7 พรรคฝ่ายค้านจัดทัพ ชำแหละบิ๊กตู่-250 ส.ว. จับตาปม ส.ส.ถือหุ้นสื่อ อนค.ยืมหอก สนองคืน?

เลือกตั้ง 24 มีนาคม ผ่านไป 3 เดือนเต็ม

รัฐบาลผสม 19 พรรคการเมือง 254 เสียง ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ซึ่งได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ยังไม่สามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศได้

ต่างกับ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน 246 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนไทย ที่มีความพร้อมมากกว่า เนื่องจากไม่มีอำนาจและผลประโยชน์ให้ต้องเสียเวลาแก่งแย่ง

7 พรรคพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยแสดงความคึกคักเข้มแข็ง มีเอกภาพ กำหนดทิศทางทำงานในฐานะฝ่ายค้านอย่างเป็นระบบ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.ปี 2560 ถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายใหญ่ จากนั้นเรียงไล่ลงไปถึงการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลในสภาอย่างเข้มข้น ชัดเจน และมีน้ำหนัก ผ่านการอภิปรายที่มีเหตุผล

ยืนยันไม่ผลักการเมืองลงสู่ท้องถนน แต่จะประสานเชื่อมโยงการเมืองในสภากับนอกสภา เชื่อมโยงการทำงานระหว่าง ส.ส.กับประชาชน

ฝ่ายค้านติดเครื่องออกจากจุดสตาร์ตเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพเชิญพรรคร่วม 6 พรรค พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จัดระบบ กำหนดทิศทางการทำงานในสภาร่วมกัน

ขณะที่มีรายงานข่าวพรรคเพื่อไทยเตรียมปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อรองรับการทำหน้าที่ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภาผู้แทนราษฎร

พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. จะเซ็นใบลาออกจากหัวหน้าพรรคไม่เกินวันที่ 24 มิถุนายน เปิดทางให้มีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภา

จากนั้นสัปดาห์ถัดไปจะประชุมใหญ่วิสามัญ เลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ตั้งกรรมการบริหารพรรคเต็มอัตรา 29 ตำแหน่ง ตั้งรองหัวหน้าพรรคจาก ส.ส.ทุกภาคขึ้นมาดูแลการทำงานรอบด้าน

ดึงคนรุ่นใหม่ของพรรคและที่เคยเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กลับเข้ามาทำงาน

สำหรับหัวหน้าพรรคคนใหม่วางตัวนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ มาทำหน้าที่แทน พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ซึ่งจะไปเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นั่งตำแหน่งประธานพรรค

 

“7พรรคฝ่ายประชาธิปไตยขอย้ำจุดยืนทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว

ตรวจสอบรัฐบาลเข้มข้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ/ประชาชน ผลักดันให้ประชาธิปไตยกลับมาลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง แก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาคือวาระหลักที่ต้องทำให้สำเร็จ

#ประชาชนต้องมาก่อน #ประชาธิปไตยต้องเต็มใบ” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กล่าวผ่านข้อความทางเฟซบุ๊กหลังการประชุมร่วม 7 พรรคเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน

ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน ที่ประชุมฝ่ายค้าน 7 พรรคก็มีมติตั้งคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน

ประกอบด้วย ส.ส.ตัวแทน 7 พรรค ประมาณ 30 คน ส่วนประธานวิปฝ่ายค้าน รอตั้งภายหลังรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” คาดว่า น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย จะมาทำหน้าที่นี้

นอกจากนี้ยังตั้งคณะทำงานขึ้นอีก 1 ชุด คือ “คณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” มีตัวแทนพรรคละ 2 คนเข้าร่วม รวมเป็น 14 คน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นประธาน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นเลขานุการ

มีหน้าที่ลงไปประสานกับภาคประชาชน นักวิชาการและส่วนต่างๆ ในประเด็นสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ส.ส.และ ส.ว. รวมถึงสถานการณ์การเลือกตั้งท้องถิ่นที่คาดว่าอาจจะมีขึ้นภายในปีนี้

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ 7 พรรคฝ่ายค้านประชุมร่วมกันทุกสัปดาห์ เพื่อกระชับการทำงาน และแสดงความเป็นเอกภาพ โดยใช้วิธีแต่ละพรรคสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุม

ไม่ต้องเสียเวลาไหว้ครู รุ่งขึ้นวันที่ 18 มิถุนายน วิปฝ่ายค้านก็ประชุมเดินเครื่องทำงานทันที วาระแต่งตั้งตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อยกร่างข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา และกำหนดกรอบการทำงานร่วมกันในสภา

โดยให้แต่ละพรรคส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะทำงานของฝ่ายค้าน นัดหมายประชุมกันทุกสัปดาห์เพื่อวางตัวผู้อภิปราย เสนอกระทู้สดและเสนอญัตติด่วนเข้าสู่ที่ประชุมสภา

ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านยังหยิบยกประเด็นการยื่นญัตติด่วนต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ขึ้นมาหารือ

รวมถึงการหารือแนวทางอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่เตรียมแถลงต่อรัฐสภา ควบคู่ไปกับการอภิปรายคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเห็นว่าคุณสมบัติไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จากนั้นวันที่ 19 มิถุนายน พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 7 ได้ร่วมกันแถลงการยื่นญัตติด่วนเข้าสภา ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ตรวจสอบการได้มาซึ่ง ส.ว. 250 คน

โดยประเด็นที่ฝ่ายค้านต้องการให้ตรวจสอบคือ การคัดเลือก ส.ว. มีคณะกรรมการสรรหาหรือไม่ แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีจะออกมาเปิดเผยรายชื่อ แต่ก็เป็นการเปิดเผยอย่างไม่เป็นทางการ

คณะกรรมการสรรหา ส.ว. มีระเบียบและวิธีการสรรหาอย่างไร เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนและประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ

มี ส.ว.หลายคนเป็นเครือญาติและพวกพ้องของผู้มีอำนาจ เป็นการได้มาโดยชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ เนื่องจากมีกรรมการสรรหาจำนวนถึง 6 คนจาก 10 คน ได้รับการสรรหาเป็น ส.ว. และอีก 4 คนมีชื่ออยู่ในโผรัฐมนตรี

งบประมาณจำนวน 1,300 ล้านบาทที่ใช้ในการคัดเลือก ส.ว. ถูกนำไปใช้ตามระเบียบวิธีการใช้งบประมาณหรือไม่

 

ก่อนหน้านี้ นายสุทิน คลังแสง วิปจากพรรคเพื่อไทย ระบุถึงการเสนอญัตติด่วนต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเห็นว่ากระบวนการสรรหา ส.ว.มีข้อพิรุธ โดยเฉพาะการไม่ปรากฏคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ในราชกิจจานุเบกษา

จนสังคมตั้งข้อสงสัยถึงกระบวนการสรรหาและรายชื่อ ส.ว.ที่ออกมาว่ามีปัญหาขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่

ซึ่งหากพบว่ากระบวนการสรรหา ส.ว.ทั้ง 250 คนมีปัญหาก็จะส่งผลให้การเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา มีปัญหาไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

7 พรรคพันธมิตรยังเตรียมยื่นคำร้องผ่านไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ทำให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้จำนวน ส.ส.ลดลง แล้วไปเพิ่มให้กับ 10 พรรคเล็กฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจพรรคละ 1 ที่นั่ง

ฝ่ายค้านยังติดตามความคืบหน้าคำร้องตรวจสอบคุณสมบัติ 41 ส.ส.พรรครัฐบาลกรณีถือหุ้นสื่อ ตามที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นคำร้องผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน

อย่างไรก็ตาม ในกรณี 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ไม่น่าจะสร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลใหม่มากนัก หากว่าไม่มีการนำ 41 ส.ส.ไปเทียบเคียงกับกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้พิจารณา และสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

รวมถึงกรณีนายภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ ก่อนหน้านี้ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งตัดสิทธิ์การเป็นผู้สมัคร ส.ส. เนื่องจากมีหุ้นบริษัทที่ในใบบริคณห์สนธิระบุประกอบกิจการสื่อ แม้ความจริงในทางปฏิบัติจะประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง

ทั้งนี้ ถ้ากรณี 41 ส.ส. ศาลดำเนินไปตามมาตรฐานเดียวกับกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายภูเบศวร์ เห็นหลอด แน่นอนว่าด้านหนึ่งย่อมส่งผลกระทบร้ายแรงต่อรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีเสียง ส.ส.ในสภาล่างเกินฝ่ายค้านมาแค่ 8 เสียง

อีกด้านหนึ่ง ก็ได้สะท้อนประสิทธิภาพของฝ่ายค้านในการใช้ยุทธวิธี “ยืมหอกสนองคืนผู้ใช้”

รัฐบาลจะหลบเลี่ยงปลายหอกที่กระหน่ำแทงมานี้อย่างไร

น่าติดตามศึกษาเป็นอย่างยิ่ง