบ๊อบบิโอเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างปัจเจกบุคคลสองแบบ ดังนี้ : (ดูแผนภูมิ)

(ต่อสัปดาห์หน้า)