“ไอแบงก์” เฝ้าระวังหนี้ 1 หมื่นล้าน | ดันกุ้งมังกรสัตว์ ศก.หวังอัพราคา | กรมรางเปิดทางเอกชนเดิน รฟ.

แฟ้มข่าว

บิ๊กเอกชนลงขันผุดอินโนสเปซ

นายกอบชัย สังสิทธิ์สวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐ-เอกชน สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษา รวม 30 องค์กร อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น ร่วมจัดตั้งบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและสตาร์ตอัพของอาเซียน เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ตอัพ) โดยขณะนี้มีบริษัทเอกชนสนใจระดมทุนจัดตั้งบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด เบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 640 ล้านบาท สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 500 ล้านบาท ซึ่งอินโนสเปซไทยแลนด์จะขับเคลื่อนโดยเอกชน ในการสร้างสตาร์ตอัพของไทย เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่รูปแบบเดียวกับต่างประเทศ ส่วน กสอ.จะช่วยในขั้นตอนต้นน้ำ กลางน้ำ และเอกชน ดำเนินการขั้นปลายน้ำ เบื้องต้นแต่ละบริษัทจะคัดเลือกสตาร์ตอัพ 50 ราย ภายในปี 2562 ก่อนนำเสนอแผนธุรกิจที่งานฮ่องกงไซเบอร์พอร์ตเดือนพฤศจิกายนนี้

ดันกุ้งมังกรสัตว์ ศก.หวังอัพราคา

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ภายในปี 2562 กรมจะจัดตั้งธนาคารกุ้งมังกรเจ็ดสีที่บ้านท่าฉัตรไชยและบ้านป่าหล่าย จ.ภูเก็ต เพื่อสร้างเป็นแหล่งกระจายลูกพันธุ์กุ้งมังกรไปสู่ธรรมชาติ โดยกุ้งมังกรเจ็ดสีเป็นที่นิยมบริโภคของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก แม้จะมีราคาสูงถึง 3,500-3,800 บาท/กิโลกรัม จึงอยากผลักดันให้กุ้งมังกรเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศ จากก่อนหน้านี้ที่ได้จัดตั้งธนาคารปูม้าบ้านท่าฉัตรไชย บ้านปากบาง บ้านแหลมทราย และบ้านบางโรง จ.ภูเก็ต โดยสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ตได้วางแผนจัดทำเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์กุ้งมังกรควบคู่ด้วยที่บริเวณเกาะทะนาน อ.เมือง และเกาะงำ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต มีการมอบพันธุ์กุ้งมังกร 1 แสนตัวให้ชาวประมงพื้นบ้านชุมชนบ้านป่าหล่ายนำไปปล่อยลงในแหล่งอนุรักษ์พันธุ์กุ้งมังกรเพื่อเพิ่มจำนวนกุ้ง เป็นการสร้างรายได้ให้ชาวประมงให้เพียงพอต่อการนำมาเลี้ยงต่อในกระชังป้อนตลาดได้ต่อเนื่อง รวมถึงอนุรักษ์กุ้งมังกรในธรรมชาติ

กรมรางเปิดทางเอกชนเดิน รฟ.

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า กรมรางกำลังเร่งร่างกฎหมายลูก เพื่อบังคับใช้ภายหลังพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กรมการขนส่งทางรางประกาศใช้ คาดว่าไม่เกินปี 2562 โดยกฎหมายลูกจะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีประมาณ 40-50 ฉบับ อาทิ รายละเอียดกฎระเบียบของการสอบใบขับขี่รถไฟ กฎระเบียบของการเก็บค่าใช้บริการรางรถไฟ โดยบทบาทของกรมการขนส่งทางรางจะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล มีกฎหมายเอาผิดผู้ประกอบการ ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมระบบรางทั้งหมด เพื่อให้บริการระบบรางของไทยมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ กรมมีแนวคิดจะนำเส้นทางรถไฟที่รัฐเป็นเจ้าของมาเปิดให้เอกชนเดินรถมากขึ้น อาทิ รถไฟทางคู่ของ ร.ฟ.ท.ในบางเส้นทาง เมื่อพัฒนาเป็นรถไฟทางคู่แล้วเพิ่มขีดความสามารถรองรับการเดินรถได้ถึง 4 ทาง จากปัจจุบันมี 2 ทาง หากในอนาคต ร.ฟ.ท.ไม่สามารถหาหัวรถจักรมาให้บริการได้ทัน หรือมองว่ารถไฟทางคู่เส้นทางใดมีความต้องการของประชาชนน้อย แต่มีประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้า ก็อาจจะเปิดให้เอกชนเข้ามาเดินรถด้วยตนเอง เพื่อใช้ระบบรถไฟทางคู่อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ดันต่างชาติทำประกัน 100 บ.ต่อหัว

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดเก็บเงินค่าประกันภัยและประกันชีวิตจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง 2562 มีผลบังคับใช้วันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือกับผู้ประกอบการ หาอัตราจัดเก็บเงินเพิ่มจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะไม่เกิน 100 บาทต่อคน ชัดเจนภายในปลายเดือนมิถุนายนนี้ เนื่องจากเป็นตัวเลขที่เพียงพอและไม่สูงมากนัก โดยจะเปิดให้ภาคเอกชนดูแลร่วมกับภาครัฐ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากเรื่องนี้โดยตรง ส่วนหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดการบริหารเงินส่วนนี้ ตามกฎหมายและจุดประสงค์คือนำเงินส่วนนี้มาจ่ายเป็นค่าประกันภัยและประกันชีวิตให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แทนที่รัฐบาลต้องแบกภาระปีละกว่า 300 ล้านบาทต่อปี

แนะไทยจดสิทธิบัตรพลังงานฯ

น.ส.วันเพ็ญ นิโครวนจำรัส รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า กรมเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานทดแทนจากพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งอยู่ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (นิว เอส-เคิร์ฟ) โดยเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในรูปของพลังงานไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็น 30% ของการพลังงานทดแทน 18% โดยกระตุ้นให้คนไทยหันมาพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องด้านการใช้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพราะจากสถิติการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรด้านพลังงานทดแทนในไทยปี 2551-2561 มี 996 ฉบับ หรือคิดเป็น 1.6% จากคำขอรับสิทธิบัตรทั่วโลกรวม 59,903 ฉบับ และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในไทยแบ่งเป็นคำขอคนไทย 440 ฉบับ และต่างชาติ 520 ฉบับ

“ไอแบงก์” เฝ้าระวังหนี้ 1 หมื่นล้าน

นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กรรมการและผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า ไอแบงก์อยู่ระหว่างเฝ้าระวังหนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท มีโอกาสตกชั้นเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีเอฟ) จากหนี้คงค้าง 5.2 หมื่นล้านบาท พบว่าล่าสุดมีหนี้เสียเคยแก้ไขไปแล้วกลับมาเป็นหนี้เสียใหม่อีกกว่า 1 พันล้านบาท ส่งผลให้หนี้เสียขณะนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20% หรือ 1 หมื่นล้านบาท จากปลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 17% หรือประมาณ 9 พันล้านบาท คาดปลายปีนี้หนี้เสียอยู่ระดับ 9 พันล้านบาท โดยหนี้เสียเคยปรับโครงสร้างหนี้เป็นหนี้ดีกลับมามีปัญหาเป็นหนี้เสียอีกครั้ง เป็นรายใหญ่ 2 ราย วงเงิน 1 พันล้านบาท อยู่ในธุรกิจโรงแรม โดยการแก้หนี้เสียไอแบงก์ แบ่งการทำงานเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่เป็นหนี้เสียอยู่แล้ว คาดว่าปี 2562 จะแก้ได้ 1 พันล้านบาท และกลุ่มสีเทามีอยู่ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าปี 2562 จะตกชั้นเป็นหนี้เสียประมาณ 1 พันล้านบาท

คาดทั้งปีนี้หนี้เสียยังคงมีสัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ตั้งเป้า 3-4 ปีข้างหน้าจะแก้หนี้เสียให้เหลือ 5%